บ่ายแก่ของวันที่ 30 มี.ค. 2555 ทีมข่าวของประชาไทนัดพบกับจักรภพ เพ็ญแข ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งกลางกรุงพนมเปญ เราถามเขาในฐานะคนไกลบ้านที่ลี้ภัยการเมืองมานานกว่า 3 ปี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศที่อยู่ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งไม่เป็นเนื้อเดียวกับแกนนำในขบวนการต่อสู้ด้วยกันนัก และถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
3 ปีที่ไม่ได้อยู่เมืองไทย เขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และกำลังคิด-ทำอะไรอยู่
จักรภพตั้งประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประการ ประการแรกคือ เขามองเห็นว่าเมืองไทยภายใต้กระแสปรองดองนั้นเป็นวาระพักรบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทางเลือกที่สามของการเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้น แม้จะยังไม่เห็นรูปร่างหน้าตาที่ชัดเจนของทางสายนี้ แต่เขาเห็นว่า นี่เป็นโอกาสที่จะตั้งคำถามให้คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้เลือกว่า จะสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมหรือสู้เพียงเพื่อรวบสังคมมาเป็นของตัวเอง
เราถามเขาถึงบทบาทของทักษิณในขบวนต่อสู้ ซึ่งจักรภพยังคงแสดงความหวังว่าทักษิณมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมแต่นั่นเป็นสิ่งที่ทักษิณต้องเลือกเองว่าจะเลือกทางสบายหรือลำบาก
และสุดท้าย เงื่อนไขในการกลับประเทศ แม้ว่าจะข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นอัยการจะสั่งไม่ฟ้องไปแล้วในวันเดียวกับที่เขาให้สัมภาษณ์ประชาไท (30 มี.ค.) แต่นั่นไม่ใช่แรงจูงใจที่จะทำให้เขาเดินทางกลับเข้าประเทศ
“ประวัติศาสตร์มองเห็นชัดเมื่อมองย้อนหลัง แต่ระหว่างสร้างไม่มีใครรู้ว่าใครถูกใครผิด แล้วถ้าเราเชื่อในประชาธิปไตย ไม่ควรคิดว่ามีใครคิดถูกใครคิดผิดก่อน เพราะมันไม่ควรจะรู้ก่อน ถ้ารู้ก่อน คนนั้นก็ควรจะเป็นผู้นำตลอดชีพของประเทศ แต่ถ้ามันไม่มี เราก็ต้องหาความคิดที่ดีที่สุดของขณะนั้น”
ประชาไท: ตั้งแต่ออกจากเมืองไทยมาทำอะไรบ้าง
ผมออกจากเมืองไทยมาเมื่อเดือนเมษายน ปี 2552 ก็สามปีพอดีนับถึงตอนนี้ ออกมาแล้วก็ไปอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะช่วงสองปีแรกก็ไปอยู่ประมาณ 4-5 ประเทศ และก็มีฐานที่มั่นอยู่บางที่ซึ่งเราพอจะนั่งนิ่งๆ ได้วางแผนการดำเนินการ หรือส่งเสริมการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับขบวนเรา
งานก็จะแบ่งเป็นสองสามอย่างคือ งานประสานงานภารกิจเพื่อประชาธิปไตย ที่มีทั้งปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติการสื่อเพื่อการเรียนรู้
ส่วนแง่ของความคิดช่วงสามปี อาจจะแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือการสานต่อภารกิจที่ชะงักไปในวันที่ 19 พฤษภาคม ปี 53 นั่นก็คือการแสดงพลังมวลชนเพื่อสื่อสารถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมไทย พูดตรงนี้ต้องมีฟุตโน้ตนิดหนึ่งว่า คนที่เรียกว่าแกนนำในขบวนการประชาธิปไตยได้หยุดชะงัก ณ วันที่ 19 พฤษภาคม ปี 53 ไม่ได้คิดถึงเป้าหมายปลายทางตรงกันทุกคน บางคนก็มองว่าขู่กรรโชกหรือว่าแบล็คเมลเพื่อให้เหตุการณ์นั้นหยุดลงคล้ายๆ เดือนพฤษภาคม 35 หรือพฤษภาประชาธรรม บางคนก็รวมพลังเพื่อจะสื่อสารความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง บางคนก็รวมพลังมวลชนเพื่อบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง มันมีดีกรีของความแตกต่างหลากหลายเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม แต่เมื่อหยุดชะงักมันก็ไม่มีการถกเถียงกันต่อว่าจะทำอะไรเหนือจากนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่มาทำนอกประเทศก็คือการสานต่อความคิดของคนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม
ผมก็ยอมรับว่าไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจในรัฐบาล แต่คิดถึงอำนาจในโครงสร้าง แต่ก็รู้เช่นเดียวกันว่า คนที่ทำร่วมกันอยู่นี้ก็ไม่ได้เห็นตรงกันทุกคน เราเคยเปรียบเทียบการต่อสู้ระยะที่ผ่านมาว่าเหมือนการขึ้นรถประจำทางซึ่งมันมีหลายป้าย เราอาจจะอยากไปจนสุดทางแต่ก็อาจมีบางคนบนรถที่ขอลงป้ายก่อน หรือหลายคนเปรียบเทียบกับบางซื่อ หัวลำโพงในตอนช่วงนั้น ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่ถือว่าเป็นปัญหา ผมถือว่าเป็นวุฒิภาวะของขบวนประชาธิปไตย และที่สำคัญประวัติศาสตร์จริงก็มักจะเป็นเช่นนี้ ก็คือประวัติศาสตร์มองเห็นชัดเมื่อมองย้อนหลัง แต่ระหว่างสร้างไม่มีใครรู้ว่าใครถูกใครผิด แล้วถ้าเราเชื่อในประชาธิปไตย ไม่ควรคิดว่ามีใครคิดถูกใครคิดผิดก่อน เพราะมันไม่ควรจะรู้ก่อน ถ้ารู้ก่อน คนนั้นก็ควรจะเป็นผู้นำตลอดชีพของประเทศ แต่ถ้ามันไม่มี เราก็ต้องหาความคิดที่ดีที่สุดของขณะนั้น หรือที่ประชาชนสนับสนุนมากที่สุดขณะนั้น ซึ่งก็ผิดได้เหมือนกัน นี่คือความคิดที่สะท้อนออกมาเป็นภารกิจระหว่างอยู่นอกประเทศ
