วิญญูชนคนทั่วไปมีเหตุอันสมควรต่อการตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือ ที่ศาลจะหลุดพ้นจากอคติสี่ ในขณะที่มติหนึ่งมีนโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในอีกมติหนึ่งนั่งพิจารณาคดี, วินิจฉัย, พิพากษา ข้อพิพาทความผิดระหว่างผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 กับสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยทางกฏหมาย นัยหนึ่งของการกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดต่อความมั่นคง, ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว, เป็นความผิดระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับรัฐ, ขบวนการยุติธรรมไทยถือนัยนี้ดำเนินคดีความกับผู้ถูกกล่าวหา
ในทางกลับกัน ถ้าพิจารณาอีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ความผิดฐานนี้ย่อมเป็นความผิดส่วนตัว การกล่าวถ้อยคำ ดูหมิ่น หรือสบประมาทตามความในมาตรานี้จึงเป็นเรื่องของศรัทธา เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตามแม้ทั้งสองนัยเป็นการละเมิดสิทธิทางอาญา แต่มีผลแตกต่างกัน นัยแรกเป็นความผิดอันไม่อาจยอมความได้ กำหนดโทษขั้นต่ำสามปี ขั้นสูงสิบห้าปี ส่วนในนัยหลังเป็นความผิดอันยอมความได้ และมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหนึ่งหรือสองปี โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ความสุจริตของการกล่าวถ้อยคำ หรือการกระทำอันถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น[1]
เมื่อนำสองนัยมาเปรียบเทียบกัน, ลักษณะการกระทำความผิดประเภทเดียวกัน (ถึงแม้จะใช้คำแตกต่างกัน), แต่เป็นความผิดต่างฐานต่างหมวดความผิด, มีผลและโทษทางกฏหมายแตกต่างกัน ความเด่นชัดในเหตุที่แตกต่างกันเช่นนี้ก็คือ ฐานะของผู้ถูกหมิ่น, ถูกประมาท, หรือถูกละเมิด, ประวัติศาสตร์ที่ขาดการกวาดล้างชำระบอกให้คนไทยโดยทั่วไปเชื่อโดยสุจริตว่า บุคคลในฐานะหนึ่งควรได้รับการคุ้มครองพิเศษ แตกต่างออกไปจากฐานะของบุคคลธรรมดาอีกฐานะหนึ่ง
กล่าวตรงความหมายคือ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน และนี่คือความเป็นมาของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะบทบัญญัติปัจจุบัน ผู้ประกาศใช้จงใจเจตนา นำบทลงโทษมาเป็นเครื่องมือยืนยันถึง ความบกพร่องของการเขียนประวัติศาสตร์, ความแตกต่างกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชาติ, เป็นอคติความลำเอียง ขัดต่อหลักคุณธรรม-มนุษยธรรมทางกฏหมายอันมีมานับแต่แรก
ดังนั้น การกำหนดโทษบังคับต่อการที่ใครไม่ศรัทธาใคร โดยวิธีการการกำหราบปราบปราม มีโทษขั้นต่ำสามปี และกำหนดโทษขั้นสูงถึงสิบห้าปี ไม่ว่าจะมองทางใด ย่อมเป็นเรื่องเกินเหตุ, เกินสมควร, เกินความจำเป็น
เป็นเรื่องที่น่าประหลาดประการหนึ่งในขบวนการศาลยุติธรรมไทย แม้กฏหมายมาตรานี้เป็น ‘ผลไม้จากต้นไม้พิษ’ [2] ศาลยุติธรรมซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางหลักการ, ตัวบท, กฏหมาย นำมาซึ่งความยุติธรรม ตรงกันข้าม กลับเป็นผู้ใช้กฏหมายมาตรานี้โดยปราศจากความรู้สึกผิดต่อคุณธรรมทางกฏหมาย
ดุลพินิจปฏิเสธการให้ประกันตัวผู้ต้องหาก็ดี, การพิจารณาเป็นความลับก็ดี, หรือภาษาที่ใช้ในคำพิพากษาก็ดี [3] บ่งชี้ถึงนโยบายที่ต้องกำหราบปราบปรามผู้กระทำความผิดชนิด ‘กำปั้นเหล็ก’ โดยปราศจากข้อเสนอแนะ, หรือปรับปรุงแก้ไข ให้กฏหมายมาตรานี้สอดคล้องเป็นไปตามหลักคุณธรรมทางกฏหมาย
