ณัฐวุฒิวอนฝ่ายค้านร่วมปรองดอง ลั่นพร้อมลุยกับ พล.อ.สนธิ ชี้ประเทศสูญเสียมากแล้วขอให้ก้าวข้าม

มติชน 5 เมษายน 2555 >>>




นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายในระหว่างการประชุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง)  เมื่อค่ำของวันที่ 5เมษายน โดยเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านและทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความปรองดอง เนื่องจากคนไทยแตกแยก เกิดการเผชิญหน้า เกิดความสูญเสียมามากแล้วจึงขอให้ก้าวข้ามความเกลียดชังนำประเทศไทยสู่ความปรองดอง
นายณัฐวุฒิยังระบุถึงอดีตที่ผ่านมาที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นทำให้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรม มีการใช้อำนาจล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งและมีการใช้สองมาตรฐาน ล้มคว่ำพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนที่ชนะการเลือกตั้งรวมถึงพรรคอื่นๆ เช่นพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการดูแลจนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล
นายณัฐวุฒิระบุอีกว่า เคยเผชิญหน้า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หลังรัฐประหาร 19 กันยายน แล้วแต่เมื่อพล.อ.สนธิ มีความพยายามสร้างความปรองดองเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ ดังนั้นนายณัฐวุฒิจึงร่วมสนับสนุน
   "ทำไมวันนี้นายณัฐวุฒิเปลี่ยนใจกลืนน้ำลายตัวเองมาสนับสนุน พล.อ.สนธิ หรืออย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลแต่เป็นเรื่องสถานการณ์ของประเทศ ถ้า พล.อ.สนธิ ยังเป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจ แล้วบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ จะยึดอำนาจผมจะสู้อีก สิ่งที่ พล.อ.สนธิ ทำคือการปรองดองสร้างสันติภาพให้ประเทศที่ขัดแย้ง ดังนั้น ผมอภิปรายไม่ได้เข้าข้าง พล.อ.สนธิ แต่เข้าข้างผลประโยชน์ประเทศ ถ้าบ้านเมืองไม่ปรองดองจะเดินต่อไม่ได้"
นายณัฐวุฒิยังกล่าวก่อนปิดท้ายอภิปรายอีกว่า "พล.อ.สนธิ นั้นในสายตาของผม เป็นหัวหน้าคณะปฎิวัติ แต่สำหรับพรรคฝ่ายค้าน พล.อ.สนธิ คือผู้มีพระคุณ ควรไหว้พี่เขา"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนฯเพื่อพิจารณาวาระรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง)  กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน โดยบรรยากาศการประชุมในช่วงกลางดึกของคืนวันที่4 เมษายนก่อนเข้าสู่วันที่ 5 เมษายนเกิดความวุ่นวายมีการปะทะคารมระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล เมื่อนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยู่ในอาการป่วยลุกขึ้นอภิปรายโดยยกเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งใช้ถ้อยคำรุนแรงในการโจมตีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ทำให้ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดงต่างรุมประท้วงนายพิเชษฐโดยเฉพาะ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ ประท้วงให้นายพิเชษฐถอนคำพูด
จนกระทั่งเวลา 00.10 น.ของวันที่ 5 เมษายน ที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมเพื่อพิจารณาต่อในช่วงเช้า นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ในฐานะอดีต กมธ.ปรองดอง อภิปรายว่า ประเด็นอ่อนไหวที่นำไปสู่เผชิญหน้า มี 3 เรื่องใหญ่ คือ
