อนุช อาภาภิรม: คนชั้นบนต้องแบ่งปันคนชั้นล่าง

โพส์ททูเดย์ 4 มกราคม 2555 >>>




ความขัดแย้ง การปรองดอง ภัยพิบัติ ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกภัยที่กล่าวมายังพุ่งตรงเป็นปัจจัยเสี่ยงในปี  2555

อนุช อาภาภิรม หัวหน้าโครงการวารสารวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มองสถานการณ์ประเทศในปีมะโรงว่า ปัญหาใหญ่ทางการเมืองวันนี้ คือ ความขัดแย้งระหว่างมวลชนรากหญ้ากลุ่มใหญ่กับชนชั้นบนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ คนข้างล่างอยากมีบทบาทบ้าง เพราะที่ผ่านมาชนชั้นนำตั้งรัฐบาลฝ่ายเดียว และใช้อำนาจของตนเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งมันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน เพราะคนชนบทอยากตั้งรัฐบาลของเขาเอง
   “ความขัดแย้งสองขั้วมันมีทางออกหลายอย่าง เช่น การปรองดอง สู้กันไปเรื่อยๆ หรือรบให้แตกหัก แต่ดูแล้วการปรองดองท่าจะเจ็บตัวน้อยกว่า เพราะมันเจ็บตัวน้อยกว่าเพื่อน แต่ระหว่างปรองดองก็เป็นแบบรบยืดเยื้อ ไม่แตกหัก ผมเห็นว่าเรายังมีโอกาสที่จะปรองดองได้ อยู่ที่ผู้แสดงจะเล่นไม่เล่น”
อนุช บอกว่า ปมความขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สมมติถ้าวันนี้ยก พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากปัญหาต่างๆ ถามว่าความขัดแย้งจะหมดไหม ก็ไม่หมด ปัญหาอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีมายาวนาน ซึ่งประเทศไทยเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง หากไปดูเงินฝากในธนาคารตกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
   “ความเหลื่อมล้ำมันมีมาก ที่จนสุดก็มี จนกลางๆ ก็มี ที่สำคัญคือ รวยแล้วกำลังจะจน ผมว่าอันนี้หนักสุด คนกลุ่มนี้มีความรู้มันจะสู้ จะเป็นคนนำข้างล่าง อย่างที่เกิดในสหรัฐที่ยึดครองวอลสตรีต มันคล้ายๆ กัน”
อย่างไรก็ตาม อนุช เชื่อว่าถึงแม้ประเทศไทยจะขัดแย้งรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีโอกาสของความปรองดอง เพราะรัฐบาลนี้คนชั้นล่างเป็น|ผู้เลือกมา แต่องค์ประกอบในตัวรัฐบาลเป็นคนชั้นบน เช่น ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นพันล้าน สะท้อนว่าไม่ใช่รัฐบาลของคนจนโดยเด็ดขาด
อนุช วิเคราะห์ว่า ปี 2555 ยังมีความแหลมคมของสถานการณ์อยู่ แม้ว่าสถานการณ์การแบ่งขั้วจะผ่อนคลายลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในขีดอันตราย ช่วงที่ผ่านมาเรายังต่อสู้โดยมีเหตุผลพูดอยู่บ้าง ซึ่งจำนวนหนึ่งพูดภาษาปฏิบัติการข่าวสาร หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปล่อยข่าวลือสารพัดทั้งที่รู้ว่าไม่จริง หากในอนาคตการต่อสู้เขยิบไปอีกขั้น มันก็เป็นขั้นลงมือกัน ฉะนั้นต้องระมัดระวังไม่ให้เลยจุดตรงนั้น
อนุช กล่าวว่า ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือ เงินยังดูดจากข้างล่างสู่ข้างบน ความมั่งคั่งมันไม่กระจาย เมื่อเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องกระจายความเจริญให้ไปสู่ฐานล่าง ยิ่งในปัจจุบันเกิดวิกฤตทั้งโลก โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ความมั่งคั่งที่จะแบ่งปันกันก็น้อยลง คนข้างบนเอาไปมาก ก็ยังมีเหลือให้ข้างล่าง แต่ต่อไปนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้าข้างบนตักตวงไปมาก ก็จะไม่เหลือให้ข้างล่าง สถานการณ์มันเป็นทั้งโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย
   “คนข้างล่างเขาไม่ต้องการมาก อยากให้ลูกมีการศึกษา มีอาชีพพอกินพอใช้ เขาไม่ได้ต้องการอะไรเยอะแยะ ตำแหน่งเขาก็ไม่ได้ต้องการ เพราะรู้ว่าขึ้นมาไม่ได้ เขาต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเจ็บป่วย ความต้องการเขาพื้นๆ อย่างนี้ถ้าใครเป็นนายกฯ แล้วสนองนี้ได้ เขาก็รับนะ แต่ที่แล้วมาไม่สนอง”
สำหรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศเพิ่มจากปัจจัยการเมือง อนุช เห็นว่า ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทย เหมือนกับเราเพิ่งผ่านสงครามกลางเมือง เพราะเกิดความเสียหายทางวัตถุมาก ดังนั้นถ้าอยากจะรบกันต่อ โอกาสที่จะฟื้นฟูก็ยิ่งช้าอีก จึงเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันบูรณะประเทศ เลิกตะลุมบอนกัน
   “ผลกระทบจากน้ำท่วมถ้ามีความเสียหายสูงถึง 1 ล้านล้านบาท มันก็หลายเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าเราไม่ฟื้นฟู เศรษฐกิจจะทรุด หนี้สินสาธารณะของเราคิดเป็นจีดีพีจะสูงขึ้น
...บทเรียนจากผลกระทบน้ำท่วม ถ้ามันเกิดสำนึกได้ว่าปัญหาเฉพาะหน้าไม่ใช่เรื่องปรองดอง แต่เป็นเรื่องที่ต้องมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ มิฉะนั้นก็จะย่อยยับ เพราะถ้าเสียหายมันก็จะไม่โต และทำให้ภาวะหนี้สินของชาติเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันประคับประคองให้เศรษฐกิจโตในระดับที่พอสมควร ไม่ต้องไปหวังให้มันสูงมากมายอะไร” อนุช กล่าวทิ้งท้าย