ที่เล่าให้ฟังว่าแบ่งความคิดเป็น 2 ระยะใน 2 ปีแรก เป็นระยะของการสางภารกิจ 19 พฤษภาคม 2553 แต่ว่าปีก่อนหน้านี้เป็นเรื่องการมองหาแนวทางที่ 3 ในการเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ทางสายที่ 3 หมายความว่า ถ้าหากฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมาแต่เดิมตัดสินใจเข้าร่วมปรองดองกับฝ่ายที่เป็นตัวแทนของมวลชนเพื่อผลระยะสั้น เราก็ควรจะมีคนทำงานต่อเนื่องไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการจะไปถึงจริงๆ โดยที่คนเหล่านี้ไม่ต้องเข้าร่วมในขบวนการปรองดองก็ได้ ไม่ต้องเข้าร่วมในขบวนการต่างตอบแทนก็ได้ ไม่ต้องมีอำนาจรัฐก็ได้ ถามว่าคนเหล่านี้คิดว่าตัวเองเป็นเทวดาหรือยังไง คิดว่าตัวเองต้องถูกต้อง เปล่า ก็เหมือนคนที่มีความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป คนเกิดมาก็มีคุณค่าชีวิต เราเชื่ออะไรก็วางชีวิตไว้บนนั้น แล้วถ้าเรายอมสละชีวิตเพื่อสิ่งนั้น เราก็ตอบโจทย์คนอื่นได้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร แต่จะถูกไม่ถูกเป็นเรื่องอนาคตที่คนอื่นที่จะตัดสินเรา นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวล เลยตอบอย่างนี้ว่ามันเป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรมปะปนกันไป มันก็เลยเป็นคำตอบว่าทำไมผมตัดสินใจอยู่ต่อ ไม่กลับเข้าประเทศ
มีความพยายาม มีแรงกดดัน มีการติดสินบน มีการขอร้อง มีการขู่เข็ญ พูดตรงๆ มีการหลอกล่อใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ หลอกล่อให้กลับเข้าไป เหตุผลไม่ใช่เราสำคัญ เป็นเพราะต้องการให้ทุกคนเข้าไปสู่กระบวนการปรองดอง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจต่อรองเต็มที่ในการที่จะจบศึกครั้งนี้หรือพักรบครั้งนี้ โดยที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด แต่เผอิญว่าประเทศมันคงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
แต่คำถามก็คือว่าในกระบวนการที่คุณจักรภพทำอยู่นอกประเทศ สามารถรับประกันได้หรือว่าจะส่งผลได้จริงมากกว่าการกลับเข้าไปอยู่ในประเทศ
ไม่ได้หรอกครับ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรามีอิสรภาพที่จะทำงานได้โดยไม่ต้องไปต่อรองกับระบบกฎหมายหรือระบบกดดันทางสังคม ผมขอย้อนไปนิดหนึ่ง จากคำตอบเมื่อกี้ผมขอสรุปท้ายว่า การต่อสู้ 2 เฟสมันเป็นอย่างนี้ 2 ปีแรกมันต่อจากเหตุการณ์พฤษภา 53 แต่ปีหลังกลายเป็นต่อจาก 24 มิถุนา 2475
อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยน กระบวนการปรองดองหรือ
ผมขอพูดจากข้อเท็จจริงดีกว่านะ ผมตอบเท่าที่รู้ก็คือว่า เหตุที่การปรองดองเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนเกือบจะสัมฤทธิ์ผลตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เป็นเพราะฝ่ายแรกหรือฝ่ายที่สอง แต่เป็นเพราะนิติราษฎร์ การเกิดขึ้นของนิติราษฎร์เป็นการสร้างความรู้สึกคุกคามให้กับฝ่ายอำนาจเก่าอย่างรุนแรง
นิติราษฎร์เป็นกลุ่มที่ฝ่ายอำนาจเก่ากลัวมากกว่า นปช. และคุณทักษิณเยอะ ทุกครั้งที่นิติราษฎร์ออกโรงมีความเคลื่อนไหว จะมีการยอมจากฝ่ายอำนาจเก่ามาก มากในทุกเรื่องในทุกมิติ ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้อยากยกหางนิติราษฎร์ ไม่อยากให้นิติราษฎร์กลายเป็นเทวดาใหม่เหมือนกัน แต่เพื่ออยากให้รู้ว่ามีผล และคนที่สนับสนุนนิติราษฎร์ไม่ควรไปเยินยอนิติราษฎร์จนกลายเป็นเทวดาไป แต่ช่วยเขาคิดช่วยเขาทำ ตรงไหนเริ่มจะไม่ไหว ก็ต้องประคองก็ช่วยกันด้วย เพื่อให้มันเป็นขบวนการประชาชนต่อไป
