สนธิ บุญยรัตกลิน: แนะรัฐบาลร่วมสร้างปรองดอง

ข่าวสด 23 เมษายน 2555 >>>




ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจสร้างความปรองดองจริง เชื่อว่าจะทำได้ แต่ผู้นำประเทศต้องวางตัวเป็น กลาง ไม่ใช่วางตัวอยู่ข้างหนึ่งแล้วไปทะเลาะกับอีกข้าง ต้องวางตัวว่า ฉันคือเสาหลักของประเทศ
ถูกวิจารณ์มากถึงท่าทีเปลี่ยนไปจากหัวหน้าคณะปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย. 2549 มาเป็นหัวขบวนสร้างปรองดอง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เปิดใจถึงจุดยืนและแนวคิดในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
สาเหตุของการตั้งคตส. และการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภา ดังนี้

ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้วมาเป็นประธาน กมธ.ปรองดอง หลายฝ่ายมองว่าเป็นบุคคลโลเล

บรรพบุรุษของผมอยู่ในประเทศไทยมากว่า 400 ปีแล้ว มีคุณปู่เป็นพระยา ทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินนี้มามาก จึงต้องหาวิธีการแทนคุณแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ผมทำเหมือนเอาคอพาดเขียง ถามว่าทำแล้วได้อะไรบ้าง ใครให้เป็นอะไรก็ไม่เอา
ยืนยันว่าผมไม่เคยเปลี่ยนแปลง ผมในวันนี้กับผมในอดีตยังเป็นคนๆ เดียวกัน
ผมเป็นคนปรองดองมาตั้งแต่เด็ก ยึดถือคติว่ามีศัตรูแค่ครึ่งคนก็ลำบากแล้ว แต่ผมจะไม่ขอพูดเรื่องอดีตแล้ว จะพูดแต่ปัจจุบันและอนาคต เพราะหยิบเรื่องข้างหลังมาพูด มีแต่จะยิ่งขัดแย้ง
บ้านเมืองเรามีอุปสรรคในการพัฒนา เพราะมัวแต่ยึดติดตัวบุคคลมากกว่าองค์กร ผู้น้อยก็หวังพึ่งแต่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็หวังได้ผู้น้อยมาสร้างบารมี ซึ่งความขัดแย้งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 และขัดแย้งรุนแรงสุดในปี พ.ศ. 2549 จากการปฏิวัติรัฐประหาร
ทั้งที่เหตุผลของการปฏิวัติจริงๆ แล้วคือเพื่อให้เกิดความสามัคคี เกิดความปรองดองของคนในชาติ
แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีรัฐบาลมาแล้ว 5 ชุด ไม่มีรัฐบาลใดจะสร้างความเข้มแข็งในกรณีนี้ ส่วนใหญ่ยังเน้นแก้ปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง แต่ในการพัฒนาสังคม การสร้างความรัก ความปรองดองของคนในชาติทำน้อยมาก
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจสร้างความปรองดองจริงเชื่อว่าจะทำได้ แต่ผู้นำประเทศต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่วางตัวอยู่ข้างหนึ่งแล้วไปทะเลาะกับอีกข้าง ต้องวางตัวว่า ฉันคือเสาหลักของประเทศ

ทำไมถึงนำบุคคลที่ขัดแย้งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแห่งรัฐ (คตส.)
ประเด็น คตส. หลังปฏิรูปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ผมมีเวลาทำงานเพียง 2 สัปดาห์ พยายามคัดเลือกคนที่ดีที่สุดในเวลานั้นมาสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ผมเองไม่ค่อยรู้จักใครแต่ได้พยายามเลือกคนที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาทำ และเมื่อแต่งตั้งแล้วก็ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำงาน

จะเสนอยกเลิกคำสั่ง คมช. ทั้งหมด เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าหรือไม่