1. ประเด็นพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะการแก้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
2. ระบบการเมืองไทย การเผชิญหน้าจากการจัดทำรัฐธรรมนูญในอนาคต และ
3. การปรองดองโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่นำไปสู่ความขัดแย้ง
   "ผมเคยอยู่การเคลื่อนไหวเป็นนักศึกษาเคยได้รับผลกระทบมาก่อน การนิรโทษกรรมในประเทศไทยไม่ใช่ไม่เคยมี เพราะประเทศไทยมีความขัดแย้งมีกระบวนการปรองดองโดยใช้วิธีนิรโทษกรรมหลายรูปแบบ แต่ไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีอาญา แต่จะมีนิรโทษกรรมให้คดีทางการเมืองที่มีผลกระทบทางการเมืองเท่านั้น" นายชำนิ กล่าว
นายชำนิ กล่าวว่า ที่มีข้อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเจรจา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษข้อเสนอนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะ พล.อ.เปรม ไม่ได้เป็นตัวแทนความขัดแย้ง อย่าสมมุติให้พล.อ.เปรมเป็นตัวแทนความขัดแย้งหลัก เพราะ พล.อ.เปรม ตัวแทนขัดแย้งไม่ตรงข้อเท็จจริง แต่คู่ขัดแย้งในปัจจุบันเป็นกระบวนการของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับประเทศไทย
จากนั้นในเวลา 15.20 น.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎรธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า สถาบันพระปกเกล้าเสนอว่าอย่ารีบร้อนและอย่าเอารายงานกมธ.ที่เสนอต่อสภาวันนี้ส่งไปให้รัฐบาลอออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมทันที เพราะจะนำไปสู่สงครามความขัดแย้ง ความปรองดองไม่เกิด พร้อมกับเสนอให้ กมธ. รับงานไปทำต่อ แต่ถ้าประธานไม่อยากทำก็ได้ เพราะเห็นว่าทำมานานแล้วหมดท่าแล้ว ตั้งแต่ทำงานมาจาก พล.อ. วันนี้เหลือราคาน้อยว่าพลทหารแล้ว
นายสุเทพ กล่าวว่า กมธ. ควรเสนอรัฐบาลไปด้วยว่าขอให้ทุกองค์กร สถาบันการศึกษา เปิดเวทีการเมืองภาคพลเมือง ขณะที่พรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็ไปเดินสายจัดเวทีรับฟังแนวทางการสร้างความปรองดองจาประชาชนเลย ไปซักซ้อมทำความเข้าใจให้ชัดว่าเราจะทำกระบวนการปรองดองแล้ว มีปัญหาอะไรข้องใจก็มาอธิบายกันให้ชัด หากชัดเจนกันทั้งประเทศก็ทำประชามติว่าเอาหรือไม่วิธีนี้ จะแถมยกร่ากฎหมายนิรโทษกรรมไปโชว์กับประชาชนก็ยังได้ ถ้าทำแบบนี้เกิดความสงบสุขในบ้านเมืองแน่นอน แต่ถ้าไม่ทำเกิดสงครามการเมืองแน่นอนเช่นกัน จะมีหลายคนตามเจ้านายไปอยู่ต่างประเทศหากเป็นผู้แพ้ หรือพวกตนจะได้ถูกจับเข้าไปอบรมสัมมนาและให้ออกไปทำนา เหตุร้ายเกิดแน่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่คุ้มกับสภานี้จะต้องอนุญาตหรือรับทราบสิ่งที่กมธ.เสนอมา
นายสุเทพ กล่าวว่า ทันทีที่พูดเรื่องปรองดองประชาชนตั้งคำถามดังนี้
1. การปรองดองที่จะทำเป็นการปรองดองระหว่างใครกับใคร
2. คู่กรณีที่จะให้ปอรงดองกันนั้นไม่พอใจเพราะอะไร อาฆาตด้วยอะไร
3. การที่จะบรรลุซึ่งความปรองดองอย่างที่เราตั้งเป้าไว้ไม่ได้มาฟรีๆต้องลงทุนต้องเสียสละ แต่ละฝ่ายคู่กรณีแต่ละคนต้องเสียสละ พี่น้องประชาชนเสียสละ คำถามมีว่าแต่ละฝ่ายเสียสละอะไรบ้าง ประเทศจะต้องขาดดุลอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความปรองดองคราวนี้ ถ้าประชาชนคิดว่าคุ้มผลประชามติออกมาก็จะท่วมท้น ถ้าไม่คุ้มก็ต้องจบเพราะประชาชนไม่เอา มีวิธีการนี้เท่านั้นที่จะทำให้กระบวนการปรองดองเป็นจริงขึ้นได้
