พระปกเกล้ายันรายงานปรองดองรอบคอบ-ขจัดขัดแย้งรอบใหม่

กรุงเทพธุรกิจ 4 เมษายน 2555 >>>




พระปกเกล้าขู่ถอนงานวิจัย หวั่นเกิดสงครามปรองดอง และเป็นการสถาปนาความยุติธรรมของผู้ชนะ อันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง

แถลงการณ์สถาบันพระปกเกล้า
เรื่อง รายงานการวิจัย "การสร้างความปรองดองแห่งชาติ"

ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่คณะผู้วิจัยได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทน  ราษฎรไปตามที่คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ขอให้ศึกษาแล้วนั้น
สถาบันพระปกเกล้าขอแถลงข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทางออกเพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศความปรองดองในชาติ ดังนี้

1. หน้าที่ทำการวิจัยที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรขอ โดยใช้เงินสถาบัน

สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541 ภายใต้กำกับดูแลของประธานรัฐสภา และมีหน้าที่ตามมาตรา 6 (8) ซึ่งบัญญัติว่า ให้สถาบัน “ส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา”ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 ให้สถาบันทำการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยตั้งคำถามว่า "อะไรคือปัจจัย หรือกระบวนการที่ทำให้การปรองดองแห่งชาติประสบความสำเร็จ" สถาบันจึงนำเรื่องเสนอเสนอสภาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพิจารณาคำขอดังกล่าว สภาสถาบันได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของสถาบันเอง
การดำเนินการวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาการรัฐสภาตามหน้าที่ของสถาบันในกฎหมาย โดยไม่มีการรับจ้างดังที่วิพากษ์วิจารณ์กันแต่อย่างใดดังนั้น ลิขสิทธิ์ของรายงานดังกล่าวจึงเป็นของสถาบันตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

2. การรับทำงานวิจัยได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้วจากสภาสถาบันพระปกเกล้า

เนื่องจากการขอให้ทำงานวิจัยดังกล่าว สถาบันไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และผลการวิจัย มีผลกระทบทางการเมือง สถาบันจึงนำคำขอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาสถาบันในการประชุมสภาสถาบัน ครั้งที่ 11 /2554 เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2554 สภาสถาบัน ซึ่งประกอบด้วยประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบัน ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธาน   กรรมการโดยตำแหน่ง คือ ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร 2 คน ประธานคณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 11 คน โดยมีเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นกรรมการและเลขานุการ ได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว มีมติให้รับทำการศึกษาโดยมีข้อสังเกตหลายประการ อาทิ ให้ขยายเวลาจาก 30 วัน เป็น 120 วัน ให้ดำเนินการโดยอิสระ และมีเสรีภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง มิให้ยกร่างกฎหมายเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งสถาบันก็ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าวทุกประการ

3. รายงานการวิจัยเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และความรับผิดชอบของคณะผู้วิจัย

