
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ปัด ยังไม่เคยคุย "ทักษิณ" กรณีบทบาท 111 หลังพ้นโทษแบน 5 ปี ชี้ ระดับตนไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งในพรรค การันตี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว อัด ปชป. อย่าแตะถ่วงแก้ รธน.
วันที่ 3 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า มีคณะบุคคลทั้งที่เป็นอดีตนักการเมืองทั้งในและนอก พรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประเทศอังกฤษ เพื่อหารือเกี่ยวกับงานการเมืองโดยเฉพาะประเด็นการปรับ ครม. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในเดือน มิ.ย. นี้ว่า ส่วนตัวยอมรับว่า ปกติก็มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มเดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประจำอยู่แล้ว และขอยืนยันว่าตนเองไม่ได้เดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และก็ยังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงการวางตัวของ 111 ของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่จะพ้นโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หลังพ้นเดือน พ.ค. นี้ด้วย
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ยังย้ำว่า ไม่มีและไม่ได้รับการทาบทามจากพรรคเพื่อไทย ให้ตนเองมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะที่หากพ้นโทษแบนทางการเมืองแล้ว จะกลับมาช่วยงานในพรรคเพื่อไทย และจะมาดำรงตำแหน่งใดในพรรคหรือไม่นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตอนนี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว รวมถึง ไม่อยากให้การพ้นโทษทางการเมืองของ บ้านเลขที่ 111 จะต้องทำให้การเมืองเกิดการกระเพื่อม สับสน วุ่นวายในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้
"เมื่อพ้นโทษแบน 5 ปี ก็คงจะเข้าไปช่วยงานเพื่อไทยอย่างแน่นอน แต่จะอยู่ในตำแหน่งอะไรในพรรคเพื่อไทยก็คงไม่มีสำคัญ ต้องดูความจำเป็นของพรรคเขาเป็นหลัก ทั้งนี้ ไม่เห็นความจำเป็นอะไรว่าต้องอยู่ในตำแหน่งใด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเอา 111 เป็นตัวตั้ง ว่าจะต้องเอาไปอยู่ในพรรคที่จุดไหน แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับประเทศ รัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย เป็นตัวตั้งจะดีกว่า ขออย่าให้ราคา 111 สูงเกินความเป็นจริงเกินไป เพราะหลายคนก็รื้อเวทีไปนาน" นายจาตุรนต์ กล่าว
ส่วนกรณีการ แก้ไข รธน. ในขณะนี้ของรัฐบาลนั้น นายจาตุรนต์เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้ความอดทนมาก และยังเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นมากกว่าที่ควรจะเป็น หลายครั้งหลายตอน ขัดข้อบังคับด้วยซ้ำไป และพรรคประชาธิปัตย์เองก็พยายาม ถ่วงเวลาทุกวิถีทาง ดังนั้น ปชป. ควรงดถ่วงเวลาหรือพยายามสร้างเงื่อนไขทางการเมือง หรือพยายามทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด หรือพยายามปลุกกระแส หวังเพื่อปั่นป่วนรัฐบาล ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จก็คงสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ
ส่วนเรื่องที่มีความพยายามกล่าวหาว่า รัฐบาลสนใจแต่แก้ รธน. จนลืมเรื่องการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะแก้ปัญหาของแพง นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า มันเป็นคนละเรื่องเป็นคนละส่วนกัน และก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีหน้าที่ดูแลปัญหาเรื่องของแพงหรือไม่อย่างไร อันนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ไปดูแล