ข่าวสด 9 มกราคม 2555 >>>
จากกรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความ ปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาหารือถึงแนวทางปรองดอง หนึ่งในนั้นคือการแก้รัฐธรรมนูญ แนวทางตั้ง ส.ส.ร. หรือช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะสมที่จะเสนอแก้มาตรา 237 และมาตรา 309 รวมทั้งการเห็นพ้องต้องกันที่จะไม่แตะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้ง
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การที่หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคออกมาให้ข้อเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการปรองดองนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นที่มีปัญหาอย่างมาก
ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ข้อเสนอที่จะแก้ไขมาตราต่างๆ ต้องมาจาก ส.ส.ร. เป็นผู้เสนอแนวคิดออกมา โดยนำปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญมาคุยก่อนว่าปัญหาคืออะไร เมื่อมาคุยกันเเล้วก็นำเสนอวิธีการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
นอกจากนี้ การที่พรรคการเมืองประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จะยิ่งเป็นปัญหา เนื่องจากขณะนี้นักวิชาการทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายเสื้อเหลือง ต่างมองเห็นปัญหาในการบังคับใช้มาตรานี้มากขึ้น
ถึงแม้จะไม่แก้มาตรา 112 ก็ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดการปรองดอง เนื่องจากจะเกิดความพอใจเฉพาะกลุ่มเท่านั้น กลุ่มที่เห็นด้วยกับการแก้ไขก็อาจไม่พอใจ ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็จะพอใจในข้อเสนอดังกล่าว
ข้อเสนอของหัวหน้าพรรคต่างๆ ในครั้งนี้ เป็นข้อเสนอที่ไม่มีความหมาย สุดท้ายแล้วจะถูกลืมจากคนทั้งสังคม
วิธีการที่จะทำให้เกิดการปรองดองโดยมีจุดเริ่มต้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเริ่มต้นจากตัวกระบวนการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อ หาของรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งเเละมาจากตัวเเทนของประชาชนทั้งหมด อาจเป็นจังหวัดละคนก็ได้
ส่วนที่หลายคนเสนอให้ใช้นักวิชาการนั้น ส่วนตัวเห็นว่านักวิชาการนั้นสามารถเข้าไปอยู่ในคณะะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้อยู่เเล้ว นอกจากนี้เมื่อมีการร่างเเล้ว ตัวร่างรัฐธรรมนูญต้องได้รับการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียอย่างกว้างขวาง
ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราหรือเขียนฉบับใหม่ขึ้นมานั้น ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี' 50 มีที่มาไม่ถูกต้องและในเชิงโครงสร้างยังมีปัญหาอยู่มาก
ฉะนั้น หากจะแก้รัฐธรรมนูญปี' 50 ต้องปรับแก้เยอะมาก จึงเห็นควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมามากกว่า
นพพร ลีปรีชานนท์
ประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เราต้องดูว่าเหตุผลของการปรองดองที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งการที่ผู้นำของพรรคแต่ละพรรคมานั่งพูดคุยกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีแล้ว หากไม่คุยกันตอนนี้จะไปคุยกันตอนไหน
อะไรที่เป็นประเด็นถือว่าพูดได้ทั้งนั้น จะช้าหรือเร็วก็ต้องพิจารณา แต่ทุกอย่างต้องกระทำด้วยเหตุผล มาตราที่จะแก้นั้นมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ซึ่งบางพรรคนำมาตราต่างๆ มาสร้างความขัดแย้ง หรือบางพรรคเชื่อว่าจะเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเราต้องดูว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่
ส่วนของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผมคิดว่าควรนำมาคุยกันได้ ซึ่งการปกป้องสถาบันถือว่าเป็นเรื่องดี แต่อาจเสนออีกมุม น่าจะลองมาพิจารณา กัน อาจจะไม่มีการแก้ในเนื้อหา แต่ควรแก้ในวิธีพิจารณาความอาญา
การอ้างว่าหากมีการแก้มาตรา 112 จะสร้างปมความขัดแย้งใหม่นั้น ถือว่าฟังไม่ขึ้น เพราะยังไม่รู้ว่าจะขัดแย้งกันในเรื่องอะไร ไม่ว่าจะแก้มาตราใดๆ ถือว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้กฎหมายทั้งนั้น
หากมีความจำเป็นก็สามารถนำมาตรานั้นๆ มาคุยเพื่อให้เกิดความปรองดองได้ และผู้ที่นำมาคุยก็ต้องมีความจริงใจที่จะ ปรองดองจริงๆ และนำเหตุผลมาร่วมพิจารณากัน และพูดกันในทางสร้างสรรค์