ทุกขบวนการการเมือง เมื่อมีความนับสนุนมากๆ จากประชาชน จะมีคนที่เรียกว่าผู้ดำรงชีพจากการเมือง เข้ามาแทรกกลาง ถ้าพูดไม่เพราะคือ นายหน้าการเมืองเข้ามาแทรกกลาง จนกระทั่งยกผู้นำการเมืองขึ้นไปอยู่บนหิ้ง และประชาชนไปอยู่ข้างล่าง ตัวเขาจะได้เป็นชนชั้นที่จะเชื่อมโยงทั้งสองราย เพื่อประโยชน์ทางการเมือง มันเกิดขึ้นกับทุกขบวนการเมื่อเวลาผ่านไป เพราะฉะนั้น ไม่อยากเห็นแบบนั้นกับนิติราษฎร์ เพราะฉะนั้นการที่นิติราษฎร์มีตัวตนที่ชัดเจน แล้วก็มีคนอย่างอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ทั้งเห็นด้วยและวิจารณ์นิติราษฎร์จะทำให้ขบวนการมันอยู่ได้อย่างดี มันเป็นสมดุลใหม่ อยากให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือมีอย่างอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) หรือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยืนอยู่ห่างๆ แล้วตะโกนไกลๆ มาว่า เอาเลย แต่ไม่เข้าร่วม อย่างนี้เป็นวิธีการประคอง
เมื่อกี้ไม่ได้พูดจากความคิดนะ พูดจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผมก็เป็นนักศึกษาจากของจริงเหมือนกัน ผมก็นั่งดู เอ๊ะ ทำไมนักวิชาการ 7 คนซึ่งไม่มีฐานอำนาจทางการเมืองใดๆ เลย ไม่มีลักษณะเชื่อมโยงทางการเมืองใดๆ เลย ไม่มีทุนทางการเมืองที่สนับสนุนอย่างชัดเจนใดๆ เลยถึงได้เป็นที่ครั่นคร้ามของผู้ที่มีอำนาจสูงสุด แล้วเรียกว่าสามารถชี้นำทุกอย่างโครงสร้างในสังคมปัจจุบันได้ ผมก็เลยได้คำตอบกับตัวเองว่า อำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนแปลงประเทศจากนี้ไป คืออำนาจในการเปลี่ยนแปลงความคิด มาสู่การเคารพในสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิทธิทางการเมืองนะ สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิของเด็ก สิทธิของคู่สมรส สิทธิของ sexual orientation สิทธิในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมันจะกลับไปตอบโจทย์เดียวกัน หรือแม้แต่สิทธิของอภิชาติพงศ์ที่เป็นอภิชาติพงศ์ สิทธิของโจอี้บอยที่เป็นโจอี้บอย สิทธิของใครต่อใครที่จะเป็นตัวของตัวเองมันกลายเป็นปราการใหญ่ที่ทำให้ทุกคนมีจุดร่วมกันโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นแนวร่วมโดยที่ไม่เหมือนกันเลย แบบที่หลายประเทศเป็น อย่างสหรัฐอเมริกาเป็น อย่างในยุโรปเป็น ไปถามเลยนั่งกันอยู่ 3 คน มีความเห็น 4 อย่าง แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะมีลักษณะร่วมก็คือว่าแบบเธอๆ ก็ไม่อยากเปลี่ยน แบบฉันๆ ก็ไม่อยากเปลี่ยน แบบคุณๆ ก็ไม่อยากเปลี่ยน ตกลงมีลักษณะร่วมกันคือ ไม่อยากให้มายุ่ง มันก็จะมาผนึกกำลังกัน นี่คือสิ่งที่นิติราษฎร์กำลังนำความคิดนี้เข้ามา สุดท้ายคนที่หนุนนิติราษฎร์อาจจะไม่ใช่คนที่เชื่อตามนิติราษฎร์ แต่จะเป็นคนที่ออกมากป้องให้นิติราษฎร์ได้คิดอย่างนิติราษฎร์ต่อ เพื่อวันหนึ่งฉันจะได้คิดแบบฉันบ้าง นี่คือสิ่งที่น่ากลัวมากของความคิดแบบเดิมของไทย ซึ่งเชื่อว่ามันต้องมีความคิดหนึ่ง ก็คือความคิดปรองดอง มันก็ความคิดเดียวกับที่ชูสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั่นแหละ หลักคิดเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนเรื่อง
“ขบวนการเสื้อแดงที่กำลังต่อสู้อยู่นี่ เราต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยสังคม หรือเราต่อสู้เพื่อที่จะรวบสังคมมาเป็นของเราแทน”
ตอนนี้กลุ่มที่มีพลังผลักดันขับเคลื่อน แน่ๆ ก็มีสองฝั่งคือ ฝั่งที่เป็น นปช. กับอีกฝั่งคืออำนาจเก่า พูดตามตรงทั้งสองก็ปฏิเสธนิติราษฎร์ทั้งคู่ นิติราษฎร์อาจเป็นการจุดประกายให้คนจำนวนหนึ่ง แต่นิติราษฎร์ก็เผชิญความท้าทายว่าอยู่เหมือนกันว่าจะสานความคิดต่อไปยังกลุ่มคนที่ไกลตัวได้ยังไง
เหตุที่อำนาจเก่า จะเรียกมวลชนใหม่ นปช. หรือเพื่อไทย หรือผู้ที่รักนายกฯ ทักษิณก็ตาม มีปัญหากับนิติราษฎร์ทั้งคู่เลย เพราะสองกลุ่ม อำนาจเก่ากับมวลชนใหม่มีลักษณะที่เหมือนกันระหว่างเขามากกว่าที่จะเหมือนกับนิติราษฎร์ เขาแปลกแยกกับนิติราษฎร์ทั้งคู่ สุดท้ายมันถึงได้เป็นตัววัดไงว่า ขบวนการเสื้อแดงที่กำลังต่อสู้อยู่นี่ เราต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยสังคม หรือเราต่อสู้เพื่อที่จะรวบสังคมมาเป็นของเราแทน นี่คือหัวใจของเรื่องนะ ผมบอกไม่ได้ว่าทางที่สามจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร บอกได้แต่เพียงว่าทางที่สามจะเริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่การเข้าสู่อำนาจอาจจะมีการสวนกันโดยคนใหม่ๆ ตามเงื่อนไขเวลาในขณะนั้น คนที่สู้เพื่อทางสายที่สามอาจจะสู้แล้วตายไป สู้แล้วหมดไฟไป แต่จะมีคนมาแทน ที่ผมพูดว่าอยู่คือทางนะ ไม่ใช่คน คนอาจจะไปตามเวลาเพราะมันสู้ไม่ไหว อำนาจที่ต้องสู้มันเยอะ แต่ทางมันจะยังอยู่นี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่าที่เขาต้องรีบปรองดองกันระหว่างสองทางเพราะลึกๆ แล้วเขาไม่อยากให้ทางที่สามนั้นเกิดขึ้น แต่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่มันจะก่อรูปไปทางนั้นยังไม่เห็นชัด และด้วยความที่ไม่ชัดนี่แหละที่ทำให้ทางสายที่สามน่ากลัว เพราะมนุษย์กลัวสิ่งที่ตัวไม่รู้