เมื่อรับทำการศึกษาแล้ว สถาบันก็แต่งตั้งคณะผู้วิจัยขึ้นตามกระบวนการปกติที่เคยปฏิบัติมาประกอบด้วยผู้วิจัย 20 คน โดยมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้เวลาศึกษา 120 วัน ตามกรอบเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอ เมื่อมีการทักท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันก็ได้ลงไปตรวจสอบทั้งระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) และเนื้อหาสารัตถะ (content) ของงานวิจัย และข้อเสนอก็พบว่า กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวมีความถูกต้องตามหลักวิชาการควรแก่กรณี แม้ว่าเลขาธิการจะขอให้คณะผู้วิจัยนำข้อท้วงติงของทุกฝ่ายมาพิจารณาประกอบแล้ว คณะผู้วิจัยก็ได้ปรับแก้บางส่วนแต่คงยืนยันผลการวิจัย โดยเฉพาะข้อที่ว่าปัจจุบันบรรยากาศความปรองดองยังไม่เกิด เพราะทุกฝ่ายยังมีพฤติกรรมและท่าทีเหมือนเดิม คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการสร้างบรรยากาศความปรองดองทั้งระดับบน คือในฝ่ายการเมือง และระดับล่าง คือประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการจัดพูดคุยหาทางออกร่วมกัน (dialogue) จนมีฉันทามติในระดับเหมาะสม โดยนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิไปเป็นประเด็นในการพูดคุยหาทางออกร่วมกันคณะผู้วิจัยยืนยันว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ใช่ข้อสรุปที่ให้นำไปปฏิบัติทันทีแต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม  คณะผู้วิจัยจึงได้ทำหนังสือแถลงจุดยืนต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 และได้เตือนไว้ในหนังสือดังกล่าวว่าการรวบรัดใช้เสียงข้างมาก โดยไม่ทำตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัย จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงรอบใหม่ได้
การยืนยันผลการวิจัยของคณะผู้วิจัยดังกล่าวจึงเป็น ความอิสระและเสรีภาพทางวิชาการซึ่งมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ ที่สถาบันและผู้ใดก็มิอาจก้าวล่วงได้

4. สถาบันไม่จำต้องเห็นพ้องด้วยกับงานวิจัย และในฐานะผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวิจัย สถาบันทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ในการให้ใช้ หรือของานวิจัยกลับคืนได้ตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ความเห็นและข้อเสนอในรายงานการวิจัย หรืองานวิชาการอื่น ซึ่งสถาบันให้จัดทำทุกเรื่องตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมาจนถึงการวิจัยเรื่องนี้ ย่อมเป็นความเห็นของผู้วิจัยเอง สถาบันไม่จำต้องเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อลิขสิทธิ์เป็นของสถาบันตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 สถาบันก็ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการขอรายงานการวิจัยดังกล่าวกลับคืน และห้ามทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะชนได้ตามมาตรา 27 โดยเฉพาะเมื่อมีการเลือกนำรายงานบางส่วนไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง และอาจจะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้น หรือมีการรวบรัดนำประเด็นซึ่งผู้วิจัยเสนอให้นำไปพูดคุยแสวงหาทางออกร่วมกันไปปฏิบัติทันที โดยไม่ได้นำไปพูดคุยให้กว้างขวางทั้งประเทศ

5. ทางออกเพื่อความปรองดอง แห่งชาติอย่างแท้จริงซึ่งสภาผู้แทนราษฎร พึงมีมติในวันที่ 4 เมษายน 2555 ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่อันจะนำไปสู่ความรุนแรง และเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ สถาบันจึงเสนอให้

