รัฐบาลต้องไม่กลัวการตรวจสอบ

คมชัดลึก 23 เมษายน 2555 >>>




ปัญหาคอรัปชั่นยังคงบั่นทอนสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะได้ซึมซับไปทุกอณูประเทศตั้งแต่ระดับชาติลงไปสู่ท้องถิ่นยัง อบต. เทศบาล กระทั่งมีการปลุกกระแสประชาชนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ล่าสุดผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่องทัศนะของประชาชนต่อปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในเดือนเมษายน 2555 นั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่น 15.2% เป็นเรื่องที่ต้องเร่งลำดับสามที่รัฐบาลควรเข้ามาแก้ไข รองลงมาจากปัญหาการเพิ่มรายได้ของประชาชนและปัญหาค่าครองชีพที่มาเป็นอันดับหนึ่ง

ผลสำรวจยังบ่งชี้ให้เห็นด้วยว่า ปัญหาการคอรัปชั่นของประเทศมีมากขึ้น 75.9% มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีสัดส่วน 74.9% และในขณะเดียวกันส่วนใหญ่ 38.6% เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงจังน้อยมากในการแก้ไขปัญหา และเมื่อขอให้ผู้ถูกถามเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น พบว่ากลุ่มตัวอย่างยินดีมีส่วนร่วม 74.2% อยากมีส่วนร่วมแต่ไม่สามารถทำได้เพราะมีความจำเป็นทางธุรกิจ 23.9% ส่วนใหญ่ 35.6% เห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นของไทยสามารถแก้ไขได้ในระดับปานกลาง และต้องการให้รัฐบาลเป็นคนเริ่มก่อนในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น 33.8%
ขณะที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้สรุปผลการประชุมครั้งที่ 2 ถึงการติดตามโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมของรัฐบาลที่มีการใช้งบประมาณกว่า 1.2 แสนล้านบาท แต่ไม่พบการนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดใดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ มีเพียงแค่การจัดทำเว็บไซต์ที่ต้องใส่รหัสผ่านและไม่มีข้อมูลจากภาครัฐเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง เป็นที่รับรู้กันว่าปัญหาการคอรัปชั่นเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เป็นตัวที่กัดเซาะความสามารถ ประสิทธิภาพและโอกาสของประเทศ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ หากว่าประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องมีความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ให้ความสนใจหรือให้ความสนใจน้อย ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อภาคเอกชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวในการตั้งองค์กรต่อต้านการคอรัปชั่น หากรัฐบาลจะนั่งนิ่งดูดายก็จะเป็นการเสียโอกาสที่จะขจัดอุปสรรคในการบริหารประเทศให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง กรณีของงบประมาณที่ช่วยเหลือเรื่องอุทกภัย ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลยืนยันว่าจัดเป็นงบกลางจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่เอาเข้าจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดจะดำเนินการโครงการอะไรต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เช่นโครงการทำอะไร ที่ไหน ใช้เงินเท่าไหร่ ประมูลกันไปเมื่อใด ใครได้รับงานไป เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ สเปกงานเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนทราบว่าภาษีที่เสียไปนั้นประเทศชาติและตัวเขาได้อะไรกลับคืนมาบ้าง