ดังนั้นแล้ว การปรองดองก็อาจจะไม่บรรลุเป้าหมายได้
ผมมองว่าการปรองดองเป็นสถานีพักกลางทางของการต่อสู้ทางการเมือง มีประโยชน์ เพราะอย่างต่ำสุดก็ทำให้คนไม่ต้องฆ่ากันอย่างชัดเจนเพราะไม่มีเหตุที่จะต้องฆ่ากันตรงจุดนี้ แต่จะไปฆ่ากันในอนาคตหรือไม่ ไม่รู้ แต่ในขณะนี้ก็หยุดฆ่ากันและจับมือกันอยู่ ไม่มีใครจะเถียงได้ว่าไม่ดีเพียงแต่สิ่งที่จะเถียงได้ก็คือว่ามันอาจจะไม่ได้หยุดจริง เป็นเพียงแค่หยุดพัก ซึ่งก็ไม่เป็นไร คนที่ทำให้ช่วยหยุดความรุนแรงได้ก็ควรจะได้รับความดีได้รับเครดิต เพราะฉะนั้นถ้าถามผม ผมก็สนับสนุนกระบวนการปรองดอง แต่จะให้ผมไปร่วมไหม ผมไม่เข้าร่วมด้วยไม่คัดค้านแต่ ผมขออยู่ข้างทางสายที่สามนี้ดีกว่า
ถามว่าปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ ผมกลับมองว่ามันเป็นกิจกรรมเรียนรู้ของสังคมไทย สนุกจะตาย สนธิ สนั่น ฉีกร่างกฎหมายปรองดอง อภิสิทธิ์น็อตหลุด ผมว่าสนุกจะตายไป เหมือนว่าอยู่ในสถานีพักรบแต่ก็ยังนั่งคนละมุม
แต่คนกลุ่มหนึ่งเขาคงไม่สนุกด้วย เช่นคนที่เสียลูก หรือเสียญาติไปในความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา
แน่นอน แม่น้องเกด เขาก็พูดถูก ก็ยังหาคนที่รับผิดชอบในการตายของลูกสาวเขาไม่ได้แล้วจะมาปรองดองกันได้ยังไง ผมก็คิดว่าเป็นคำถามที่ชอบธรรมนะ แล้วคำถามนี้แม้จะถามเป็นโจทย์ง่ายๆ เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า อ้าวแล้วลูกฉันล่ะ เธอจูบปากกันแล้วลูกฉันล่ะ เป็นคำถามที่พื้นฐานมากนะ แต่มันมีพลังมาก เพราะมันทำให้คนตอบไม่ได้ นอกจากจะมีคนไปแอบโอบกอดแล้วบอกว่า ใจเย็นๆ น่า วันหลังค่อยคุยกัน มันจะตอบด้วยอะไรล่ะ
นี่เป็นประเด็นที่คุณจักรภพเคยพูดกับคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยว่าอย่าให้ใครมาหลอกใช้ ขณะที่ตอนนี้กำลังมีกระบวนการปรองดอง คนเสื้อแดงควรจะทำความเข้าใจกับกระบวนการปรองดองอย่างไร
มันต้องยอมให้ทั้งสังคมเดินไปสู่ถนนสายมึนงงสับสนแบบนี้แหละ แล้ววันหนึ่งเราจะได้เกิดคำตอบในใจตัวเราเองขึ้นมา ตรงนี้ไงล่ะที่คำว่านักการเมืองมันถึงได้เกิดขึ้นมา คำว่านักการเมืองมีขึ้นมาเพราะว่าในการสับสนความไม่รู้และความไม่ได้สื่อสารกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าฉันรู้คำตอบ แล้วฉันขอเสนอเลือกฉันก็แล้วกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่านักการเมือง เพราะฉะนั้นนักการเมืองถึงมีตั้งแต่ดีที่สุดเป็นรัฐบุรุษ จนถึงชั่วที่สุดเป็นโสเภณีการเมือง ถามว่าจำเป็นไหมต้องมี พี่ว่าในยามนี้ นักการเมืองมีความจำเป็นน้อย ในช่วงเวลานี้นะ และเรากำลังรอให้มันมีฮีโรใหม่ในสังคมไทยเยอะแยะ นิติราษฎร์เมื่อก่อนใครรู้จักกันบ้างล่ะ แต่ตอนนี้กลายมาเป็นฮีโร่ของคนเยอะแยะ และบางคนยังยอมรับ ป้าคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในทีวีช่องแดงว่าอ่านที่นิติราษฎร์เขียนนี่ไม่รู้เรื่องเลย แต่แกสนับสนุนเพราะว่าแกรู้สึกว่ามันตรงกับแก ผมถึงได้พูดไงว่าทางสายที่สามมันใหญ่กว่าภาษาพูด ใหญ่กว่านิติราษฎร์ กลายเป็นความรู้สึกว่าไม่เอาทางโน้นแต่จะเอาทางนี้ เวลาทีพูดถึงรูปการเปลี่ยนแปลงที่นอกกรอบปัจจุบันนั้น คนจะเชียร์ ทั้งๆ ที่การพูดแบบนิติราษฎร์ถ้าเป็นเมือสิบปีก่อนหน้านี้จะกลายเป็นการเพ้อฝัน คนไม่เอาด้วย ประการต่อมาคือคนเริ่มเชื่อมโยงกับคำนามธรรม เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ โอกาส แต่คำที่เคยทำให้คนเชียร์ คนเฮสมัยก่อน เช่น คนจน การต่อสู้ ปฏิวัติ โค่นล้ม กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่แล้ว เหมือนว่าคนไปตั้งเป้าหมายไกลกว่าเมื่อก่อนแล้ว ตอนนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ไปถึงเสรีภาพ ทำอย่างไรก็ได้ให้ไปถึงโอกาส ทำอย่างไรก็ได้ให้ไปถึงความเป็นคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกอย่างมันเปลี่ยนนะ แต่ปัญหาคือประเทศไทยที่อยู่บนกองปรักหักพังจะทำอย่างไรให้ไปถึงตรงนี้
ผมเองซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งก็กำลังนั่งใช้ความคิด กำลังคิดว่าจะต้องเขียนอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่างเพื่อให้เป็นเป้าไว้ให้โยนลูกดอก ไม่ได้ทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่เป็นที่ปาเป้าเพราะมันต้องมีสิ่งที่จูงความคิดไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เหมือนที่เรานั่งกันอยู่แล้วบอกไม่ได้ว่าอยากกินอะไร รู้แต่ว่าไม่อยากกินสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เหมือนทำเมนูขึ้นมา สุดท้ายเราก็อาจจะได้คำตอบซึ่งอาจจะเป็นน้ำเปล่าก็ได้ ก็ต้องให้คนคิด คลำทาง ให้คนอย่างแม่น้องเกด คนอย่างภรรยาอากงถามคำถามมากขึ้น
