ดีเอสไอจี้ 4 ประเด็น อำนาจขยายสัมปทานบีทีเอส

กรุงเทพธุรกิจ 21 พฤษภาคม 2555 >>>




ดีเอสไอร่อนหนังสือถึง รมว.มหาดไทย ผู้ว่า กทม. บ.กรุงเทพธนาคม สอบถาม 4 ประเด็นอำนาจลงนามขยายสัมปทานบีทีเอส แจง กทม. ส่งกฤษฎีกาตีความไม่ตรงประเด็น

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงความคืบการตรวจสอบกรณีที่พรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องกรณีกรุงเทพมหานคร ลงนามต่อสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และบริษัท กรุงเทพ ธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครว่า ดีเอสไอตรวจสอบเอกสารย้อนหลังพบว่า โครงการรถไฟฟ้าจัดทำขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2535 ให้อำนาจ รมว.มหาดไทย เป็นผู้มีอำนาจลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าธนายง ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เห็นว่าโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้าน เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงนำเรื่องเข้าพิจารณาใน ครม. เพื่ออนุมัติลงนามในสัญญาและตั้งให้ผู้ว่า กทม. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับดูแลกิจการรถไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา รวมถึงการจัดตั้งบริษัทกรุงเทพธนาคมขึ้นบริหารจัดการ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นในข้อกฎหมายว่า เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนเพียงครั้งเดียวหรือไม่ เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทน
นายธาริต กล่าวอีกว่า ล่าสุดดีเอสไอได้ส่งหนังสือถึงรมว.มหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ บีทีเอส และบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ เพื่อสอบถาม 4 ประเด็น ได้แก่
1. อำนาจในการอนุมัติให้สัมปทานกับบีทีเอส เป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่
2. การแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นมีขอบเขตอำนาจอย่างไร
3. ผู้ว่า กทม. สามารถลงนามในสัญญาใหม่ หรือแก้ไขสัญญา หรือขยายอายุสัมปทานเองโดยไม่ขออนุมัติจาก รมว.มหาดไทย เป็นการกระทำโดยชอบหรือไม่ และ
4. การขยายอายุสัญญาสัมปทานโดยกระทำในนามของบริษัทกรุงเทพธนาคม สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก รมว.มหาดไทย หรือไม่
นายธาริต กล่าวอีกว่า หาก รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ ไม่ดำเนินการที่กระทบกับสัมปทานหลักได้ ไม่เช่นนั้นสัญญาจะถือเป็นการทำโดยไร้อำนาจ ทำให้สัญญาไม่สมบูรณ์ แต่ถ้า รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่าไม่ใช่อำนาจของ รมว.มหาดไทย ก็ต้องพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากสัญญามีมูลค่าสูงตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จำเป็นต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามได้กำหนดให้รมว.มหาดไทย ชี้แจงกลับดีเอสไอภายในวันที่ 29 พ.ค. นี้ ส่วนของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯให้ชี้แจงกลับมาภายในวันที่ 23 พ.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม. อ้างว่าได้สอบไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยืนยันว่ามีอำนาจลงนามในสัญญากับบีทีเอส นายธาริต กล่าวว่า จากการตรวจสอบเรื่องที่กฤษฎีกาตีความไม่ตรงกับเรื่องนี้ เป็นการตีความเรื่องกิจการร่วมทุนฯ ประเด็นในเรื่องนี้คือฐานอำนาจในการดำเนินการ โดยคนที่ชี้ได้ดีที่สุดคือเจ้าของอำนาจ นั่นคือรมว.มหาดไทย
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ก่อนหน้ากทม.ก็เซ็นสัญญารถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายไปแล้ว จะถือว่ามีความผิดด้วยหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ดีเอสไอยังไม่ได้ตรวจสอบลึกไปถึงสัญญาอื่น ขณะนี้ตรวจสอบเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายในการเซ็นสัญญาขยายอายุสัมปทานเท่านั้น