โดย ก่อแก้ว พิกุลทอง ....

ประเทศไทยกำลังเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศความตื่นตัวในสังคมการศีกษาไทยเกี่ยวกับ AEC ยังมีอยู่น้อยมาก การพยายามทำความเข้าใจถึงผลกระทบของ AEC และการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ยังจำกัดอยู่เฉพาะนักศึกษา นักวิชาการ หรือกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นการเตรียมความพร้อมของไทยในเรื่องการศีกษาในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในภาพกว้างในมุมมองของนักการศีกษาไทย ต้องปรับปรุง หรือเพิ่มพูนความรู้ ในหลายด้านอาทิ
การพัฒนาความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับ AEC
สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมคือ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ AEC โดยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้ข้อมูลและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ AEC ความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการใช้ประโยชน์จาก AEC ผลการวิจัยเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งควรเป็นงานวิจัยที่ลงลึกในรายอุตสาหกรรมหรือรายสินค้าและบริการที่สำคัญ และเผยแพร่ข้อมูลที่ตรงกับความสนใจของคนแต่ละกลุ่ม และปรับรูปแบบข้อมูลในรูปที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยการจัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและการจัดให้มีหลักสูตรการสอนภาษาของประเทศเพื่อนบ้านเป็นต้น
การปรับปรุงศุนย์กลางพัฒนาทุนมนุษย์
การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทุนมนุษย์ AEC เช่น การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพในอาเซียน เนื่องจากไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ มีบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล และข้อตกลง AEC จะทำให้ไทยสามารถดึงบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อขยายการบริการได้มากขึ้น ประเทศไทยยังมีศักยภาพเป็นแหล่งผลิตแรงงานมีทักษะและพัฒนาทักษะแรงงานให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไทยมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาจำนวนมาก มีการเปิดสอนในหลากหลายสาขา และสามารถรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านได้
การเพิ่มพูน ความสามารถด้านภาษาเพื่อนบ้าน
มหาวิทยาลัยของไทย ควรพัฒนาบุคคลากรด้านภาษา ให้รองรับการเคลื่อนย้ายของประชากรในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะไทย ได้เป็นที่ยอมรับว่ามีศักยภาพสูง ด้านการท่องเที่ยวและการบิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางรัฐบาลและมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง ควรเตรียมความพร้อมทั้งด้านหลักสูตรและบุคคลากร ด้านภาษาไว้รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ทางภาคเหนือในอนาคตจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ของชาวจีนเพราะการคมนาคมสะดวกรวดเร็ว ทางภาครัฐ ควรเร่งตั้งคณะอักษรศาสตร์ด้านภาษาจีน เช่นเดียวกับภาคใต้ ติดต่อกับทางมาเลย์ อินโด ควรมีภาควิชา ภาษามลายู และเป็นการป้อนทรัพยากรบุคคลให้ทางภาคการท่องเที่ยวของประเทศ
การสร้างคนให้ได้รับโอกาสจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสร้างได้แค่การบอกกล่าวเล่าให้นิสิตฟังในห้องเรียนจากการสอดแทรกในรายวิชาที่สอนเท่านั้น แต่ควรจะมีวิชาที่ ว่าด้วยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเปิดสอนในทุกระดับการศึกษาซึ่งเนื้อหาควรกล่าวถึงทั้งทางด้านภาษาที่ใช้โดยเน้นให้นิสิตนักศึกษาได้ศึกษาภาษาของประเทศในกลุ่มสมาชิกในระดับที่สามารถใช้สื่อสารได้อย่างน้อยก็ในระดับพื้นฐานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กันไปด้วยเพราะสำหรับประเทศไทยนั้นเมื่อเปรียบเทียบทักษะการใช้ภาษาอังกฤษจากผลการสำรวจล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าศักยภาพและความพร้อมของไทยอยู่ในระดับ ”กลางๆ” เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และตามหลังอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษสูงที่สุด นอกจากการให้ความสำคัญในด้านการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาต่างๆแล้วควรให้ความสำคัญกับการจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเรียน การฝึกงานแก่นิสิตนักศึกษาระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งการมีองค์ความรู้ที่รอบด้านเปรียบได้กับการรู้เขารู้เรา ซึ่ง ณ เวลานี้เขารู้เราแต่เรารู้เขามากแค่ไหน ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเท่าที่ได้สังเกตุและศึกษาพฤติกรรมของนิสิตนักศึกษาชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พม่าและเวียดนาม นิสิตต่างชาติเหล่านี้ล้วนคาดหวังการได้ทำงานในไทยหลังจากเรียนจบ นั่นหมายความว่าตำแหน่งแรงงานในไทยจะถูกแทนที่จากนิสิตต่างชาติเหล่านี้จึงหวังว่าระบบการศึกษาไทยจะเข้มแข็งขึ้น และสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ทัน
ซึ่งตลาดแรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นั้นแรงงานจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจ ซึ่งหมายถึง รู้จักภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน และที่สำคัญคือมีความเข้าใจใน ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ เพราะในสังคมนั้นเราอยู่กันด้วยความรู้ความสามารถอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจเป็นองค์ประกอบด้วย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทั้งหลายเหล่านี้จึงไม่อาจเตรียมกันได้ในชั่วข้ามคืนแต่หากต้องมีการบ่มเพาะปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่ารัฐให้ความสำคัญและพยายามเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราต่างก็เห็นความพยายามที่จะผลักดันและสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรจะตระหนักถึงการเกิด AEC และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเพื่อเปิดรับโอกาสอย่างเต็มที่