การเกิดขึ้นมาจากกองซากปรักหักพัง หรือเรากำลังรอการหักพัง
เป็นไปได้ มันพังไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สำหรับผมอะไรที่มันหยุดฟังก์ชั่นแล้ว มันก็คือการพัง ไม่ต้องรอให้มันพังลงมากองกับพื้น ผมถามง่ายๆ ว่า ตัวอย่างเช่น เอ็นจีโอจำนวนหนึ่งทำไมถึงยังรอไม่เข้าร่วมกับฝ่ายทักษิณ หรือฝ่ายอำนาจเก่า ทำไม-ก็เพราะมันยังไม่ใช่ทางนั้นไง ที่ผ่านมา เอ็นจีโอก็งงนะ คือทั้งแดงทั้งเหลือง ก็งงทั้งคู่ มันก็ไม่ใช่ทั้งคู่สำหรับทัศนะของสายที่สาม เพราะเอ็นจีโอวางตัวเองอยู่ในสายที่สามมาตลอด และถ้าหากว่าทางสายที่สามเข้าสู่อำนาจ เอ็นจีโอก็จะออกมาแล้ววิจารณ์ทางนั้น นี่คือหน้าที่ของเอ็นจีโอซึ่งควรจะเป็น คือเป็นใครก็ได้ที่ไม่มีอำนาจแต่สามารถจะเป็นแนวร่วมกับใครก็ได้ที่จะมีอำนาจ แล้วเมื่อเขามีอำนาจก็วิจารณ์เขาต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะมันเป็นหน้าที่ของเอ็นจีโอ
แต่เวลาเราพูดถึงซากปรักหักพัง ในเชิงโครงสร้างอำนาจที่กำลังจะเปลี่ยนผ่าน ความรุนแรงจะเกิดขึ้นมากแค่ไหน
ผมกลับมองว่า เวลาที่เราจะเข้าไปดูหนังสยองขวัญแล้วมีคนบอกว่ามันน่ากลัวทุกช็อตเลย หายใจไม่ได้เลยนะทุกช็อตเลย สุดท้ายมันจะไม่น่ากลัวมากเท่าไหร่ เพราะเราระวังมาก ฉะนั้นถ้าบอกว่า ลมหยุดพักเมื่อไหร่จะตายแน่ประเทศนี้ ก็จะทำให้กลุ่มคนที่เสียประโยชน์มากเตรียมตัวและผลจากการเตรียมตัวนั้นมันไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด แต่มันจะเหมือนมะเร็ง คือมาอุดทางนี้ก็ไประเบิดทีหลัง พูดง่ายๆ ก็คือในระยะปะทุมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อจะมีใครจากไปแต่มันจะเกิดขึ้นในระยะที่พยายามจะอยู่ด้วยกันแล้วอยู่ไมได้
ผมพูดแบบสมมติว่า ถ้าผมเป็นคนที่มีอำนาจเบอร์สองเบอร์สาม ผมจะยอมให้คนเบอร์ร้อยมาไล่บี้ผมเหรอ ผมก็ต้องจัดการซะก่อนที่สิ่งนี้จะเกิดแต่อำนาจก็มีเรื่องตลกก็คือความคิดที่ว่าอีกฝ่ายจะใช้อำนาจอาจจะทำให้ตัวเองชิงใช้อำนาจก่อน สงครามเกิดขึ้นเพราะคิดว่าอีกฝ่ายจะทำก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่ามีการกระทำเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นเพราะความกลัว
ซึ่งการเมืองไทยที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น
ถึงจุดนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เราประชาชนก็ไม่รู้หรอกว่าเกิดขึ้น เขาไม่บอกหรอกจนกว่าเขาจะจัดเสร็จหมดแล้ว ผมจะบอกได้ไหมว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผมก็เหมือนทุกคนคอยโทรเช็คว่าจริงหรือเปล่า ผมได้ข่าวลือมาอย่างนั้นอย่างนี้
มันจะไม่ส่งผลถึงประชาชนบ้างหรือ
ส่งผลสิ นี่เป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปถามคำถามแรก คือกิจกรรมที่ผมทำคือการทำกิจกรรมกับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงระดับผู้นำกับผู้นำที่จะกระทบกับประชาชน มันจะลดผลกระทบที่คนมีอำนาจทำกับประชาชน แต่ถ้าเราไม่มีกิจกรรมกับประชาชน ก็เหมือนกับจอหนังมืดแล้วประชาชนไม่รู้จะทำอะไร เราต้องมีกิจกรรมแจกไฟฉายบอกทางออกเพื่อเตรียมตัวในกรณีที่จอหนังขาดก็เดินออกได้ ไม่ลำบาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ข้างนอกประเทศทำกิจกรรมได้มากกว่า ได้พบปะคนมากกว่า
มีโอกาสมากกว่าอยู่ที่เมืองไทยด้วยซ้ำ หลายเรื่องที่อยู่เมืองไทยต้องกระซิบกระซาบกัน ต้องใช้รหัส แต่อยู่ข้างนอกนี้ไม่ต้องใช้ พูดได้ชัดเจนว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร เพราะบางทีเราใช่รหัสเราไม่ได้พูดถึงตัวคน ผมว่าผมมีโอกาสมากกว่า ทำงานได้เยอะกว่าอยู่เมืองไทย สมัยผมอยู่พีทีวี มาเป็น นปช. แล้วมาเป็น นปก. ผมว่าผมเป็นตัวแสดงมากกว่าผู้ขับเคลื่อนนะ บทบาทการแสดงน้อยลง
โดยศักยภาพของคุณ คุณเลือกที่จะไม่ทำก็ได้นี่