นายสุเทพ กล่าวว่า ถ้าคู่กรณีนี้เป็น พ.ต.ท.ทักษิณ กับ พล.อ.สนธิ ก็สบาย ไม่ต้องลุกขึ้นมาอภิปรายอะไร เพราะวันนี้ พล.อ.สนธิ นั่งในหัวใจ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องไปดูไบหรือจีนตามที่เคยไป ไปแค่ประเทศเพื่อนบ้านซดไวน์ก็ได้แล้ว อย่างไรก็ตามที่เคยกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารประเทศทำให้เกิดปัญหาจนเป็นเหตุให้ต้องมีการปฏิวัติ และมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วันนี้พล.อ.สนธิ ให้อภัย พ.ต.ท.ทักษิณ หมดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้นคู่กรณีไม่ได้มี 2 คนนี้แต่มีมาก
   “ต้องพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่พูดกันบ่อยๆว่าไม่ก้าวข้ามทักษิณซะที ก้าวไม่ได้ เพราะไม่มีวันปรองดองได้ถ้าข้าม พ.ต.ท.ทักษิณไป ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ต่างประเทศต่อไป ก็ไม่ต้องทำเรื่องนิรโทษกรรม แต่ทีทำทุกวันนี้เพราะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านอย่างเท่ห์หรือไม่” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า ต้องบอกเหตุบอกผลด้วยว่าถ้าเราจะปรองดองกันเราต้องยอมอะไร พ.ต.ท.ทักษิณบ้าง อันนี้เป็นเหตุผลต้องบอกกับประชาชน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ และระบอบทักษิณ ญาติพี่น้อง รวมไปถึงสมุนบริวารมีอีกจำนวนมาก ทั้งกองกำลังติดอาวุธหรือที่เรียกกันว่าแก้วสามประการ พรรคการเมือง และมวลชนจัดตั้ง เค้าบาดเจ็บล้มตายโกธรหรือไม่พอใจอะไร ต้องพูดถึงคนกลุ่มนี้ด้วย ทั้งนี้มองว่าความขัดแย้งในบ้านเมือง มี 2 หมวดคือความขัดแย้งมาจากอุดมการณ์และแนวความคิดทางการเมืองของระบอบทักษิณและคนเสื้อแดง แตกต่างจากอุดมการณ์และแนวทางความคิดทางการเมืองของกลุ่มคนที่เหลือทั้งหมด
   "แนวความคิดทางการเมืองฝ่ายนี้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการปกครองการเมืองของไทย สถาปนารัฐไทใหม่ เลยเถิดไปถึงระบอบประธานาธิบดี และให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ผมอยากเห็นความปรองดอง เพราะได้รบกับเสื้อแดงและเสื้อดำมาจนเบื่อแล้ว แต่การปรองดองจะต้องให้ชัดว่าปรองดองกับใครบ้าง และใครต้องเสียสละอะไรบ้าง แต่อยู่ๆ พล.อ.สนธิ จะมาประกาศ ให้ปรองดอง คงจะไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) นะครับ ถ้าอย่างนั้นต้องกลับไปสวมเครื่องแบบแล้วยึดอำนาจใหม่" นายสุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายของนายสุเทพเกิดความวุ่นวายเนื่องจาก ส.ส. ทั้งจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างลุกขึ้นประท้วงจนนายจตุพร พรมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นมาไกล่เกลี่ยว่าในการอภิปรายของนายสุเทพจะไม่มี ส.ส.เพื่อไทย ประท้วง แต่ถ้านายจตุพรอภิปรายขอให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไม่ประท้วงด้วย
อย่างไรก็ตามบรรยากาศในที่ประชุมยังคงคุกรุ่นจนนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานในที่ประชุมไม่สามารถควบคุมการประชุมได้จึงตัดสินใจสั่งพักการประชุมในเวลา 16.20 น.
