ครบรอบ 2 ปี 19 พ.ค. 53 รัฐบาลอำมหิต ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ' กับสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ‘ควรทำ-ทำได้-แต่ไม่ทำ’ !

โลกวันนี้ 21 พฤษภาคม 2555 >>>


19 พฤษภาคม 2555 ครบ 2 ปีการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน หรือคนเสื้อแดง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสืบเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษา ยน 2553 รวมทั้งสิ้น 93 คน บาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ถูกจับกุมคุมขังกว่า 400 คน และวันนี้ยังมีนักโทษการเมืองและผู้ต้องหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกหลายสิบคน
เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จึงถือเป็นความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งไม่ได้เกิดจากรัฐบาลเผด็จการ แต่เป็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มาจากประชาชน สั่งการให้ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามครบ มือหลายหมื่นคนปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม ไม่ว่าจะเป็นการ “ขอคืนพื้นที่” หรือ “กระชับวงล้อม” ล้วนเป็นระดับปฏิบัติการรบทั้งสิ้น

2 คดีเริ่มเข้าสู่ศาล

แต่ 2 ปีเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต การค้นหา “ความจริง” และคดีต่างๆยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ไม่ใช่การพิจารณาของศาล อย่างคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดไต่สวนในวันที่ 18 มิถุนายนนี้
ส่วนคดี 16 ศพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีชันสูตรพลิกศพ 91 ศพจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวย การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขณะนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคดีพิเศษ ระบุว่า เมื่อถึงขั้นศาลไต่สวนสำนวนการชันสูตรพลิกศพ ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าใครเสียชีวิต ใครทำให้เสียชีวิต ใครสั่ง ความจริงทุกอย่างจะปรากฏชัดตามสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเบื้องต้นพนักงานสอบสวนตำรวจนครบาลที่สอบสวนใหม่ได้ฟังข้อยุติว่าเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าพนักงาน
สำนวน 16 ศพจึงมีความสำคัญอย่างมากกับรูปคดี อย่างที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา กล่าวถึงคดี 16 ศพว่า เรื่องนี้ถ้าทหารคิดไม่เป็นเจ๊งแน่ๆ เพราะทุกครั้งหลังการปราบจลาจลต้องตามมาด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ครั้งนี้ไม่มี และแปลกที่คดีที่ทหารตายไม่คืบหน้า ทั้งที่เห็นอยู่ว่ามีชายชุดดำ แต่ไม่สามารถหาตัวได้เลย แล้วมีคดีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้สาเหตุการตาย แต่คดี 16 ศพนั้นกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องมายังนครบาลที่อ้างว่าเป็นการตายจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“ปู-เพื่อไทย” ยันไม่แก้ ม.112

2 ปีเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต นอก จากการค้นหา “ความจริง” การใช้ความรุนแรง เข่นฆ่าประชาชนจะไม่ปรากฏแล้ว ยังมีแนวโน้มสูงที่ “ฆาตกร” จะไม่มีความผิดอีกด้วย ไม่ใช่เพียงเพราะกฎหมายที่คุ้มครอง โดยเฉพาะ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉิน พ.ศ. 2548 แต่ยังมีความพยายาม “เกี๊ยะเซียะ” กับทุกฝ่ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งส่งสัญญาณชัดเจนจากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยา บาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมฯช่วงการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเสียสละและลืมอดีตว่า
   “แม้แต่แม่ของกมนเกดที่ยังไม่หายโกรธที่ลูกถูกทหารยิงและไม่อยากให้นิรโทษกรรม เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราต้องฟังประโยชน์ส่วนใหญ่ และให้ส่วนน้อยยอมเสียสละ”
คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยและญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตแสดงความไม่พอใจ
และหลังจาก “อากง” หรือนายอำพล ตั้ง นพกุล นักโทษมาตรา 112 ป่วยและตายในคุก ก็ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงและนักวิชาการที่เคลื่อน ไหวให้แก้ไขมาตรา 112 เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข มาตรา 112 โดยเร็ว อย่างคนเสื้อแดงในนามเครือ ข่ายนักกิจกรรมทางสังคมประชาธิปไตยได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญาตามมาตรา 112 ทันที รวมทั้งให้รัฐบาลทบทวนท่าทีไม่แก้ไข มาตรา 112 และให้ดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งการรักษาพยาบาล การให้มีหมอและพยาบาลอย่างเพียงพอต่อผู้ป่วย
ขณะที่นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) นักโทษมาตรา 112 ที่มีอาการป่วยเรื้อรังและรอขั้นตอนขอพระราชทานอภัยโทษ ได้เขียนพินัยกรรมจากเรือนจำว่าถ้าเสียชีวิตหลังเข้าผ่าตัด ต่อมลูกหมากให้ใช้ศพรณรงค์แก้ไขมาตรา 112
แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่แตะต้องหรือแก้ไขมาตรา 112 แน่นอน ส่วนนาย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ยืนยัน ว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112 เพราะไม่ได้หาเสียงไว้ และไม่ได้ระบุไว้เป็นนโยบาย หากใครต้อง การให้แก้ไขก็ให้ไปรณรงค์เอง หากคนส่วนใหญ่ ในประเทศเห็นด้วยพรรคเพื่อไทยอาจจะทบทวน