การยกเลิกคำสั่งและประกาศของ คมช. มันเลยมาหมดแล้ว กลับไปทำอะไรมันก็ไม่ดีขึ้น
วันนี้ความขัดแย้งเกิดจากโครงสร้างจริงๆ มีการพูดเรื่องทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดชาเย็น ผมเคยส่งทหารเข้าไปทำวิจัยเล็กๆ ในหน่วยทหาร 3 หน่วยว่าคนในนั้นมีความคิดต่างกันอย่างไร ปรากฏว่าในองค์กรเล็กๆ นั้น แบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน
อย่างผู้ใหญ่ฝ่ายขวาพูด พอเข้ามาที่ทำงาน ฝ่ายซ้ายไม่ฟัง และเถียงกับการพูดของหัวหน้าฝ่ายขวา พออีกฝ่ายมาพูด ก็จะเกิดความขัดแย้ง ทำให้การเลือกตั้งคราวที่แล้ว ผู้ใหญ่บอกขวา มันไปซ้ายหมด
โดยเฉพาะหน่วยของผมที่ จ.ลพบุรี นายบอกขวา มันไปซ้าย 70-90 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาเรื่องการบังคับบัญชาแล้ว

บทบาทของกมธ.ปรองดองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

หน้าที่ของ กมธ. จบไปแล้ว หน้าที่ของผมในฐานะประธานกมธ.ก็หมดไปแล้ว ต่อจากนี้ก็มีหน้าที่ ส.ส. ในสภาเท่านั้น
ผลการทบทวนใดๆ ของรายงาน กมธ. ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเราแล้ว เพราะถือว่าภารกิจของเราก็ตามที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอผลวิจัยมา และถึงขณะนี้สถาบัน พระปกเกล้าก็ไม่ได้มีการถอนออกไป

ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าให้จัดทำเวทีสานเสวนาทั่วประเทศ

เวทีเสวนาทั่วประเทศนั้น หากถึงเวลาที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาและรัฐบาลแล้ว คงคิดหาวิธีว่าจะมีกระบวนการอย่างไรตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า
รัฐบาลอาจจะกำหนดและมอบหมายให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไปทำเรื่องนี้ก็ได้ เป็นกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาจจะตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาทำตรงนี้ และต้องรอผลสรุปออกมาว่าจะทำอย่างไร ต้องรอดูต่อไป เพราะขณะนี้ยังเพียงแค่นับหนึ่งเท่านั้น

การเยียวยาของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) จะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศได้หรือไม่
กมธ.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ผมมองว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ทาง คอป. เสนอ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าก็เห็นด้วยเพราะสอดคล้องกับตัวอย่างในหลายประเทศที่การเยียวยาจะนำไปสู่ความปรองดองในประเทศได้

มีหลายฝ่ายมองว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ที่พรรคเพื่อไทยพยายามเสนอเข้าสภาจะเป็นปมขัดแย้งรอบใหม่

พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่เกี่ยวกับกมธ.ปรองดองแล้ว เป็นเรื่องของสภา แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเนื้อหาใดๆ ของ พ.ร.บ. นี้
ถ้ารัฐบาลจะทำก็ต้องพิจารณากันอย่างใคร่ครวญ เพราะสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอมาแล้วว่า หากมีการนำงานวิจัยไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง จะไม่ได้สร้างความปรองดอง แต่จะเพิ่มความขัดแย้ง

พ.ร.บ.ปรองดอง จะสามารถทำสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่

ผมก็ยังตอบไม่ได้จริงๆ เพราะยังไม่เห็นอะไรเลย

นายกฯ ต้องลงมาเป็นผู้นำเรื่องปรองดองหรือไม่

การปรองดองเป็นภาระของผู้บริหารประเทศอยู่แล้ว เมื่อสังคมแตกแยก รัฐบาลและผู้บริหารประเทศจะต้องแก้ไข แต่จะมอบใครลงมาก็ได้
เรื่องปรองดองเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมตอบรับหมด ไม่มีใครปฏิเสธการสร้างความปรองดอง แม้แต่ฝ่ายค้านเอง แต่อาจมีมุมมองและแนวคิดวิธีการเท่านั้นที่แตกต่างกัน อันนี้เป็นปกติ

ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษบ้างหรือไม่

ไม่ได้คุยกัน และผมไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองไปยุ่งเกี่ยวเท่าไร เพราะพล.อ.เปรมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อย่าไปดึงท่านลงมาเกี่ยวข้องด้วย

ได้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ บ้างหรือไม่

ไม่ได้คุย ในส่วนของกมธ.ก็ไม่ได้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เลย แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ให้สัมภาษณ์แล้วว่าเห็นด้วยกับการปรองดอง

วางอนาคตการเมืองไว้อย่างไร

อนาคตทางการเมืองขณะนี้เพิ่งเข้ามาปีแรก ยังไม่ได้มองอะไรมาก เหลืออีก 3 ปี ยังอีกยาวไกล