ทำไมประชาธิปัตย์จึง ... ไม่ชนะ

มติชน 4 มกราคม 2555 >>>




หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 "คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ" ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคเพื่อไทยว่า ... ที่แพ้ในเหนืออีสาน เพราะคนเขาไม่เลือก แล้วจะไปทำอย่างไรได้ พร้อมให้เหตุผลว่า เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยใช้กระบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนจัดตั้งที่ได้ผล
อีสาน คิดว่าจะได้ 10 พอเอาเข้าจริงได้แค่ 4
เหนือ คิดว่าจะได้ 21 เสร็จแล้วก็ได้แค่ 13
คุณสุเทพ ยังมองว่า เพื่อไทยชนะเพราะการตลาด ... "การจัดตั้งพรรคเพื่อไทยเข้าดี ใช้การตลาดดีมาก มีการโหมโฆษณาเหมือนสินค้าตัวใหม่ไม่เคยออกสู่ตลาดเลย 6 สัปดาห์ก็ติดตลาด (หมายถึงคุณยิ่งลักษณ์)"
แต่ก็อดที่จะแขวะอดีตนายกฯ ทักษิณไม่ได้ โดยพูดว่า ตนขอเอาใจช่วย ขอให้เป็นนายกฯ นานๆ (หมายถึงคุณยิ่งลักษณ์) แล้วทำสิ่งดีๆ ให้ชาติบ้านเมือง อย่าเอาตัวอย่างที่ไม่ดีที่พี่ชายทำไว้มาทำซ้ำอีก
ตัดไปฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามบ้าง "อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช." (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ชี้เปรี้ยงสำหรับคำถามเดียวกันว่า ที่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งก็เพราะ มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามประชาชน ไม่เอาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังบริหารประเทศไม่เป็น สร้างแต่ความขัดแย้ง ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง
   "นั่นคือมุมมองของ key man สองฝากฝั่ง ซึ่งก็แตกต่างกันชนิด "ไม่เผาผี" ตามความคาดหมาย"
ประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะเพื่อไทย (หรือพรรคที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น mastermind) ได้เลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพร้อมทุกๆ ด้านอยู่ในมือ ปี พ.ศ.2544 แพ้ทั้งที่คุณชวนยังนั่งเป็นนายกฯ รักษาการอยู่ ส่วนปี 2554 ก็แพ้ชนะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ รักษาการ เช่นกัน โปรดดูตารางผลการเลือกตั้งประกอบ
ผลการเลือกตั้งปี พ.ศ.2550 ยิ่งน่าสนใจใหญ่ ท่ามกลางแผนบันไดไม่รู้กี่ขั้นต่อกี่ขั้น รัฐบาลรักษาการก็เป็นผลพวงจากการปฏิวัติของ คมช. รัฐธรรมนูญก็ร่างขึ้นมาตามกรอบของฝ่ายไม่เอาทักษิณแต่ผลลัพธ์กลับเป็นพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้ครองเสียงข้างมากชนะพรรคประชาธิปัตย์ชนิดทิ้งห่างร่วม 70 เสียงเลยทีเดียว!
   "อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้ซ้ำซาก แพ้วกวน (สำนวนนักประท้วงในสภา) อยู่นั่นแล้ว เป็นประเด็นที่น่าขบคิด โดยเฉพาะสำหรับขุนพลของ ปชป.เอง ซึ่งจะได้ทำการสรุปบทเรียน เพื่อนำไปแก้ไขในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ ... ไม่อาจทราบได้ ?!"
1. "ประชาธิปัตย์แพ้เพราะชอบ "ปรามาส" ประชาชน" คนประชาธิปัตย์ทำเรื่องนี้กันทั้งพรรค (ซึ่งแปลกมาก) เสมือนหนึ่งไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ย้อนกลับไปที่ย่อหน้าแรกของบทความนี้ก็ได้ คุณสุเทพให้เหตุผลของการพ่ายแพ้ครั้งล่าสุดว่า "เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยใช้กระบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนจัดตั้ง" อันแปลความได้ว่า ผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเป็นมวลชนจัดตั้ง ส่วนผู้ที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นคะแนนบริสุทธิ์
เหตุผลอมตะที่ ปชป.ชอบกล่าวอ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งอดีตนายกฯ ชวน ก็คือ "ปชป.แพ้เพราะไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง" อันแปลความหมายได้คล้ายคลึงกันคือ ผู้ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเป็นพวกขายเสียง ส่วนผู้ลงคะแนนให้ ปชป. คือเสียงบริสุทธิ์
การปรามาส (อาจจะโดยไม่ตั้งใจ หรือไม่รู้ตัว) เช่นนี้เอง ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์พากัน "รู้สึก" เจ็บลึกๆ ว่าตนกำลังถูก "เหยียดหยาม" และปรากฏบ่อยมาก (เพราะทุกครั้งที่แพ้ ... ปชป.ก็จะออกมาทำดังว่านี้ทุกทีไป)
   "นี่เป็นข้อสังเกตแบบหวังดีนะครับ หากมองเป็นกระจกก็จะขอบคุณมาก"
2. "แพ้เพราะ "กระแสภาคนิยม"" ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าของชาวประชาธิปัตย์ เพราะกระแสนี้เองที่เป็นดาบ 2 คม กลับเข้าเชือดเฉือนตนเอง ควรทราบว่าแต่เดิมนั้นคนไทยอาจไม่ได้คิดว่าตนเป็นคนภาคใดดอก ทุกคนล้วนเป็น "คนไทย" ก็แค่นั้นจริงๆ แต่ครั้นผลการเลือกตั้งออกมาเป็น คนใต้เลือกประชาธิปัตย์ "ยกภาค" ทุกครั้งไป วาทกรรม "ภาคนิยม" ก็เลยเกิดขึ้น และเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อปรากฏการณ์ "ความแตกแยกครั้งใหญ่ในแผ่นดินสยาม" เสื้อเหลือง-ภาคใต้ เหนือ อีสาน-เสื้อแดง อะไรประมาณนี้ ศึกหนักจึงตกอยู่ที่ประชาธิปัตย์ เพราะจำนวนที่นั่งในสภาภาคใต้ต่ำกว่า "เหนือ + อีสาน" ถึง 140 ที่นั่ง (ใต้ 53 ที่นั่ง เหนือ+อีสาน 193 ที่นั่ง)
   "วันนี้ พรรคที่อยากให้กระแสภาคนิยมหายไปจากประเทศไทย จึงกลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ... ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย !"