รัฐไทยกับศาลโลก

ท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกตั้งคำถามว่ากลัวอะไร หรือพยา ยามเกี๊ยะเซียะเพื่อใคร แต่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง รู้สึกเจ็บแค้นและกล่าวหาว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำเสื้อแดงบางคนที่ได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรีก็เพราะ “ไพร่” และ “เหยียบคนตาย” ขึ้นมาสู่อำนาจ
ที่สำคัญ 9 เดือนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช่แค่ประกาศว่าจะไม่แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เท่านั้น ทั้งที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอให้แก้มาตรา 112 เช่นเดียวกับกลุ่มนิติราษฎร์ โดยลดโทษจาก 15 ปี เหลือ 7 ปี และให้สำนักเลขาธิการพระราชวังเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น เพื่อปกป้องสถาบันจากผู้นำมาตรา 112 ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา
แม้แต่การให้สัตยาบัน “ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” หรือ “ธรรมนูญกรุงโรม” ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (International Cri minal Court : ICC) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการดำเนินคดีกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และไม่ให้เกิดการเข่นฆ่าประชาชนอีก แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ
แม้จะมีข้อท้วงติงในบทบัญญัติข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรมที่กำหนดว่า ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอา ญาตามธรรมนูญ ไม่ว่ากรณีใด และจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ แต่รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 8 ระบุว่า องค์พระมหา กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสัก การะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้อง ร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ ในทางตรงข้ามการให้สัตยาบันกลับเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และแก้รัฐธรรมนูญ ให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง โดยถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้รัฐมนตรีที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ต้องรับผิดชอบตามที่กำหนด สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะยังเป็นที่เคารพสักการะ และจะล่วงละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องมิได้เช่นเดิม
ข้ออ้างมาตรา 8 ของไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันต่อศาลโลกจึงฟังไม่ขึ้น เพราะประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เบลเยียม ญี่ปุ่น สเปน สวีเดน ลิกเตนสไตน์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันกับศาลโลก

เปิดช่อง รมว.ต่างประเทศ

ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อไทย 25 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณายอมรับอำนาจศาลโลกเพื่อให้ดำเนินคดีกับการใช้ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในฐานะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งถือเป็นการเยียวยาทางจิตใจแก่ญาติผู้เสียชีวิต และไม่ให้เกิดการเข่นฆ่าประชาชนอีกในอนาคต โดยให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติ ธรรมส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียนของศาลโลก เพราะประเทศไทยเป็น 1 ใน 139 ประเทศที่ได้ลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรม และลงนามในธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยจึงเป็น 1 ใน 40 ประเทศที่ร่วมลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคี 3

