2 ทศวรรษ พฤษภาทมิฬ 2 ปี พฤษภาเลือด

มติชน 21 พฤษภาคม 2555 >>>




จากกิจกรรม "35-53: 2 ทศวรรษ พฤษภาทมิฬ 2 ปี พฤษภาเลือด" ซึ่งสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรเครือข่าย ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีการอภิปรายในหัวข้อ "ฐานะทางการเมืองของพฤษภา 2535 และพฤษภาเลือด 2553 กับทางข้างหน้าของขบวนการประชาชนไทย? ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม

ชูวัส ฤกษ์สิริสุข
บรรณาธิการประชาไท

20 ปีที่ผ่านมาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2 ปีที่ผ่านมาของเหตุการณ์พฤษภาเลือด ไม่ว่าจะอย่างไร เราเองควรใช้โอกาสนี้รำลึก
ถึงผู้เสียชีวิต แม้โดยปกติไม่มีใครตายเพื่อคนอื่น แต่การเสียชีวิตของพวกเขา เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องภาระทางสังคม เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน และเขาแค่ตายแทนเรา ผมคิดว่าชัยชนะของเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมนั้นมาจากความสามัคคีของแนวคิดประชาธิปไตยที่เชื่อ 2 แบบ
1. คือประชาธิปไตยแบบคุณธรรม คนดี และ
2. ประชาธิปไตยที่มาจากการเคารพเสียงประชาชน เห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกัน
ผลลัพธ์ที่ได้คือ กองทัพกลับเข้ากรมกอง ได้สถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งประชาชนผูกพันกับการเลือกตั้ง และก็ได้การเติบโตกับความหมายอีกแบบหนึ่งที่เป็นปัญหาในเวลาต่อมา คือเรื่อง คนดี นักการเมืองจะต้องเป็นคนดี ผมไม่เข้าใจเรื่องคนดี วาทกรรมเรื่องการปกครองโดยคนดีเริ่มออกมา ในปี 2536 โดยอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ออกมาเรียกร้องเรื่องธรรมรัฐ การตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบนักการเมืองมีแนวโน้มคิดฉ้อโกง คอร์รัปชั่น จึงเรียกร้องเรื่องนี้
แต่ผมเห็นว่าทุกคนมีข้อดี ข้อเลว กันทุกคน และข้อดีเลวนั้นได้ถูกสื่อ การเมือง อำนาจ หยิบมาใช้แปะป้ายว่าคนนั้นดีหมด เลวหมด ทำให้คนอย่างทักษิณไม่มีที่ยืน เช่น อาจะทำดีแปดเรื่อง ไม่ดีสองเรื่องกลายเป็นว่าคนไม่ดี หรือทำไม่ดีมาหลายเรื่อง หล่อเรื่องเดียวกลายเป็นว่าคนดี ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตย การรัฐประหารที่เกิดขึ้นปี 2549 ทั้งหมดนี้เป็นเพราะวิธีคิดแบบว่ามีนักการเมืองเลวอยู่ มองว่าเสียงข้างมากไม่ใช่ ต้องสนับสนุนเสียงข้างน้อยที่เป็นคนดี เป็นการต่อสู้กันของความเชื่อ 2 แบบ
ผมไม่อาจชี้ว่าอะไรผิดถูก แต่คิดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้คนชั้นกลางไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองอีกต่อไปแล้ว ที่เรียกว่าชนบทนั้นเติบโตเร็วมาก ทำให้ชนชั้นกลางกระจายตัวและเติบโตขึ้น และคนเหล่านั้นผูกพันโดยตรงกับประชาธิปไตยที่กินได้ หลุดพ้นจากวาทกรรมเรื่องคนดี ประชาธิปไตยมีลักษณะที่เป็นทางตรงมากขึ้น จากที่แค่ให้ชาวบ้านไปใช้สิทธิไม่พอ แต่ต้องเข้าไปมีบทบาท มีส่วนร่วมมากขึ้น
เหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 ฐานะทางประวัติศาสตร์ เป็นความสามัคคีไม่เอาทหารของประชาธิปไตย 2 ขั้วที่กล่าวมานั้น ทำให้เราได้คนที่เชื่อเรื่องคุณธรรมความดี ได้ทหารกลับเข้ากรมกอง ได้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่แล้วก็นำมาสู่เหตุการณ์เดือนพฤษภาปี 2553 ที่เกิดความแตกแยกของ 2 ขั้วนี้
ผมคิดว่าอนาคตเราล้มเหลว เพราะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งปักหลักแข็งแรง และหลุดจากวาทกรรมคนดีได้