(1) คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมากควรมีมติรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งอ้างอิงผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าไว้ชั้นหนึ่งก่อน และขยายอายุคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ออกไปจนสิ้นสมัยประชุมสามัญสมัยหน้าเป็นอย่างน้อย และให้นำรายงานดังกล่าวไปจัดพูดคุยหาทางออกร่วมกันทั้งระดับพรรคการเมือง และในระดับประชาชนทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง โดยไม่เร่งรีบรวบรัดเลือกนำข้อเสนอที่ตน หรือพรรคของตนได้ประโยชน์ ไปปฏิบัติ ทั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นที่นักวิจัยเสนอให้นำไปพูดคุยหาทางออกจนได้ข้อยุติร่วมกันเท่านั้น
(2) ขอร้องให้พรรคฝ่ายค้าน และคนไทยทุกกลุ่มที่ต้องการเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า ด้วยความปรองดอง โดยมีภราดรภาพต่อกัน ให้ความร่วมมือในการพูดคุยหาทางออกร่วมกันทำนอง สุนทรียสนทนา (appreciative dialogue) หรือการเสวนาที่สร้างสรรค์ (Constructive dialogue) เพื่อยุติข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ลง
(3) ขอร้องให้สื่อมวลชนรายงานข่าวให้ครบถ้วนเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริง
(4) ขอร้องให้ประชาชนอย่าเพิ่งเชื่อคำพูดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนกว่าจะได้อ่านรายงานการวิจัยฉบับย่อ และรายงานการวิจัยฉบับเต็มใน www.kpi.ac.th แล้ว จึงค่อยตัดสินตามหลักกาลามสูตร
สถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาอย่างแท้จริง หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติตามข้อเสนอในข้อ 1 สถาบันก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการเปิดเวทีพูดคุยหาทางออกทั่วประเทศ โดยเฉพาะผ่านศูนย์การเมืองภาคพลเมืองของสถาบันซึ่งมี 48 จังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบกับรายงาน และแจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังข้อเสนอเดิมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อันจะนำไปสู่ความสับสนของประชาชน และนำไปสู่ "สงครามความปรองดอง" อันเป็นการสถาปนา"ความยุติธรรมของผู้ชนะ" ขึ้น ทั้งยังจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง และความรุนแรงนั้น สถาบันก็มีความเสียใจที่จะต้องขอรายงานการวิจัยดังกล่าวกลับคืนมา และหากผู้ใดจะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณะชน จะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสถาบันก่อน
สถาบันเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสงบ และปรองดองในบ้านเมืองจึงขอเรียกร้องให้ผู้แทนปวงชนทุกฝ่าย ตอบสนองความต้องการของปวงชน โดยใช้วิจารณญานที่รอบคอบ ปราศจากมานะทิฐิ และประโยชน์ส่วนตน หรือส่วนพรรคอย่างแท้จริง