เมื่อเหตุกระทบถึงสิทธิของศาลยุติธรรม ศาลอ้างกฏหมายรัฐธรรมนูญ [4] แต่เมื่อยามกฏหมายรัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างสิทธิของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสิทธิของประชาชน ศาลยุติธรรมวางตัวคลุมเคลือ ไม่ชัดเจน ต่ออำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ควรมีกฏหมายหมายรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณาญาสิทธิราช หรือควรมีกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย ให้สิทธิเสียงประชาชน เป็นผู้อำนาจอย่างแท้จริง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติความเป็นมาของขบวนการผู้พิพากษาตุลาการ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่นั่นเป็นอดีต อดีตที่ผู้พิพากษา ตุลาการ ใช้ความสัมพันธ์ลักษณะตัวการตัวแทน [5] ในการไต่สวน ทวนความ คดีความ
แต่ปัจจุบันสมัย ถ้าผู้พิพากษาตุลาการ ศรัทธาต่อการปกครองประชาธปไตย สิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศย่อมเป็นสิทธิประธาน จึงไม่ควรมีเหตุสงสัยว่า ควรวางการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิของประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างไร ถ้าสิทธิของประชาชนเป็นประธาน ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องมีข้อความในรัฐธรรมนูญ บังคับให้นับถือหรือศรัทธาใคร ปัญหาตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ย่อมไม่เกิด
อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะความผิดตามมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่มีมาแต่อดีตแต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่สามารถ ยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันได้ แต่ถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าทางใด ปัญหามีอยู่ว่าใครจะเป็นผู้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ผู้พิพากษาตุลาการต้องถามตัวเองก่อนว่า อุดมการณ์ต่อความเป็นผู้พิพากษาตุลาการผู้ผดุงความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ยืนอยู่บนความคลุมเคลือของกฏหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยบ่งบอกชัดเจนว่า เป็นการปกครองชนิดไหน ระบอบประชาธิปไตย, แบบสมบูรณาญาสิทธิราช, หรือคาบลูกคาบดอก
ถ้าผู้พิพากษาตุลาการศรัทธาและเลือกประการแรก ดุลพินิจของผู้พิพากษาตุลาการย่อมถือสิทธิของประชาชนเป็นสิทธิประธาน ศาลต้องให้ผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ได้รับสิทธิประกันตัว, การพิจารณาต้องกระทำโดยเปิดเผย เป็นการสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบบอบประชาธิปไตย, ทั้งนี้ รวมถึงการหาหนทาง สนับสนุน ปรับปรุงแก้ไข บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ให้เป็นบทบัญญัติกฏหมายที่ขาดคุณธรรมทางกฏหมาย
การที่ผู้พิพากษาตุลาการผลักภาระให้ขบวนการทางรัฐสภาเป็นผู้แก้ไขแต่ฝ่ายเดียว โดยที่สถาบันผู้พิพากษาตุลาการนิ่งเฉย หรือยืนยันถึงความมีอยู่ของกฏหมาย มีนโยบายใช้กฏหมายมาตรานี้กำหราบปราบปรามผู้ถูกกล่าวหา ถ้า ‘กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา’ การประพฤติปฏิบัติปัจจุบันที่ผู้พิพากษาตุลาการใช้ดำเนินกระบวนการพิจารณาผู้ถูกกล่าวหา, จำเลย, หรือภาษาที่ใช้ในคำพิพากษา บ่งบอกถึงเจตนาภายในว่าผู้พิพากษาตุลาการยืนอยู่ตรงไหน
ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าอคติลำเอียงในขบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด ที่สำคัญที่สุดฝ่ายผู้พิพากษาตุลาการ เพราะเป็นขบวนการสุดท้ายถึงการชี้ขาดความเป็นตาย หรือเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย และทันทีที่ผู้พิพากษาตุลาการท่านใดมีศรัทธามีความรัก, ความผูกพันธ์, และต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมกล่าวได้ว่าผู้พิพากษาตุลาการท่านนั้น ขาดความชอบธรรมต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยตามความผิดมาตรา 112