จิตรา คชเดช
ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์

การเกิดรัฐประหาร ทางคณะรัฐประหารยังมีการออกกฎหมายมาควบคุมขบวนการแรงงาน แก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ หากจะแต่งตั้งที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงแรงงาน ที่ปรึกษาเถื่อนมีโทษ การนัดหยุดงานของกรรมกรต้องมีเสียงกึ่งหนึ่ง เป็นต้น
นี่เป็นผลพวงซึ่งตามมาจากรัฐประหาร ทำให้แรงงานถูกแยกออกจากขบวนการนักศึกษา นักวิชาการ เหล่านี้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาไม่ได้ การนัดหยุดงานทำได้ยากขึ้น เป็นการกันแรงงานออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เห็นได้ชัดคือ ขบวนการเสื้อแดงที่เกิดขึ้น ไม่มีแรงงานที่ออกมาในนามกลุ่มหรือองค์กรใด ไม่ได้ออกมาจากสหภาพแรงงาน แต่เป็นการไปอยู่ใต้ร่มเงาของชุมชน ท้องถิ่น ภูมิลำเนา เป็นปัจเจกแรงงาน
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำให้อำนาจต่อรอง ข้อเรียกร้องต่างๆ แม้แต่เป็นผู้นำในกลุ่มเสื้อแดงเป็นไปได้ยาก การเข้าร่วมทางการเมืองของแรงงานยากขึ้น ต้องระมัดระวังตัวมาก กลายเป็นว่าพูดแต่เรื่องปากท้อง ไม่ได้พูดเรื่องการเมือง ถ้าย้อนกลับไปดูในอดีต ยังมีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว
บทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 อย่างหนึ่งคือ มีขบวนการกรรมกรต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เช่น ออกมาต้านคณะรัฐประหาร แต่กลับไม่ได้ใช้ชื่อสหภาพแรงงาน การที่ไม่ได้ออกมาในนามสหภาพ ทำให้การถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไม่มี ไม่มีการพูดถึง กลับเป็นชาวบ้าน ชุมชน มากกว่า ทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ได้รับการตอบสนอง
อย่างการต่อสู้ที่ผ่านมา ในปี 2553 ที่คนเสื้อแดงไม่สามารถจัดการรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีสหภาพแรงงานหนุนช่วย เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการฆ่าประชาชน หากสหภาพแรงงานหนุนช่วย ออกมาในนามสหภาพ นัดหยุดงานกันทั้งประเทศ รัฐบาลก็อาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว
ดังนั้น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เราจึงมีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในสถานประกอบการได้ เพื่อจะได้สร้างอำนาจต่อรองต่อพรรคการเมือง สามารถเสนอแก้กฎหมายที่เป็นผลพวงจากรัฐประหารได้

วาด รวี
กรรมการ คณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 (ครก.112)

ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ประชาธิปไตยมาแล้วถูกรัฐประหาร ได้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีชนชั้นนำกุมอำนาจจำนวนหนึ่ง บ่มเพาะตัวมาอย่างมั่นคง กระทั่งเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่เป็นการต่อรองทางการเมืองระหว่างชนชั้นกลางเก่า กับชนชั้นนำ ขุนนาง อำมาตย์ และชนชั้นกลางเก่าเป็นฝ่ายชนะ
แต่เหมือนมีการตกลงกันได้ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เลยอยู่กันได้ระหว่างชนชั้นกลางเก่ากับชนชั้นนำเก่า แต่จุดที่ทำให้ดุลยภาพทางการเมืองสั่นคลอนคือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้คนชั้นนำเก่าหมดความมั่นใจกับความสามารถทางเศรษฐกิจของตัวเอง หมดความมั่นใจความสามารถรับมือกับเศรษฐกิจกับโลกาภิวัตน์ ชนชั้นกลางเก่า กับชนชั้นนำเก่า
พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้นำทางการเมืองที่พยายามนำเศรษฐกิจการเมืองของไทยไปสู่ลักษณะที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น แต่ขัดแย้งกับชนชั้นกลางเก่า และชนชั้นนำเก่า จนนำมาสู่การพยายามขับไล่ทักษิณ เกิดการรัฐประหาร
ขบวนการคนเสื้อแดงคือคนที่ถูกกดขี่ในระบบเศรษฐกิจแบบเดิม แต่เพิ่งจะรู้สึกและเห็นความสำคัญสิทธิเสรีภาพตัวเองในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ถ้าไม่ทำให้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองอยู่ในระบบ ปัญหาประเทศ วิกฤตการเมือง
ก็ไม่มีทางคลี่คลายได้ เพราะคนจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไม่ยอมอยู่ในระบบแบบเก่า ที่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมือง