กรุงเทพธุรกิจ 25 เมษายน 2555 >>>
ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง “สาธิต ส.ส.ระยอง ปชป.-ญาติเหยื่อตัดตอนยาเสพติด” ฟ้อง “นายกฯ-ครม.” มีมติ 6 มี.ค. 55 อนุมัติจ่ายเยียวยาไม่เป็นธรรม
นายวิสูตร วัจนะเสถียรกุล ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน และองค์คณะ คดีหมายเลขดำที่ 351/2555 มีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ นายสมชาย เกิดรุ่งเรือง ผู้จัดการมรดกและลุงของ ด.ช.จักรพันธุ์ ศรีสอาด หรือน้องฟลุ๊ค เหยื่อที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางชัน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2546 และนายตรีสิทธิ์ ศิริวรรณ ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมือง เมื่อเดือน พ.ค. 2535 หรือพฤษภาทมิฬ เป็นผู้ฟ้องที่ 1-3
ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่อง กระทำการโดยมิชอบ กรณี ครม. มีมติเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 55 ที่ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2548-2554 โดยไม่เท่าเทียมและไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม และเป็นการจ่ายเงินเยียวยาที่ไม่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงเป็นการจ่ายเงินที่ไม่มีความเสมอภาคและเป็นธรรม อีกทั้งการชุมนุมระหว่างปี 2552-2553 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้อง มีมติกำหนดกฎเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกันจากข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีอย่างเป็นธรรม แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และยังได้ขอให้ศาลดำเนินการไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำขอและเอกสารในสำนวน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่ามติ ครม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 55 ที่เห็นชอบให้เยียวยาด้านการเงินกับผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2548-2553 นั้น เป็นมติที่มีผลใช้บังคับเฉพาะกรณีผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบรุนแรงทางการเมืองช่วงปี 2548-2553 เท่านั้นไม่ได้มีผลเป็นการบังคับทั่วไป
มติดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นคำสั่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยมิชอบและอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่นายสาธิต ผู้ฟ้องที่ 1 เป็น ส.ส.ระยอง โดยไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องได้รับผลกระทบความรุนแรงทางการเมืองจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะมีสิทธิเยียวยาค่าเสียหาย ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี
ส่วนนายสมชาย ผู้ฟ้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเหตุการณ์ปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคนละกรณีกับที่มติผู้ถูกฟ้องที่ 2 กำหนดไว้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องเช่นกัน
ส่วนนายตรีสิทธิ์ ผู้ฟ้องที่ 3 นั้นแม้จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากมติ ครม. ดังกล่าว แต่การที่ผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติ ครม. ดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องที่ 3 ได้รับเงินเยียวยาที่เป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ฟ้องที่ 3 อยู่ดี ดังนั้นเมื่อคำขอที่จะให้ศาลบังคับ ไม่อาจแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนให้ผู้ฟ้องที่ 3 ได้ ดังนั้นผู้ฟ้องที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีเช่นกัน
ส่วนที่ระบุว่า มติ ครม. ที่ให้จ่ายเงินเยียวยานั้น เป็นการจ่ายเงินไม่ครอบคลุมถึงผู้ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบรุนแรงจากความขัดแย้งกรณีอื่น จึงเป็นการละเลยหน้าที่นั้น ศาลเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องทั้งสามแล้ว แปลความได้ว่า ประสงค์จะฟ้องว่า นายกฯและครม. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติกรณีไม่จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ฟ้องทั้งสาม
แต่การที่ข้อพิพาทจะเป็นคดีฟ้องในศาลได้ต่อเมื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องที่เป็นผลโดยตรงจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าเกี่ยวกับหน้าที่ทั่วไปผู้ฟ้องจะต้องมีหนังสือร้องขอให้หน่วยงานทางปกครองครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อเยียวยาความเดือดร้อน แล้วหากเจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉยละเลยจึงเกิดเป็นข้อพิพาทของการละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องทั้งสาม มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสองแก้ไขความเดือดร้อนแล้วเพิกเฉย ดังนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่จะทำให้ผู้ฟ้องเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีได้ ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