สถาบันพระปกเกล้า
3 เมษายน 2555

สรุปข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

การวิจัยนี้มุ่งตอบคำถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรว่า “อะไรคือรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีปัจจัยหรือกระบวนการใดที่ทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ?”
ความแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวางในสังคมไทยที่ยืดเยื้อยาวนานที่แต่ละฝ่ายยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม เช่น มีการเปิดหมู่บ้านมวลชน มีการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำละเมิดหรือดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตลอดจนการข่มขู่ว่าจะแสดงพลังเพื่อกดดันให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายตนต้องการ ฯลฯนอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ความเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังพบอีกว่าแต่ละฝ่ายยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืนเดิมของตนเอง สะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศแห่งความปรองดองยังไม่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ต้องริเริ่มดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดอง
ในระยะเฉพาะหน้าก็คือรัฐบาล ฝ่ายค้าน และทุกฝ่ายควรช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองโดยการยุติการกระทำที่ถือเป็นการทำลายบรรยากาศแห่งการปรองดองทั้งหมด และไม่รวบรัดใช้เสียงข้างมากเพื่อแสวงหาทางออก แต่จะต้องมีการร่วมกันสร้างเวทีทั่วประเทศเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงกว้าง ต่อข้อเสนอ ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆ ในการสร้างความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น และหาทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายซึ่งจะส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถก้าวออกจากจุดยืนที่แตกต่างกันมาสู่จุดร่วมที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ดังนั้น กระบวนการพูดคุย (dialogue) จึงเป็นหัวใจของการปรองดอง
ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความคิดเห็นของฝ่ายใดที่ถูกหรือผิดไปเสียทั้งหมดข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องซึ่งยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่นั้น จึงมีลักษณะเป็นทางเลือกที่ยังมิใช่คำตอบสุดท้าย และขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดองบนพื้นฐานของความจริงจังและจริงใจด้วยกระบวนการพูดคุย (Dialogue) ใน 2 ระดับ คือ
1) ระดับตัวแทนทางการเมืองและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และ
2) ระดับประชาชนในพื้นที่ในลักษณะของ “เวทีประเทศไทย”
ซึ่งจะทำให้สังคมได้ร่วมกันแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน และออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทย ตลอดจนกติกาทางการเมืองที่ยอมรับได้ร่วมกันได้ และไม่ควรหักหาญดำเนินการใดไปก่อนจะได้รับความเห็นร่วมกันในสังคม
ทั้งนี้ เนื้อหาสาระของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรองดองนั้น มีอย่างน้อย 6 ประเด็น โดยแบ่งเป็นระยะสั้น 4 ประเด็นเพื่อทำให้ความแตกแยกและบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และระยะยาว 2 ประเด็นเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างของมุมมองต่อประชาธิปไตย และเป็นการวางรากฐานของประเทศสู่อนาคต
ในระยะสั้น มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้
(1) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุน ส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและป้องกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต
(2) การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย 2 ทางเลือก
ทางเลือกที่หนึ่ง: ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาทิ การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต
ทางเลือกที่สอง: ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เท่านั้น โดยคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต จะไม่ได้รับการยกเว้น
ทั้งนี้ ทั้งสองทางเลือก ให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้กรณีดังกล่าวดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมและนิติประเพณี
(3) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย 3 ทางเลือก
ทางเลือกที่หนึ่ง: ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
ทางเลือกที่สอง: ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความทางเลือกที่สาม - ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด จะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส. ในเวลาต่อมา เนื่องจากถือว่าการกระทำของ คตส. เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในขณะนั้น
(4) การกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันต่อประเด็นที่อาจจะถูกมองว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย และต้องหลีกเลี่ยงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ในแง่ที่ผู้มีอำนาจรัฐเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดโดยไม่ฟังเสียงที่เห็นต่าง
อนึ่ง ประเด็นที่ต้องพิจารณาอาจรวมถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบองค์กรอิสระ การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคการเมืองในระยะยาว มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้
(1) การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับและยึดถือร่วมกัน โดยการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันถึงลักษณะความเป็นประชาธิปไตยของไทยที่คนในสังคมยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ อันถือเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องในหลักการและกติกาทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทย
(2) การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและความทนกันได้ (Tolerance) ในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยรัฐบาลควร
(1) แสดงเจตจำนงทางการเมืองชัดเจน รวมทั้งมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว
(2) สร้างความตระหนักแก่สังคมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ และ
(3) มีคำอธิบายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก อาทิ การให้เกียรติผู้สูญเสียทุกฝ่าย หรือการสร้างสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่รำลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย
ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องนั้น
(1) ทุกฝ่ายควรงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ อาทิ การใช้มวลชนในการเรียกร้องหรือกดดันด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย และ
(2) ควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจถูกตีความได้ว่าเป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
(3) สื่อมวลชนควรสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดองและหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งใหม่โดยนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้าน
(4) สังคมไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการทำรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีตและต้องหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังที่กล่าวมาจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ
(1) เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
(2) กระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต
(3) ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาของประเทศไทย
อนึ่ง คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ริเริ่มกระบวนการพูดคุยร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน หลังจากนั้นจึงขยายผลการพูดคุยสู่พรรคการเมืองของตน กลุ่มผู้สนับสนุน และสังคมใหญ่ เพื่อให้ผู้คนทั้งสังคมที่ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองแบบใด เกิดความตระหนักว่า สังคมไทยจะปรองดองกันได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ผ่านกระบวนการพูดคุยที่สามารถนำมาซึ่งทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน
กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่กระบวนการสร้างความปรองดองในชาติจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าการถกเถียงกันเพียงแค่ในข้อกฎหมาย กล่าวคือ ต้องพิจารณาให้กว้างและลึกลงถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง คำนึงถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆในสังคม รวมถึงการมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมให้การยอมรับ ภายใต้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่ามีบทบาทและพื้นที่ในการเสวนาถกเถียงถึงภาพอนาคตของประเทศ อันเป็นเสมือนหลักหมุดปลายทางที่ทุกฝ่ายจะร่วมเดินทางไปภายใต้กติกาที่สังคมเห็นพ้องต้องกัน