3. "แพ้เพราะ ... ก้าวไม่ข้าม "ทักษิณ"" หลักฐานทนโท่อยู่ในย่อหน้าที่ 3 ของบทความนี้ตรงที่คุณสุเทพฝากถึงคุณยิ่งลักษณ์ว่า "ขอให้เป็นนายกฯ นานๆ แต่อย่าเอาตัวอย่างที่ไม่ดีที่พี่ชายทำไว้มาทำซ้ำอีก" นั่นไงครับ
วาทกรรมที่แม้นาทีนี้พวกเราก็ยังได้ยินคือ "อย่าทำเพื่อคนคนเดียว" ตัวอย่างเช่น สภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ค่าที่มีที่มาจากการปฏิวัติโดย คมช. สังคมก็จะได้ยินเสียงกระทุ้งดังๆ ออกจากพลพรรค ปชป.ว่า เป็นการทำเพื่อคนคนเดียว อันหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นเอง
โรคก้าวไม่ข้ามทักษิณ ทำให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดไปเยอะ เพราะช่วงเป็นรัฐบาล 2 ปีของคุณอภิสิทธิ์ มีประเด็นกับหลายประเทศก็ด้วยเรื่อง พาสปอร์ตและวีซ่าของคุณทักษิณ ทะเลาะกับประเทศกัมพูชาจนถึงขั้นเรียกเอกอัคราชทูตกลับ ก็เพราะนายกฯฮุน เซนตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ฯลฯ
   "ยิ่งตามจิกคุณทักษิณ ก็ยิ่งไปเสริมสาเหตุข้อ 1 กับข้อ 2 คนเหนือกับอีสานที่เขารักทักษิณ จะเลือกประชาธิปัตย์ได้อย่างไร อุตส่าห์มีนักการตลาดมือดีอยู่ในพรรคระดับอดีตซีอีโอของฟริโตเลย์
น่าจะกระซิบบอกคุณอภิสิทธิ์สักหน่อยว่า Market Share นั้นมันต้องมาจาก Share of Mind
4. "แพ้เพราะไม่เคย "คิดเชิงยุทธศาสตร์" ในการบริหารจัดการ" ทำแต่เรื่องหยุมหยิม เช่น แก้ปัญหาราคาไข่ไก่ด้วยมาตรการ "ไข่ชั่งกิโล" คอยจับผิดว่าเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศไหนไปต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณบ้าง ฯลฯ ตลอด 2 ปีที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แทบไม่เคยได้ยินว่าประเทศไทยจะมีเป้าหมายแลวิสัยทัศน์เป็นอย่างไร ขณะที่เวียดนามมุ่งพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย (Modern Industrialized state) ในปี 2020 และมาเลเซียจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปีเดียวกันนั้น (Wawasan 2020 หรือ Vision 2020)
ข้อจำกัดในเรื่องนี้ ทำให้แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองที่มีความคิดแบบมืออาชีพ (Professional) ก็ยังออกอาการเอือมระอา ปชป.ไม่น้อยเลยทีเดียว
   "ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการอย่าง ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เคยบอกไว้ว่า ... "เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ภารกิจแลเป้าหมายต้องขยับขยาย และสมรรถนะ (Competencies) ควรต้องปรับเปลี่ยน"
ประชาธิปัตย์ที่เคยครองใจปัญญาชนและผู้รักประชาธิปไตยมานมนาน อาจยังไม่สาย ถ้าจะนั่งลงทบทวนบทเรียนรอบด้าน และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของพรรคเสียใหม่ โดยอาจเริ่มต้นจากข้อสังเกตที่ผู้เขียนตั้งมานี้