กรุงเทพธุรกิจ 3 เมษายน 2555 >>>
“กล้านรงค์” ปลุกพลังสังคมไม่เอาทุจริต สร้างแรงกดดัน ซัด “เอแบคโพลล” ทำสำรวจสร้างความเข้าใจผิดให้คนยอมรับการคอรัปชั่น
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถาเรื่องจริยธรรมกับทางรอดประเทศไทย: ปัญหาและทางออก ในงานสัมมนาในโอกาสครบรอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า สิ่งที่จะเป็นทางออกของประเทศ คือ ต้องทำให้จริยธรรมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และต้องทำให้คนกลัวจริยธรรม กล่าวคือต้องสร้างความเข้มแข็งและความกล้าขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมจริยธรรม นอกจากนั้นแล้วต้องปลุกสำนึกของประชาชน ให้กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งเพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายราชการ ดังนั้นตนขอฝากให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินหน้าในเรื่องสร้างจิตสำนึกของประชาชนที่ไม่ยอมรับการคอรัปชั่น และไม่ยอมรับคนที่ทำทุจริต ทำผิดกฎหมาย
“ผมอยากสร้างกระแสความกดดัน ให้เกิดการไม่ยอมรับคนที่กระทำความผิด หรือได้มาในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้จะไม่ถึงขับไล่ แต่ต้องแสดงออกว่าให้บุคคลนั้นรู้ว่าสังคมไม่ยอมรับ เหมือนคนเมายาบ้า หรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ผมมองว่าหากสังคมไม่สร้างความกดดัน จะลำบาก นอกจากนั้นแล้วผมอยากให้เอแบคโพลล เปลี่ยนคำถามในการสำรวจความเห็นที่ระบุว่า ยอมรับได้หรือไม่หากรัฐบาลโกง แล้วประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติเจริญ ให้เป็นเชื่อหรือไม่ว่าหากรัฐบาลโกง แล้วจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีหรือชาติเจริญ ทั้งนี้ในประเด็นคำถามแรกนั้น เป็นการสำรวจที่ผิดตรรกะและสร้างสำนึกของประชาชนให้ยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น” นายกล้านรงค์ กล่าว
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่าการวัดค่าความโปร่งใสของประเทศไทยในปีนี้ ได้ 3.4 คะแนน ตนถือว่าเป็นระดับที่ไม่เลวร้ายเกินไป หากเทียบกับค่าสำรวจความโปร่งใส 17 ปีที่ผ่านมา ที่ถัวเฉลี่ยได้ 3.3 คะแนน ทั้งนี้มีประเด็นที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสได้ คือ จริยธรรม การทำดี ถูกต้องและทำด้วยความจริง อย่างไรก็ตาม สาเหตุการคอรัปชั่นและการทำผิดจริยธรรมนั้นเหมือนกัน มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่
1. กระแสบริโภคนิยม วัตุนิยม
2. โครงสร้างสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์ แบบแนวดิ่งที่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจมาก เพื่อให้ตนเองอยู่รอด และได้ตามที่ตนเองต้องการ
3. กระบวนการยุติธรรมในระบบไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้ตนไม่ได้หมายความว่าองค์กรในกระบวนการยุติธรรมต้องคิดและตัดสินอย่างเดียวกัน แต่การวินิจฉัยขององค์กรยุติธรรมต้องอยู่บนหลักพื้นฐาน เที่ยงธรรม ยุติธรรม และไม่อยู่ภายใต้สภาพการกดดันใดๆ แต่บ้านเมืองไทยปัจจุบัน ในบางเรื่องถูกสังคมพิพากษาไปตามความรู้สึก แต่องค์กรในกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักพยานหลักฐาน ความเที่ยงธรรมและไม่มีอคติ และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ตัดสินตามความรู้สึก แต่ตอนนี้สังคมไทยยังขาดความกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
4. การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง และ
5. ความเบื่อหน่ายและเพิกเฉยของประชาชนต่อการทุจริต ประเด็นนี้ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง
ภาคเอกชนแนะ 7 มาตรการสู้คอร์รัปชั่น
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การป้องกันการทุจริต คอรัปชั่น ได้จำเป็นต้องให้สังคมรับรู้ถึงโทษของการคอปรัปชั่น แม้ว่าการคอรัปชั่นจะส่งผลดีในระยะสั้น อาทิ กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แต่เมื่อพิจารณาแล้วในระยะยาวมีผลร้ายแรง ได้แก่
1. ลดประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง ซึ่งถือว่ากระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับสังคม ทำให้เกิดการบิดเบือนนโยบายการคลัง และทำให้การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติไม่มีประสิทธิภาพ,
2. คุณภาพของทุน และบริการพื้นฐาน อยู่ระดับต่ำ ไม่มีประสิทธาพในการแข่งขัน
3. ทำให้เกิดการเบี่ยงเบียนการจัดสรรทรัพยากรในเอกชน ทั้งเงินทุน คนมีคุณภาพ
4. ลดศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
“คำนิยามที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนา และเราตั้งเป้าว่าจะแก้ไขคำนิยาม ให้เป็นประเทศที่พัฒนา หากประเทศไทยยังคงนิยมการคอรัปชั่น เชื่อว่าเป้าหมายจะบรรลุได้ในปี 2600” นายบรรยง กล่าว
นายบรรยง กล่าวต่อว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่ามี 7 มาตรการที่จะต่อสู้กับการคอรัปชั่นได้ คือ
1. เปลี่ยนทัศนคติของคนสังคม ให้ไม่ยอมรับ หรือไม่เพิกเฉยกับการทุจริต คอรัปชั่น
2. การกระจายอำนาจรัฐ ในประเด็นงบประมาณท้องถิ่น ให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบ
3. แก้ไขระเบียบปฏิบัติของระบบราชการ ขจัดเงื่อนไขที่นำไปสู่การทุจริตโดยเฉพาะการใช้วิจารณญาณของผู้มีอำนาจ
4. แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างสมบูรณ์
5. เปิดเสรีระบบแข่งขันเพิ่มขึ้น
6. ส่งเสริมองค์กรภาคประชาชน ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ ข้อมูล และส่งไปยังสื่อมวลชน ประเทศไทยสำนักข่าวหลักไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และ
7. ร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งมีองค์กรที่ต่อต้านการคอรัปชั่น
“ควรริเริ่มจากภาครัฐ เพื่อให้การขจัดคอรัปชั่นเป็นไปอย่างได้ผล ทั้งนี้การประกาศต่อต้านการคอรัปชั่นของรัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม” นายบรรยง กล่าว