อยากให้การปรองดองนั้นเป็นการพิจารณาในเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ นำความคิดเห็นที่ดีๆ ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง โดยเฉพาะภาคประชาชนให้ร่วมกันเสนอความคิดเห็น แล้วนำมาพิจารณาให้รอบด้าน
ทั้งนี้ ควรมีคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของสังคม แล้วนำข้อเสนอที่ดีที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมาใช้
หากข้อเสนอไหนสร้างความขัดแย้ง ต้องมาถกกันด้วยเหตุผล ชั่งน้ำหนักดูว่าอะไรที่สร้างผลประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่ากัน
การสร้างความปรองดองนั้นควรทำด้วยความจริงใจ ภายใต้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง และความมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยใช้ระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเองเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้มากเกินไป หากเป็นแบบนี้ในระยะยาวคงไม่ดีแน่
ดิเรก ถึงฝั่ง
ส.ว.นนทบุรี
อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พูดมาแต่ต้นแล้วว่าไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ไข เพราะเป็นคนละเรื่องกับการแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่อยากให้เป็นประเด็นปัญหาอีก
ที่จริงแล้วคนที่เสนอแก้มาตรา 112 ต้องคุยกันให้ละเอียดว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่เมื่อไม่มีเป้าหมายให้เห็นว่าแก้ไขอย่างไรและเพื่ออะไร ทำให้คนทั่วไปสับสนว่าไปยุ่งกับมาตรานี้ทำไม เกิดความกำกวมจนคนที่ไม่เห็นด้วยรู้สึกต่อต้าน
ผมจึงเห็นด้วยกับกมธ.ปรองดองว่าไม่ควรแตะต้องมาตรา 112
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ มีแนวทางที่เสนออยู่แล้วว่าควรตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากตัวแทนจังหวัดละ 1 คน หรือกลุ่มอาชีพเพื่อให้ประชาชนเลือก ซึ่งถือว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเหมือนกัน
โดยเฉพาะมาตรา 309 ก็เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. จะพิจารณาว่าสมควรแก้ไขหรือไม่
ช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะเริ่มดำเนินการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายต้องการสร้างความปรองดองก็สามารถแก้ไขได้เมื่อเห็นว่ามาตราใดไม่เหมาะสม
แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อตั้ง ส.ส.ร. แล้ว รัฐบาลต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. เท่านั้น และหากเริ่มดำเนินการตอนนี้คาดว่าภายใน 1 ปี คงแก้ไขเสร็จ
อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์
หากจะพูดถึงการสร้างความปรองดอง อย่าพูดถึงเรื่องประเด็น ซึ่งถือว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หลงทางแล้วเพราะหากมีการแก้โดยระบุมาตราเมื่อไร ย่อมมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น เพราะนักการเมืองแต่ละคนเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก คิดถึงแต่อำนาจ เพราะหากทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงก็คงไม่มีใครค้าน และไม่จำเป็นต้องมาอธิบายในประเด็นของมาตรานั้น
ดังนั้น อย่าเอ่ยถึงมาตราต่างๆ เพราะมีทั้งคนที่ได้และเสีย อย่าไปแก้รัฐธรรมนูญแบบเดิมๆ สิ้นเปลืองเงินเปล่าๆ แล้วทะเลาะกันเหมือนเดิม ฉีกกฎหมายทิ้งเหมือนเดิม
โดยรวมไม่ควรเน้นมาตราใดมาตราหนึ่ง แต่ต้องแก้ไขทั้งหมด ดูว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าจะแก้ไม่ให้คนคอร์รัปชั่นได้ หรือแก้แล้วไม่ให้โกง ไม่ให้มีการซื้อเสียง แต่เป็นตัวบุคคลที่บังคับใช้กฎหมายมันไม่ดี
รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีหลายมาตราที่นำมาใช้แล้วใช้ไม่ได้ บางทีเขียนมากไป จึงมีการถกเถียงกันไม่จบสิ้น
ฉะนั้นถือว่าประเทศหลงทางมาตลอดในเรื่องรัฐธรรมนูญ เราต้องศึกษาว่าจุดอ่อนและข้อบกพร่องของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีอะไรบ้าง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม แล้วค่อยมาร่างทีหลัง
ส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอของ พล.อ.สนธิ และหัวหน้าพรรคที่ออกมา ไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองที่แท้จริงได้ ตราบใดที่นักการเมืองยังเอาประโยชน์ส่วนตัว ก็กลับไปอยู่ระบบเดิม