ถึงแม้จะไม่มีกฏหมายให้อำนาจคู่ความกระทำการคัดค้านการนั่งพิจารณาตามกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง [6], อาญา [7] ได้ก็ตาม, แต่ตัวผู้พิพากษาตุลาการผู้นั่งพิจารณาคดีย่อมรู้แก่ใจว่า ท่านละเมิดหลักอคติสี่ อันเป็นมูลเหตุต่อความลำเอียง, ลำเอียงเพราะรัก, กลัว, โกรธ หรือหลง, ละเมิดจริยธรรมตุลาการที่ท่านเคยกล่าวถึง
วิญญูชนคนทั่วไปมีเหตุอันสมควรต่อการตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือ ที่ศาลจะหลุดพ้นจากอคติสี่ ในขณะที่มติหนึ่งมีนโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในอีกมติหนึ่งนั่งพิจารณาคดี, วินิจฉัย, พิพากษา ข้อพิพาทความผิดระหว่างผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 กับสถาบันพระมหากษัตริย์
การกระทำที่ผู้พิพากษาตุลาการปฏิบัติต่อผู้กล่าวหาปัจจุบัน เป็นกรรมที่ชี้เจตนาได้เป็นอย่างดี การประพฤติต่อกรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข จับผู้ถูกกล่าวหาใส่ท้ายรถตำรวจ ส่งประเด็นไปนำสืบตามหัวเมือง มีอะไรแตกต่างกับการปฏิบัติต่อนักโทษความผิดฐานขบถศึกตามกฏหมายสมัยอยุธยา [8] พาตัวไปประจานตามสาธารณะ ก่อนจะบั่นหัวให้สูญหายไปจากโลก
แปลกแต่จริง ความเป็นไทยที่บุคคลหลายๆฝ่ายเรียกร้องให้เมืองไทยมีความแตกต่างจากอารยประเทศอื่นคืออะไร คนที่เรียกร้องเหล่านี้ กำลังเรียกร้อง หรือกำลังอนุรักษ์เรื่องอะไร อีกหลายกลุ่มหลายฝ่ายกำลังค้นหาว่า หลายทศวรรษนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำไมเมืองไทยจึงไม่หลุดพ้นจากวงจรอุบาทก์จากอำนาจมืด ในจำนวนคำถามเหล่านี้ เหตุอันมีมูลให้วงจรอุบาทก์ดำรงค์อยู่ได้ประการหนึ่งก็คือ ผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญทางกฏหมาย ยอมรับใช้อำนาจมืด
สังคมไทยมีผู้เชี่ยวชาญ มือฉมัง แม่นยำในกฏหมายมหาชน แต่ยินยอมพร้อมใจ ขบถต่อหลักวิชาที่ตนเองร่ำเรียนมา ผูกไท้ใส่สูท รอเวลาให้คณะปฏิวัติ คณะรัฐประหาร เรียกตัว พร้อมที่จะช่วยร่างประกาศ, คำสั่ง ของคณะปฏิวัติ, รัฐประหารได้โดยสะดวกใจ ไม่รู้สึกผิด
ขบวนผู้พิพากษาตุลาการพร้อมที่จะยอมรับนิติประเพณี ‘เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฏหมายย่อมเงียบเสียงลง’ [9] ยอมรับหลักประกาศ, คำสั่ง ของคณะปฏิวัติ, รัฐประหาร เป็นกฏหมาย ออกจากผู้ถืออำนาจรัฐอธิปัตต์ ใช้บังคับได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้อำนาจรัฐมาโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่อย่างไร [10] กฏหมายอาญามาตรา 112 ขณะใช้บังคับนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ถ้าขบวนการตุลาการณ์ภิวัฒน์ไทยมีอยู่จริงตามกล่าวถึง และเป็นขบวนการแสวงหาและพิจารณาหนทางแก้ไขมาตรานี้มากกว่าการใช้นโยบายกำหราบราบรามผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112, หรือเข้าไปมีส่วนไล่ล่านักการเมือง, ขบวนการตุลาการณ์ภิวัฒน์อาจเป็นขบวนการทีมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันวงจรอุบาทก์ที่เกิดแก่สังคมไทยก็ได้ ไม่ต้องรอให้สี่ห้าปีลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันตายก่อน แล้วค่อยมาเปลี่ยนแปลง แก้ไข บางทีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรานี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าต่อไปย่อมเป็นได้
ผู้เรียงบทความนี้ ไม่หวังอะไรมากว่า ขบวนการพิพาพกษาตุลกการใช้หลักเมตตาธรรมและคุณธรรมทางกฏหมาย พิจารณาความเป็นมาและการบังคับใช้บทบัญญัติความผิดตามมาตรานี้
