"กกต." ยืนกรานขอ กมธ.คลอด พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ร. ถูกเมินเล็งใช้ กม. ท้องถิ่นแทน

มติชน 30 มีนาคม 2555 >>>


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและการดำเนินการยกร่างระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ที่มีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ทำหน้าที่เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้ประชุมพิจารณาในประเด็นที่ กกต.ได้มีมติให้สำนักงาน กกต. แจ้งต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ว่าหากจะให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น กกต.จะเสนอแนวทางแรกขอให้ กมธ. ออกกฎหมายเฉพาะมาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่อาจต้องใช้เวลายกร่างกฎหมายดังกล่าว 3-4 เดือน ซึ่ง กกต. เห็นด้วยกับแนวทางนี้มากที่สุด แต่ กกต. ไม่เห็นด้วยกับการให้ กกต.อาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
นายบุณยเกียรติกล่าวว่า ทั้งนี้ หาก กมธ. ไม่ดำเนินการให้ออกกฎหมายเฉพาะแล้ว ที่ประชุมจะเสนอแนวทางที่ 2 ไปยัง กมธ. ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 291/5 วรรคสี่ โดยบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาบังคับใช้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดการเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และเป็นการจัดการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน เหมือนกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
ทั้งนี้ การใช้กฎหมายท้องถิ่นมาจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะได้บัญญัติในกฎหมายสูงสุดแล้ว โดยสามารถบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าจะงดเว้นการใช้มาตราใดใน พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ เพื่อนำมาจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่แนวทางนี้แม้จะรวดเร็วแต่ก็มีผลเสียที่อาจมีการพิจารณาโดยไม่รอบคอบได้และไม่ทั่วถึงกว่าการออกกฎหมายเฉพาะ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้อีกครั้ง