เมื่อเปิดประชุมอีกครั้งนายสุเทพลุกขึ้นอภิปรายต่อโดยระบุว่า ยินดีปรองดอง แต่ขอเสนอวิธีคือทำหลายเรื่องให้เกิดความชัดเจน คือ
1. ต้องให้ชัดเจนว่าปรองดองระหว่างใครกับใคร คู่กรณีเป็นใครบ้าง ต้องเปิดโอกาศให้คู่กรณีรับทราบรับฟัง
2. ต้องให้ชัดเจนว่าคู่กรณ๊นั้นโกรธหรือทะเลาะกันเรื่องอะๆไรมาก่อนเพราะถือเป็นสาเหตุความขัดแย้ง
3. ต้องให้ประชาชนเข้าใจให้ชัดว่าปรองดองไม่ได้ง่ายเหมือนเข้าเซเว่น มันแพงกว่านั้น ต้องให้เข้าใจว่าแต่ละฝ่าย ทั้งปชป. พรรคเพื่อไทย ประชาชน ต้องเสียสละอะไรบ้าง ใครได้หรือเสียประโยชน์บ้าง ให้ได้ชั่งใจ และ
4. ต้องฟังเสียงประชาชนด้วยการทำประชามติ ฟังเสียงคนทั้งประเทศ ให้ประชาชนเชื่อก่อนว่าถ้าเดินแนวนี้จะไม่เกิดวิกฤตอีก ไมใช่รวบรัด มัดหัวมัดหางบอกว่าปรองดอง ทนเอาแล้วกัน
ต่อมาเวลา 18.25 น. นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า อยากอธิบายความให้เห็นว่าประเทศควรเดินหน้าอย่างไร รู้สึกเจ็บปวดมากมาย ความรู้สึกโดยเฉพาะญาติประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ อยากตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่าจะปรองดองกับฆาตกรหรือไม่
   "ผมจำวาทกรรมของผู้นำคนก่อนได้ว่าพร้อมปรองดองกับทุกคนยกเว้นพวกก่อการร้าย ผมไม่พร้อมปรองดองกับฆาตกรเช่นเดียวกัน ขณะนี้มีความพยายามอธิบาย สร้างกระแสความรู้สึกให้เกิดขึ้น ว่าหากนำรายงานของสถาบันพระปกเกล้าเข้ามาที่สภาฯ และส่งไปยังรัฐบาล แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ พยายามสร้างกระแสกดดันจนสถาบันฯ เริ่มเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น"
นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับกรณีนายสุเทพอธิบายว่ามีความพยายามต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประธานาธิบดี สถาปนารัฐไทยใหม่ เพราะเคยกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี ขอเรียนว่าเป็นเพียงการกล่าวหาซึ่งใครก็ทำได้ อยากรู้ว่านายสุเทพต้องการทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีเสียเองหรือไม่ มีแต่พวกขี้แพ้ไม่มีความดีของตัวเองที่คิดแบบนี้ จึงแพ้ในทุกสนามการเมือง ต่อให้ชูมือสองข้างก็แพ้ ดังนั้นจึงพยายามเอาสถาบันมากล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ
   "ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นขอให้นิรโทษกรรมทุกคนไปเลย เหลือเพียงผม นายณัฐวุฒิ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเท่านั้น และมาเริ่มต้นคดีก่อการร้ายและใช้บงการฆ่าขึ้นมาใหม่ให้พร้อมกันเลย ดูว่าจะเป็นอย่างไร" นายจตุพร กล่าว