รัฐสภานัดโหวตร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.
ตามปฏิทินที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ ตั้งเป้าจะให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปีหน้า หรือราวเดือน มิ.ย. 2556
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยกระบวนการจัดทำร่างแก้ไขขัดกฎหมายใน 5 ประเด็น
1. เป็นการจัดทำร่างที่ขัดต่อมาตรา 291 ที่กำหนดเพียงให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มองว่าการยกร่างใหม่เท่ากับฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550
2. ประชาชนมอบอำนาจให้ ส.ส. และ ส.ว. ดำเนินการจัดทำกฎหมาย แต่กลับจะตั้ง ส.ส.ร. ไป ยกร่างรัฐธรรมนูญ
3. นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาใช้โดยอนุโลม ทั้งที่ต้องใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ร. โดยเฉพาะ
4. ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ที่กำหนดว่าต้องเปิดให้ประชาชนทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระไม่น้อยกว่า 90 วัน
5. เมื่อ ส.ส.ร. จัดทำร่างแก้ไขเสร็จให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบว่ากระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขหรือไม่ แทนที่จะส่งให้รัฐสภา
ประเด็นข้างต้นสุ่มเสี่ยง ล่อแหลม ตามมุมมองของฝ่ายค้านจริงหรือไม่
นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าที่ฝ่ายค้านระบุร่างนี้ขัดมาตรา 291 นั้น ปกติแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ และเคยทำมาแล้ว
ในต่างประเทศก็ทำในลักษณะนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะหมายความว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะอยู่ยืนยงไปจนตายหรือไม่ ถ้าจะมีการร่างใหม่ก็ต้องรอการรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่
ผมมองว่า มาตรา 291 เดิมที่บัญญัติว่าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในบางมาตรา แต่หากรัฐสภาต้องการจะแก้ไขทั้งฉบับก็แก้ในหมวดของการแก้ไขให้สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้
ส่วนประเด็นที่บอกว่าไปให้อำนาจ ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็น ส.ส. และ ส.ว. ประเด็นนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะสุดท้ายการตัดสินใจจะอยู่ที่ประชาชนในการทำประชามติอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่สุดท้ายประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเห็นชอบ ย่อมสูงกว่า ส.ส. และ ส.ว. อยู่แล้ว ประชาชนจึงเป็นผู้ตัดสินเอง
ในประเด็นเวลาของการทำประชามติ ผมมองว่าไม่ใช่ปัญหา ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความต้องการของคนเขียนกฎหมาย กฎหมายหลายฉบับที่ออกวันนี้ประกาศให้ใช้ในวันพรุ่งนี้เลยก็มี ให้มีผลใช้บังคับภายใน 90 วันก็มี หรือให้มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันก็มี อยู่ที่ความต้องการของคนเขียนกฎหมาย
การทำประชามติก็มีหลักเช่นเดียวกัน ถ้าคนเขียนกฎหมายต้องการให้เร็วก็กำหนดเร็ว ไม่มีอะไรตายตัว
ถ้าเขียนในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดว่าให้นำ พ.ร.บ.ประชามติ มาใช้โดยอนุโลมก็คือ การนำรูปแบบของการทำประชามติมาใช้เท่านั้น แต่ไม่ได้นำเรื่องระยะเวลามาใช้
สำหรับกรณีการนำ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาใช้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ในความเห็นผม ถ้าจะให้ดีที่สุดน่า จะต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมา หรือให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะเป็นการเลือกตั้งคนละประเภทกัน รัฐบาลอาจต้องการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงใช้วิธีนี้
ปัญหาคือถ้านำ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาใช้โดยอนุโลมแล้ว เกิดมีการขัดกันของกฎหมายจะทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเดียวกันนี้ นายตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นต่าง
ผมว่าเป็นอำนาจของ กกต. ที่จะวางแนวทาง หากใช้กฎหมายนี้แล้วจะจัดการเลือกตั้งอย่างไร พ.ร.บ. ให้อำนาจ กกต. ดำเนินการอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และส่วนตัวเห็นว่าดีกว่าการใช้พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
นายตระกูลยังเห็นว่า ใน 5 ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะส่งวินิจฉัย มี 2 ประเด็นที่ต้องติดตาม
5 ประเด็น ไม่ใช่ว่าจะได้รับการตีความทุกประเด็น แต่ที่น่าสนใจคือกรณียื่นให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขทั้งฉบับขัดมาตรา 291 หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญหากถูกแก้ง่ายๆ ความเป็นกฎหมายสูงสุดก็จะหายไป
การปฏิรูปกฎหมายโดยยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เคยเกิดขึ้นในปี 2489 สมัยนายปรีดี พนมยงค์ โดยรัฐสภาเป็นผู้ยกร่าง ต่อมาปี 2538-2539 มีการเสนอแก้ไขมาตรา 211 เพราะเกิดกระแสแนวปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ
นายอมร จันทรสมบูรณ์ จึงเสนอแก้รัฐธรรมนูญปี 2534 โดยแก้ไขมาตรา 211 จัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ขณะนั้นไม่มีบทบัญญัติที่ห้ามการแก้ไขทั้งฉบับ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ก็ไม่ได้พูดถึงการแก้ทีละมาตรา
ในข้อนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะเป็นเรื่องดีเพราะจะเป็นบรรทัดฐานต่อไป และนักกฎหมายมหาชนหลายๆ คนก็รอดูอยู่ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ หรือแก้ได้เพียงมาตราเดียว มองได้ 2 ทาง ขึ้นอยู่กับการตีความ จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้ว่าทำได้หรือไม่ได้ และการวินิจฉัยอย่างไรต้องอธิบายในเชิงของหลักวิชาการ
อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือการให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญหลัง ส.ส.ร. ร่างเสร็จ ซึ่งหลักการใช้อำนาจโดยคนคนเดียว ในเชิงรัฐศาสตร์ไม่ควรทำ
สมัยมี ส.ส.ร. 1 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ส่งให้สภาเห็นชอบ รับหรือไม่รับก็แล้วแต่ แต่ไม่มีสิทธิแก้ไข ถ้ายึดตามนี้รับร่างแล้วส่งไปทำประชามติน่าจะสวยกว่า
ประธานรัฐสภาไม่ควรเป็นหนังหน้าไฟไปรับผิดชอบและตัดสินใจ ผมว่าสุ่มสี่ยงและโดยหลักการไม่ควรทำ ในเชิงการเมืองรัฐบาลก็มีเสียงข้างมากอยู่แล้วจึงควรส่งสภาเหมือนสมัย ส.ส.ร. 1
ส่วนข้อแย้งของฝ่ายค้านที่เห็นว่าการยกร่างประชาชนมอบอำนาจให้ ส.ส. และ ส.ว. จัดทำ แต่กลับให้ ส.ส.ร. ดำเนินการนั้น เหตุผลทางรัฐศาสตร์ถือว่าประเด็นนี้อ่อนและแคบไป
เช่นเดียวกับ กรณีฝ่ายค้านเห็นว่าให้เวลาประชาชนในการทำความเข้าใจน้อยกว่า 90 วัน ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประชามติปี 2552 ผมมองว่ารัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ. หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาอย่างนั้นก็ต้องมาแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้อง
หากส่งศาลประเด็นนี้ก็น่าจะให้แก้กฎหมายลูกเช่นกัน