ให้อำนาจศาลโลกย้อนหลัง

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า หากประเทศไทยยอมให้มีการลงสัตยาบันต่อศาลโลกตั้งแต่วันนี้เพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็จะไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากจะมีผลบังคับตั้งแต่วันแรกที่ลงสัตยาบันนับออกไปอีก 60 วัน ขณะที่การดำเนินคดีจะไม่สามารถทำย้อนหลังได้
อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตรได้เสนอช่องทางการเอาผิดต่อผู้กระทำอาชญากรรมโดยที่ไม่ต้องให้สัตยาบันว่า รัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคีสามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวเพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเฉพาะกรณีได้ ซึ่งมีประเทศที่ทำสำเร็จมาแล้วคือ ยูกันดา และไอวอรีโคสต์ ในกรณีไอวอรีโคสต์ไม่ได้ให้สัตยาบันก็ได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 แต่ขอยอมรับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2545 เพื่อให้ศาลโลกจัดการกับความผิดที่เกิดก่อนหน้าการประกาศ หมายความว่าสามารถถอยหลังกลับไปได้ แต่ไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามกับธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสามารถลงนามในสัตยาบันได้ทันที ไม่ต้องผ่านช่องทางรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่คดีต้องเข้าข่าย 4 ฐานความผิดร้ายแรงคือ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรม สงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (อ่านเพิ่มเติม-ข่าวไร้พรมแดน หน้า 14)

ควรทำ-ทำได้-แต่ไม่ทำ !

2 ปี 19 พฤษภาคม 2553 จึงสะท้อนให้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีความอยุติ ธรรมและสองมาตรฐานอย่างชัดเจน แม้แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงสนับสนุนจากคนเสื้อแดงอย่างท่วมท้นก็ยังไม่กล้าแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 หรือแก้ไขรัฐ ธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับการให้สัตยาบันต่อศาลโลก ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหารก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่ลงนามสัตยาบัน ทั้งที่ผ่านมาเกือบ 12 ปี แต่วันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยที่มาจากเสียงสนับสนุนของคนเสื้อแดงและผู้รักประชา ธิปไตยกลับแสดงท่าทีไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการ
ทั้งที่การให้สัตยาบันต่อศาลโลกเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่จะเอาผิดกับ “ฆาตกร” หรือ รัฐบาลอำมหิตที่เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต และไม่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องล้มตายอีกในอนาคต
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณ หรือแม้แต่ “รัฐมนตรีไพร่” จึงต้องตอบ ประชาชนผู้รักความยุติธรรม โดยเฉพาะคนเสื้อ แดงและญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการมาก มายว่าทำไมไม่กล้าแก้ไขมาตรา 112 และไม่ให้ สัตยาบันต่อศาลโลก หรือ “เกี๊ยะเซียะเหมาเข่ง” ยอมทุกเรื่องและทุกฝ่าย แม้แต่ “ฆาตกร อำมหิต” เพียงเพื่อรักษาอำนาจให้นานที่สุด หรือเกรงกลัวกองทัพก็รับสัตยาบันไม่ให้มีผลย้อน หลัง คดีความต่างๆก็จะถูกตัดตอนไปโดยปริยาย
เรื่องบางเรื่องเป็นที่เข้าใจกันดีว่ารัฐบาล “ทำไม่ได้” แต่สิ่งที่รัฐบาล “ทำได้” แต่กลับ “ไม่ทำ” นั้นเป็นคนละเรื่อง
โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีความยุติธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ไม่ทำ” ทั้งที่ “ทำได้” ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกประณามว่า “เหยียบคนตาย” ขึ้นมา แล้วยังตอกย้ำวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ของ “รัฐบาลอำมหิต” ที่พยายามยัดเยียดว่าคนเสื้อแดง “เผาจึงสมควรตาย” ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าคนเสื้อแดงเผาจริง แต่ความจริงที่ปรากฏกลับมีหลักฐานชัดเจนว่าใครที่ “ห้ามไม่ให้เข้าไปดับไฟ”
ดังนั้น ตราบใดที่ “ความจริง” เหตุการณ์ เมษา-พฤษภาอำมหิตยังไม่ปรากฏ 93 ชีวิตที่ถูกยิงเยี่ยงสุนัขข้างถนนก็จะกลายเป็น “ใบอนุญาตสั่งฆ่า” ที่ถูกกฎหมาย!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 360 วันที่ 19 - 25 พฤษาภาคม พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน