สภาเดือด !! "จ่าเสื้อแดง" เรียก "หมาวรงค์" ด้าน กมธ.เสียงข้างน้อยจี้ขยายกรอบการทำงานของ ส.ส.ร.เป็น 360 วัน

มติชน 3 พฤษภาคม 2555 >>>


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 พฤษภาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ในวาระที่ 2 เป็นวันที่ 11 ของการประชุม ต่อจากวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยเริ่มต้นพิจารณามาตรา 291/11 ที่ระบุว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน กำหนดเวลา 240 วันนับแต่วันจากวันประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็น ประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้ การที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือมีการยุบสภา ไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรค หนึ่ง ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทั่วทุก ภูมิภาคด้วย ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้าให้ร่างรัฐ ธรรมนูญเป็นอันตกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตราดังกล่าวได้มีสมาชิกทั้ง ส.ว. และ  ส.ส. ได้สงวนคำแปรญัตติและกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นจำนวนมาก โดยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่เสนอให้แก้ไขการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 360 วัน 
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ร่างของ กมธ.ที่ระบุให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนั้น มองว่าระยะเวลาน้อยเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้น จะมาร่างกันอย่างสุกเอาเผากินไม่ได้และในขณะนี้ประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 ใช้อยู่ ไม่ได้ร่างขึ้นช่วงเวลาที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ขอเสนอให้ขยายระยะเวลาการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร. ออกไปเป็น 1 ปี นอกจากนี้ในส่วนของวรรค 5 ที่ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้นั้น ที่จริงไม่จำเป็นต้องร่างวรรคนี้ไว้ แต่ที่ผ่านมาสังคมเกิดความหวาดระแวง เพราะมีความเคลื่อนไหวในการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงมาก เห็นได้จากเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเกิดขึ้นทุกวัน ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจก็คงจะไม่จำเป็นต้องเขียนวรรคนี้เอาไว้
ทั้งนี้ ระหว่างที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กำลังอภิปรายอยู่นั้น จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่าอภิปรายนอกประเด็น จึงถูก นพ.วรงค์ ตอบโต้ไล่ให้ไปดูปัญหาราคาข้าวที่ จ.สุรินทร์ ทำให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไม่พอใจสวนกลับมาว่า "ที่บ้านผมเรียกคุณหมอวรงค์ว่า คุณหมาวรงค์" ซึ่งประธานได้ขอให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ถอนคำพูด ซึ่ง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ก็ยอมถอนคำพูด แต่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลุกขึ้นประท้วงว่า จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ชอบทำผิดซ้ำซากให้ถอนคำพูดอย่างเดียวคงไม่พอต้องให้ขอโทษต่อ ที่ประชุมสภาด้วย ซึ่ง พล.อ.ธีรเดช ได้ไกล่เกลี่ยว่าไม่จำเป็นเพราะได้ถอนคำพูดไปแล้ว
จากนั้นทั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ได้ตอบโต้กันไปมาเสียเวลาไปประมาณ 30 นาที โดย นพ.วรงค์ อภิปรายว่า "แม้เป็นหมาวรงค์ก็เป็นหมาเฝ้าบ้าน ดีกว่าคนที่คิดว่าเป็นคนแต่ทำตัวเป็นทาส" ในที่สุดประธานได้ตัดบทให้ นพ.วรงค์ อภิปรายมาตรา 291/11 ต่อ