ได้ แต่ผมมีชีวิตเดียว ก็ต้องลองดูสิ การอยู่ทุกวันนี้มีความสุขดี แต่ถ้าอยู่ที่บ้านคงมีความสุขกว่านี้มากกว่าอยู่หลายๆ ประเทศแบบนี้ แต่ผมเป็นทาสความคิดตัวเอง เมื่อเรามีความคิดความเชื่อเราก็อยากเห็น ชีวิตเราจะมีความหมายจากสิ่งนั้น ผมก็บอกกับคนที่ผมรักทุกคน ญาติพี่น้องของผม ว่าถ้ามันจบลงอย่างสูญเปล่า ก็ขอให้มีความสุขกับประสบการณ์ ผมไม่ได้รอที่จะมีความสุขจากเป้าหมายอย่างเดียว ถ้ากลับไปรับตำแหน่งสูงๆ โก้ๆ แล้วมีบทบาทประหนึ่งว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงผมก็เลือกได้ แต่ผมเลือกจะทำสิ่งนี้มากกว่า แล้วผมก็ไม่ทำตัวเองให้ชัดเจนนักด้วย มีคนหลายคนคิดว่าผมเป็นคนจริงใจแต่ก็ไม่แน่ใจว่าจริงใจหรือเปล่า คือว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่แต่ก็ไม่แน่ใจว่าถ้ามีอำนาจเต็มที่แล้วจะเป็นอย่างไร แล้วสุดท้ายก็มาจากเรื่องส่วนตัวเพราะผมเป็นคนที่ไม่เปิดเผยเรื่องส่วนตัว ไอ้ความที่เราไม่บอกคนมันทำให้คนรู้สึกว่าไม่รู้จัก ก็ใม่กล้าสนับสนุนเต็มที่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถจะถอยจากการแสดงบทบาทได้
เป้าที่คิดไว้ มีคุณทักษิณด้วยไหม ทางที่สามยังมีคุณทักษิณหรือเปล่า
ผมตอบเพื่อให้ลงประชาไทนะ ว่าคุณทักษิณจะเป็นเป้าที่มีก็ได้ไม่มีก็ได้ ถ้ามี ก็เป็นสิ่งที่คุณทักษิณเลือกที่จะเสนอตัวเองเข้ามาอยู่ในเป้าใหม่ ถามว่าวันนี้คุณทักษิณอยู่ในทางปรองดองนะ ไม่ได้อยู่ในแนวทางที่สามนะ แต่อยู่ในแนวทางที่สอง และท่านก็พูดชัด ว่าอยากจะปรองดอง ไอ้เรื่องที่ออกมาแหย่นิดแหย่หน่อยจะตั้งจตุพรเป็นรัฐมนตรีบ้าง มารดน้ำดำหัวที่ลาวที่กัมพูชา เหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมการตลาดของท่านภายในเส้นทางสายที่สอง ไม่ใช่เป็นสะพานมาสู่สายที่สาม ฉะนั้นไอ้เป้าหมายของผมที่จะให้คนปาลูกดอกว่าจะเอานั้น ถ้าจะมีทักษิณก็คือการที่ท่านเลือกจะขยายตัวเองจากแนวทางที่สองมาสู่สายที่สาม ผมก็เคยพูดกับท่านตรงๆ ว่าท่านอยู่ในฐานะที่ดีที่สุด เป็น First among equal นะ ท่านก็เท่ากับประชาชนคือท่านมีโอกาสมากกว่าประชาชนอีกหลายล้านคนในการที่จะนำขบวนนี้ไป แต่ว่ามันขึ้นกับท่านว่าจะพอใจที่จะมีความสุขจากการนี้หรือเปล่า ถ้าท่านไม่สนุกกับการเดินทางตรงนี้ท่านไปไม่ไหวหรอกเพราะมันหนักมันเหนื่อย แต่ถ้าหากว่าท่านไม่เอาตรงนี้จะกลับไปสบายก็ต้องถามว่าท่านอยู่ได้ไหมกับสิ่งที่ท่านเริ่มต้นมาอย่างสวยงามแล้วบอกว่าเอาแค่นี้ ผมมองว่าท่านเป็นผู้นำปฏิวัติได้แต่ท่านเลือกหรือไม่ ก็ยังไม่ชัด
ตรงนี้แหละที่ทำให้มองได้เช่นกันว่า ถึงที่สุดคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ก้าวพ้นทักษิณไป เพราะไม่ว่าจะมีทางเลือกไหน มีข้อเสนอใหม่อย่างไรก็ยังต้องอาศัยทักษิณเป็นผู้นำ
ผมก็จะถามกลับทุกครั้งว่า ลองเสกคาถาให้คุณทักษิณหายไปจากจอภาพ คนเหล่านี้จะกลับไปบูชาสิ่งเดิมไหม ถ้าเขากลับไปผมจะเชื่อเสื้อเหลือง แต่ถ้าไม่กลับไปต้องหาสีใหม่ไว้ให้เขานะ สีอื่นนะ สีบานเย็นหรืออะไรก็ได้ (หัวเราะ)
คนที่ฟังนิติราษฎร์ก็ยังเชียร์ทักษิณนะ
ก็ไม่เป็นไร เพราะคุณทักษิณยังเป็นทางที่สองหรือสามก็ได้ แต่ถ้าเขาบอกว่าหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ไปทางที่สาม แต่เขาคงไม่พูดหรอก เพราะเขาฉลาด
แต่ก็ทำให้ขบวนของเสื้อแดงปั่นป่วน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะทักษิณไม่มีความชัดเจน
ก็เป็นอย่างนั้น แต่ผมเข้าใจนะ ผมเข้าใจในความเหนื่อยยากของท่าน ในชีวิตนั้นท่านเลือกแล้วว่าจะเป็นนักธุรกิจ ชีวิตเลือกมาตั้งแต่อายุสามสิบ คนเป็นนักธุรกิจเขาตัดสินใจแล้วว่าจะช่วยตัวเขาก่อนแล้วช่วยสังคมทีหลัง เขาเลือกแล้วนะ เขาตั้งร้านเขาจะขายเราก่อนนะ เขาไม่ใช่จะแจกคนเร่ร่อนก่อนนะ ถูกไหม ถึงตรงนี้ต้องแฟร์กับเขานะ เขาไม่ได้ปกปิดอำพรางนะ เขาบอกแล้ว เราก็ต้องเอามาบวกลบคูณหารเอา ผมก็ต้องพูดว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนในขบวนการก็ต้องเป็น นายกทักษินพลัส คือนายกทักษิณแล้วบวกกับอะไรอย่างใหม่ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าไม่มีคุณทักษิณก็เหนื่อยตายเลย ต้องไปสร้างอะไรใหม่อีกเยอะเลย แต่ถ้าคุณทักษิณไม่มีอะไรใหม่คนก็จะบอกว่า เอ๊ะ เวลาผ่านไปไม่เห็นมีอะไรใหม่เลย ผมก็บอกกับท่านตรงๆ ท่านก็เลยสบอารมณ์กับผมบ้างไม่สบอารมณ์บ้าง
แต่ผมมาร่วมกับท่านไม่ได้อยู่กับบริษัทท่าน คือนายกทักษิณเหมือนนักธุรกิจที่ตั้งบริษัทหาเงินและทำสมาคมการกุศลด้วยน่ะ ผมไม่ได้อยู่ตรงบริษัทนะ ผมอยู่ตรงสมาคม ท่านก็ต้องเข้าใจ แต่เผอิญลูกน้องท่านสองกลุ่มมันก็ดูคละกันแล้วเวลาไปเจอกันใหนแต่ละที่ทุกคนก็หน้าตาเหมือนกันหมด เลยไม่รู้คนไหนบริษัท คนไหนสมาคม แต่วันนี้ผมขอบอกผ่านประชาไทว่าผมอยู่ตรงสมาคมไม่ได้อยู่ตรงบริษัท
แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ล่ะ อยู่ตรงบริษัทหรือสมาคม
(หัวเราะ) บริษัท ... แต่ทั้งหมดที่ผมพูดไม่ได้ชี้ปัญหาของฝ่ายเรา แต่ชี้ให้เห็นวุฒิภาวะว่าอยู่ตรงไหน ผมก็บอกแล้วว่าต้องทักษิณพลัส ฉะนั้นเมื่อเรามีตรงนี้แล้ว เราก็ต้องสร้างพลัสต่อไปที่เราต้องเอื้อมมือไปหาคนที่จะพลัสต่อ เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าความสัมพันธ์....สมมติว่าเรามีบริษัทจะไปคุยกับอีกบริษัทหนึ่งพ่อค้ากับพ่อค้าคุยกันง่ายนะ แต่ถ้าหากจะคบกันเอ็นจีโอขึ้นมา จะเลี้ยงข้าวเขาสักมื้อเขาไม่ยอมรับนะ เขาไม่ขาย เราจะคุยกับเขาอย่างไร นี่คือสิ่งที่บริษัทงง เพราะการสังสรรค์ทางความคิดไม่ใช่คนที่คนทุกประเภทเป็นคนบางเรื่องมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลาเพราะไม่เคยทำ บางคนเขาเคยทำก็เห็นว่าเป็นไปได้ การจูนคลื่นความคิด ทำให้คนที่เป็นนักคิดที่อยู่ในซีกฝ่ายบริษัทถึงได้อยู่ยาก อยู่เหมือนไม่อยู่เพราะไม่รู้จะพูดกับใคร แม้แต่คนในรุ่นเก่าๆ อย่างคุณปองพล อดิเรกสาร ที่มาจากตระกูลอภิสิทธิ์ชนที่รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนตัวเอง ก็แสลงกับพรรคไทยรักไทยเพราะมันสื่อสารไม่ได้ระหว่างคนสองกลุ่ม นี่คือตัวอย่างถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ก็เกิดทักษิณพลัสไม่ได้
คนเสื้อแดงจะจัดวางตัวเองในความสัมพันธ์นี้อย่างไร คือกระแสความนิยมของรัฐบาลในกระแสปรองดองก็ลดลงเรื่อยๆ
ตอบยาก ดีที่สุดที่จะตอบได้คือ พวกเราทุกคนควรจะรู้สึกดีใจที่เราจะมีตัวเลือก มีทางเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา มากกว่าทางเลือกรุ่นพ่อแม่เราที่มีแต่เพียงว่าจะปรับตัวเขาหาเขาหรือไม่ แม่กระทั่งธุรกิจที่ไม่อยากเดินไปสู่ธุรกิจอำมาตย์หรือทุนนิยมล้าหลัง ก็ยังเลือกเป็น SMEs ได้ นี่เป็นทางเลือกของชีวิตนะ ทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมาได้นี่ ผมไม่ได้มองว่านี่อยู่นอกกรอบประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ เหมือนคนรุ่นหลังได้ซื้อเวลาที่จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร มันเหมือนกับการวัดใจกัน ถ้าเราเป็นชาวต่างประเทศเราจะมองประเทศไทยได้ง่ายกว่าตัวเราเองเพราะเรารู้สึกมันยากที่จะพูด แต่สมมติว่าเราเป็นฟิจิ เรามองไทยว่าคนไทยบางคนตายไป บางคนเกษียณตัวเอง บางคนแก่ บางคนทะเลาะกันเองในหมู่พี่น้องครอบครัว บางคนเบื่อการเมืองขอไปทำธุรกิจก่อน บางคนเบื่อประเทศไทยขอไปทำงานต่างประเทศ ความคิดของคนเหล่านี้สุดท้ายจะกลับมาให้คำจำกัดความใหม่ของประเทศไทยว่าจะมีหน้าตาอย่างไร เราไปจำกัดตัวเองให้คิดเสกลประเทศไทย แต่ถ้าเราคิดสเกลภูมิภาคหรือระหว่างประเทศมันจะแก้ปัญหาประเทศไทยไดมากกว่านี้ โดยเฉพาะระยะนี้ซึ่งเป็นระยะคอย อย่างผมเองผมเป็นคนทำงานการเมือง ถ้าผมกลับประเทศผมก็ต้องเทคไซด์ข้างนี้ ผมก็ไม่กลับ ทำอย่างอื่นของผมดีกว่า
จากพื้นฐานทีเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญการต่างประเทศเมื่ออยู่ข้างนอกยังติดตามประเด็นการต่างประเทศไหม
ยังติดตามใกล้ชิด แต่ไม่ได้พูดออกไป ไม่อยากพูดเรื่องการเมืองช่วงนี้แต่อยากดูสถานะไทยในโลก กำลังจะเริ่มหาแพลตฟอร์มอยู่ อาจจะผ่านเว็บนี่แหละ
คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งยังติดคุกอยู่ รวมถึงคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จากการเป็น บ.ก.เรดพาวเวอร์ มีข้อเสนออะไรในการช่วยเหลือคนเหล่านี้
การลงโทษทางการเมืองเป็นหลักฐานที่ชี้สภาพการณ์ทางการเมือง คุณสมยศถ้าอยู่นอกประเทศก็ทำประโยชน์ได้เยอะ แต่ด้วยความที่แกมีภารกิจในประเทศสูงก็ไปถูกจับกุม ผมทำได้ก็คือการประชาสัมพันธ์ในประชาคมระหว่างประเทศในปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความอับจนของประเด็นนี้ก็คือว่า ถ้าประชาชนในประเทศยังไม่ลุกขึ้นมาชี้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน มันไม่มีประเทศภายนอกที่ไหนจะเข้าไปแทรกแซงได้ ที่ต่างชาติเข้าไปแทรกแซงลิเบีย ตูนีเซียได้ เพราะเขาแสดงให้เห็นว่าเขาสู้กับอำนาจในประเทศนะ แต่คนไทยไม่ได้แสดงแบบนั้นนะ ยังคงแสดงว่าถ้าปรองดองได้ก็ดี ความกดดันในทางระหว่างประเทศที่จะเข้าไปช่วยคุณสมยศ ช่วยคุณสุรชัย ช่วยนักโทษการเมืองจึงทำไม่ได้เต็มที่ และยังมีเรื่องของการเปรียบเทียบอีกอย่างเราเอาเรื่อง 91 ศพเข้าศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หลังจากนั้น 3 วัน ซีเรียมีกรณีเก้าพันกว่าศพ เรื่องไทยกลายเป็นเรื่องเล็กเรื่องน่าตกใจน้อยกว่า ก็เป็นความโชคร้ายของเราอันหนึ่ง ส่วนที่ว่าจะไปติดคุกแทนดีไหม ติดคุกเป็นเพื่อนดีไหม ผมคิดว่าไม่น่าจะประเป็นประโยชน์และผมคิดว่าคุณสมยศเข้าใจ
ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักสำหรับนักวิชาการ หรือคนที่อยู่ในต่างประเทศคือ มีข้อได้เปรียบ สามารถที่จะพูดได้ ปลุกเร้าคนได้ แต่ถึงที่สุดคนที่ตื่นขึ้นมาไม่รู้จะแสดงออกได้แค่ไหน กลับกลายเป็นเหยื่อทางการเมือง แกนนำหรือคนที่ปลุกเร้าจะตอบตัวเองอย่างไร รับผิดชอบอย่างไร
การต่อสู้ทางการเมืองมันลงเอยด้วยการเสียสละหลายรูปแบบ การติดคุกเป็นเรื่องหนึ่ง ยังมีเรื่องการเสียชีวิต การพิการ เสียโอกาสทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อครอบครัว หลายคนไม่ได้บาดเจ็บล้มตายเลย แต่ครอบครัวไม่มีกิน ลูกหลานหลายบ้านไม่มีเงินเรียนหนังสือ ถึงได้มีเรื่องการเยียวยาและยังไม่เป็นระบบ ซึ่งถ้าทำไม่ดีก็เหมือนกับการรับจ้างต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งถ้าทำไม่ดีจะน่าเกลียดมาก กลายเป็นโรงทานคนเสื้อแดง โรงทานมวลชน ซึ่งถ้าทำไม่ดี เราจะไม่มีเกียรติในการต่อสู้ครั้งต่อไป
และเราต้องอย่าลืมว่าคนที่ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาอยู่นอกบ้านเกิดเมืองนอน ก็เป็นคนที่ถูกกระทำอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงความทุกข์หรือคร่ำครวญ พูดตามคำพระก็เหมือนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์แต่เป็นทุกข์ที่ต่างรูปแบบกันไป ฉะนั้นถ้าถามว่าจะรับผิดชอบอย่างไรก็ต้องตอบว่า ต้องผลักดันให้การต่อสู้ของเราประสบผลสำเร็จเร็วที่สุด
“จุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยไทยตรงนี้ก็คือ เรากระเหี้ยนกระหือรือที่จะปรองดอง ไม่มีความอุตสาหะพอที่จะหาจุดตัดขาด ถ้าคนเรารอมชอมเร็วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทนได้แค่ไหน”
ในการต่อสู้ทางการเมืองต้องขยายแนวร่วม แต่จุดอ่อนอะไรที่ฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าเราเชื่อว่าคุณทักษิณเป็นประชาธิปไตย หรือแนวทางที่สามที่คุณจักรภพยังพยายามหาอยู่นี้ มีจุดอ่อนอะไรที่ทำให้ไม่สามารถขยายแนวร่วมดึงคนจากอีกฝั่งเข้ามาได้เสียที
มีสองสามจุด จุดแรกและน่าจะสำคัญมากคือตัวนายกทักษิณเองเป็นตัวแทนของประบอบทุนนิยมไม่ใช่ตัวแทนของประชาสังคมทำให้เครือข่ายที่จะร่วมต่อสู้นั้นลังเล ข้อสองคือ ขบวนการประชาธิปไตยรอบหลังที่เริ่มต้นด้วยรัฐบาลไทยรักไทยจนบัดนี้เป็นการต่อสู้เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยแทบไม่ได้พูดเรื่องความเสมอภาคหรือความเป็นธรรมทางสังคม มันทำให้คนที่ตอสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธา ยิ่งขณะนี้เป็นเรื่องการเยียวยา การชดเชย มันทำให้หลายคนรู้สึกว่านี่มันอะไรกัน เพราะถ้าพูดกันอย่างไม่เกรงใจกันแล้ว พูดแล้วจะถูกว่าก็ยอม ถึงที่สุดคือการต่อสู้ทางการเมืองต้องเป็นเรื่องการเสียสละไม่ได้อะไรกลับคืนเลยสักคนหนึ่ง จะจนยากอย่างไรก็ต้องรับผลนั้น ผมต้องขอพูดประโยคนี้ แต่แน่นอนล่ะคนด้วยกันเราก็เห็นใจกัน แต่ต้องอย่าให้ตรงนี้มาแทนจิตสำนึกของการต่อสู้ เพราะเราต้องไม่ลืมความดีงามว่ามวลชนเขามาต่อสู้ก็ไม่ได้หวังผลการเยียวยาตรงนี้ แต่เมื่อสู้แล้วลำบากก็ต้องเยียวยา ไม่ใช่เขามาสู้เพื่อให้ได้รับการเยียวยา และคนให้ต้องระวัง
สาม จุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยไทยตรงนี้ก็คือ เรากระเหี้ยนกระหือรือที่จะปรองดอง ไม่มีความอุตสาหะพอที่จะหาจุดตัดขาด ถ้าคนเรารอมชอมเร็วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทนได้แค่ไหน รอมชอม สมานฉันท์หรืออะไรก็ตาม มันฟังดูดีมากนะ แต่มันทำให้เราเก็บความไม่เด็ดขาด ตกลงไม่รู้ว่าขอบของสังคมอยู่ตรงไหนเพราะเรามีสิ่งนี้มาคลุมไว้แล้ว แต่แน่นอนว่าผมพูดไปผมก็ขัดกับตัวเองว่าอะไรที่ทำใหไม่ต้องเสียหายอีกก็คงวรจะดีใจ
คิดว่าจะกลับเมืองไทยเมืองไหร่ ด้วยเงื่อนไขอะไร
ไม่มีกำหนดกลับ แต่เงื่อนไขที่จะกลับคือ ผมอยากเห็นทางสายที่สามเป็นรูปธรรมขึ้น สองคือ (ยิ้ม) อยากให้ทุกคนได้รู้รสของปรองดองเสียก่อนว่า มันเปรี้ยวหวานมันเค็มอร่อยแค่ไหน หรือเป็นพิษแล้วค่อยคิดกลับ สาม ซึ่งเป็นเป้าหมายส่วนตัว ไม่ได้พูดให้เท่ห์น่ะ ผมคงกลับหลังประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นก่อน เพราะผมอยากขยายฐานการต่อสู้ของไทยให้กลายเป็นงานของประชาคมอาเซียน
ซึ่งยากมาก เพราะรัฐบาลในอาเซียนก็ไม่ได้มีระดับความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกับไทยสักเท่าไหร่
(ยิ้ม) มีมาเฟียที่เลวร้ายกับคนในบ้านตัวเอง และทำตัวเป็นเศรษฐีใจบุญนอกบ้านก็มีนะครับ ที่พูดนี่ไม่ใช่เป็นไอเดีย พูดเพราะมันมีอย่างนั้นจริงๆ