การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เดินทางมาถึงขั้นตอนสุดท้าย
นั่นคือ การลงมติในวาระที่ 3 อันจะเป็นการตัดสินว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
การลงมติด้วยการขานชื่อ จะมีขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย. โดยทอดเวลา 15 วัน หลังจากพิจารณาวาระ 2 เสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ที่มีอยู่
หลังจากขั้นตอนของการนำขึ้นกราบบังคมทูล กระบวนการจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ "ส.ส.ร." ก็จะเกิดขึ้นจะเป็น "ส.ส.ร." ชุดประวัติศาสตร์ เพราะจำนวน 77 คน จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดต่างๆ
ความเป็นอิสระของ ส.ส.ร. ชุดนี้เอง ที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับกลุ่มอำนาจและพรรคการเมือง ที่เคยชินกับรัฐธรรมนูญที่ออกแบบพิเศษสำหรับกลุ่มอำนาจ
อย่างไรก็ตาม อีกด่านที่ตั้งตระหง่านรอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้อยู่ คือ การที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ย้อนกลับไปที่การพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งใช้เวลาถึง 15 วัน ก่อนยุติเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา
การใช้เวลาถึง 15 วัน โดยถ่ายทอดสดไปยังประชาชนทั่วประเทศ ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำอีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย
เป็นผลของเกมยื้อ ที่ใช้กลยุทธ์ให้ ส.ส. สงวนคำแปรญัตติเอาไว้ เพื่อใช้สิทธิอภิปรายและขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง
ผลคือ การอภิปรายแบบน้ำท่วมทุ่ง การใช้เวลาอภิปรายตามใจชอบ ประเด็นของการอภิปราย
ย่ำอยู่ที่ข้อกล่าวหาว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ย่ำอยู่กับวาทกรรมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรไปเร่งแก้ปัญหา "แพงทั้งแผ่นดิน" มากกว่า
ทั้งภาษาและการทุ่มเทเวลา สะท้อนให้เห็นความจริงจังในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพร้อมกัน
มองผ่านทะลุความจริงจังนี้ไป อาจจะนึกถึงบทความของ "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ทนายความชาวอเมริกันของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นบทความชื่อ "พรรคประชาธิปัตย์ทำเพื่อนายมาร์คคนเดียว"
อัมสเตอร์ดัม ตั้งคำถามถึงบทบาทของพรรคเก่าแก่ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 และหลังรัฐประหาร 2549 ผ่านเหตุการณ์สลายม็อบ 98 ศพ เมื่อปี 2553 จนกระทั่งแพ้เลือกตั้งเมื่อปี 2554
ก่อนจะถามซ้ำว่า พวกเขาพร้อมที่จะทำอะไรต่อไปอีกเพื่อช่วยเหลือบุรุษที่พวกเขาเชื่อว่าเกิดมาเพื่อปกครองประเทศไทย ต้องยกเครดิตให้กับ นายวีระ หรือวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ผู้ประดิษฐ์คำว่า "วาระ 4" ขึ้นมา
นายวีระเป็นนักโต้วาทีฝีปากกล้าจากธรรมศาสตร์ อดีต ส.ส.พัทลุง อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.
นายวีระขึ้นเวทีรำลึก 2 ปี พฤษภาฯเลือด ที่ราชประสงค์ เมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา กล่าวถึงความพยายามทำให้เกิด "วาระ 4 " ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อรักษารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไว้ ผู้ได้ประโยชน์คือบางพรรคที่ฝันอยากกลับมาเป็นรัฐบาลอีก
รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระทำเป็น 3 วาระด้วยกัน คือวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3
การยืดการยื้อ จนต้องมี "วาระ 4" จึงเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ที่มาที่ไปของ "วาระ 4" กลับมองเห็นได้อย่างเด่นชัดอย่างยิ่ง