โอกาสและผลกระทบ AEC กับ อุตสาหกรรมไทย

บทความประจำสัปดาห์ 24 เมษายน 2555
โดย ก่อแก้ว พิกุลทอง ....




อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 โดยในระยะแรกนั้น มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ภายหลังได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า CLMV โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคอันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทาง เศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมและได้มีการรวมกลุ่มเพื่อขยายความร่วมมือและการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โดยมีการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
ด้านศักยภาพในปัจจุบันของอุตสาหกรรมไทย พบว่า การจัดตั้ง AEC จะเป็นผลดีต่อไทย เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด ประกอบกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยเอื้ออำนวยให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และที่ผ่านมาอาเซียนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทยทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่จะทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลการศึกษาของสำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่า การจัดตั้ง AEC จะส่งผลกระทบเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทยโดยสรุปได้ ดังนี้
1. เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการภายในประเทศ จากการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน และการเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมในบางกลุ่มสินค้าของอาเซียน
2. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนภายในประเทศ จากการดำเนินงานตามแผนงานในด้านการลดอุปสรรคทั้งด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งมีผลการศึกษาว่า การเป็น AEC จะช่วยให้ GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียน ขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 8-10 ต่อปี
3. เพิ่มการจ้างงานของประชากรภายในประเทศ จากการขยายตัวทางการค้าและการลงทุน เมื่อเปิดเสรีในสาขาบริการที่เน้นใช้แรงงาน จะทำให้สัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
4. ช่วยให้แรงงานฝีมือไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้น จากการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม ( MRA) ในสาขาแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก และนักบัญชี 

ผลกระทบและข้อควรระวังของ AEC ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย

แม้การพัฒนาสู่การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน แต่การที่ประเทศสมาชิกที่ยังคงเป็นคู่แข่งทางการค้ามากกว่าที่จะเป็นคู่ค้า และการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ยังคงประสบปัญหา การจัดตั้ง AEC อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยได้ อาทิ
1. สินค้าของประเทศอาเซียนอื่นเข้าสู่ตลาดไทยได้โดยไม่มีภาระภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยกลับมีมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนสูงกว่าการนำเข้าจากอาเซียน
2. ในด้านการลงทุน หากประเทศไทยไม่มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน (Labor productivity) และไม่มีการปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายให้มีความทันสมัยไม่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน อาจทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ใน ASEAN ที่เหมาะสมกว่า
3. การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี อาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานมีฝีมือของไทยไปประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และต้องจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเข้ามา อาจก่อปัญหาด้านสังคม

แนวทางการปรับตัวของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จากการศึกษาข้อดีและข้อเสียของการจัดตั้ง AEC ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย และนำข้อมูลข้างต้นมาวิเคราะห์ พบว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐของไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนี้
1. การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในด้านแรงงาน เทคโนโลยี รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้
2. การเตรียมความพร้อมระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
3. หาตลาดส่งออก ปรับปรุงการผลิตให้สามารถปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนได้ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดหาวัตถุดิบราคาถูกและมีคุณภาพดีในภูมิภาค
4. ภาครัฐทยอยเร่งดำเนินมาตรการด้านการเงินและการคลัง เช่น การเร่งปรับปรุงโครงสร้างภาษี การสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
5. ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิต (Production Network) เพื่อให้สามารถสร้าง Economy of Scale เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลกได้
เป้าหมายสำคัญของ AEC ไม่ใช่การแข่งขันกันแต่เป็นการส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภูมิภาค รวมถึงการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองของอาเซียนอีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ทั้งภูมิภาคมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น   ดังนั้น ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไทย ควรจัดเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับผลกระทบเหล่านั้น