ทฤษฎี ‘เอาอำนาจเข้าข่ม’ คงไม่ได้รับประโยชน์อะไร นอกจากมีคนต้องติดคุกเพิ่มขึ้น จริงอยู่ การกล่าวร้ายใส่ความ, ดูถูกเหยียดหยามผู้ใดเป็นเรื่องไม่สมควร, แต่ในสถาณการณ์การเมือง ที่ชาวบ้านตาดำๆ ถูกประหัตประหาร โดยปราศจากการไต่สวน ทวนความ จากขบวนการยุติธรรม หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้ เหตุการณ์เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ย่อมนำมาซึ่งความสงสัยและศรัทธาต่อขบวนการทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง
มูลเหตุทางการเมืองและความเสื่อมทางศรัทธาเช่นนี้ บุคคลที่ขาดศรัทธาต่อบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่ใช่อาชญกรโดยสันดาน ผู้สมควรต้องโทษขั้นต่ำถึงสามปี
‘สัญญลักษณ์อย่าแตะที่สูง’ ตามที่ผู้พิพากษาตุลาการหลงเชื่อ นอกจากเป็นวิถี ของการไม่ส่งเสริมการพัฒนาก้าวหน้าของระบอบประชาธปไตยแล้ว ในอนาคตอาจไม่เป็นผลดี, อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย, หรือแม้แต่ความอยู่รอดของสถาบันพระมหากษัตริย์เอง
ไม่มีผู้ใดในโลกนี้ยินดีกับการถูกตำหนิ ลงโทษ โดยอคติและลำเอียง ถ้าไม่เชื่อ ลองถามบรรดาผู้พิพากษาตุลาการที่นั่งอยู่หัวแถวขณะนี้ก็ได้ว่า ท่านรู้สึกอย่างไรเวลา ท่านถูกให้ออกจากราชการในยุคขบถตุลาการปี 2535 ถามท่านวิชา มหาคุณ, หรือท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ด้วยยิ่งเป็นประโยชน์ ท่านที่กล่าวถึงนี้ แค่ถูกลงโทษทางวินัย แต่ผู้ที่อยู่ในคุก อาจเปรียบเทียบกันไม่ได้
บทสรุปของบทความนี้ จบลงด้วยประเด็นคำถามว่า
- ถ้าอำนาจศาลเป็นอำนาจอิสระ ผู้พิพากษาตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 มีอำนาจอิสระจริงหรือไม่
- ถ้าผู้พิพากษาตุลาการท่านใดมีศรัทธามีความรัก, ความผูกพันธ์, และต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาตุลาการท่านนั้น ควรจะทำใจอย่างไรเมื่อได้รับมอบหมายให้นั่งพิจารณาคดี
- ถ้าบทบัญญัติมาตรานี้ ถูกวิพากษ์ว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อคุณธรรมทางกฏหมาย ผู้พิพากษาตุลาการ ควรเข้ามีส่วนร่วมแก้ไขอย่างไรบ้าง, รวมถึง
- ผู้พิพากษาตุลาการควรยืนอยู่ตรงไหนต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญ ต้องการให้รัฐธรรมนูญออกมาในรูปร่างไหน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแบบที่เป็นประชาธิปไตย, สมบูรณาญาสิทธิราช, หรือคาบลูกคาบดอก
อ้างอิง
[1] ประมวลกฏหมายอาญา, ภาค2, หมวด3, มาตรา 326-333
[2] คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519
ผู้เขียน:เปรียบเทียบ,‘fruit of the poisoned tree’, หลักวินิฉัยพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย, Ken Crispin, The Quest for Justice, Scribe Publication, Carlton North, Victoria, Australia 3054, page 111
[3] คำพิพากษาฎีกา 1294/2521, 2354/2531, คำพิพากษาคดีอากง,คดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554
[4] คำพิพากษาฎีกา 3152/2532
[5] วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์,บรรยายพิเศษ,การรับฟังพยานหลักฐาน วินิจฉัยข้อเท็จจริงของคดีอาญา(ตอน 4),ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการตุลา การ 8 สิงหาคม 2546, ห้องสมุดอีเลคโทรนิคส์ศาลยุติธรรม,ศูนย์วิชาการศาลยุติธรรม,หน้า 18
[6] วิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 11
[7] วิธีพิจารณาความอาญามตรา 27
[8] เสนีย์ ปราโมช,กฏหมายกรุงศรีอยุธยา,ห้องสมุดอีเลคโทรนิคส์ศาลยุติธรรม,ศูนย์วิชาการศาลยุติธรรม,หน้า 21-22
[9] นิติราษฏร์, คู่มือประชาชนล้มล้างรัฐประหาร, หน้า 7
[10] กีรติ กาญจนรินทร์, คำพิพากษาส่วนตัวที่ อม.9/2552