แม้ว่าสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ดู "อึมครึม" ยังคาดเดาไม่ออกว่าจะออกมารูปแบบไหนเพราะประเด็นที่ส่อว่าจะเป็น "ตัวเปิด" ก่อให้เกิดความรุนแรงก็ยังไม่มีข้อสรุป "ข้อเรียกร้อง" ที่ชัดเจนให้สังคมส่วนใหญ่ตัดสินเห็นด้วยหรือคัดค้านกับข้อเรียกร้องดังกล่าวขณะนี้จึงเป็นเพียงกระแสข่าวที่พากันคาดเดากันไปต่างๆนานาเท่านั้น
แต่ภาพการร่วมโต๊ะอาหารมื้อเที่ยงของบรรดา "หัวหน้าพรรคการเมือง" รวม 9 พรรค เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าเป็น "ภาพปรองดอง" ที่สังคมอยากเห็นและเชื่อว่าน่าจะเป็นความหวังหนึ่งของสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ถือเป็นตัวแทนพรรคการเมืองที่สามารถกำหนดทิศทางการเมืองของไทยได้ทั้งสิ้นซึ่งประกอบด้วย "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ,"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ,"ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์" หัวหน้าพรรครักษ์สันติ ,"ชุมพล ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ,"ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ,"ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และ "อภิรัต ศิรินาวิน" หัวหน้าพรรคมหาชน ขณะที่พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ส่ง "ประเสริฐ บุญชัยสุข" ส.ส.นครราชสีมา, พรรคพลังชล ส่ง "สันต์ศักดิ์จรูญ งามพิเชษ" ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 มาเป็นตัวแทนพรรค
ถือเป็นผลงานชิ้นเอกตั้งแต่มีการตั้ง "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ" (กมธ.ปรองดอง) ที่มี "พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน" หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน
ภาพการรับประทานอาหารร่วมโต๊ะของหัวหน้าพรรคการเมืองอาจมองเป็นเรื่อง "ปกติ" ที่เห็นกันบ่อย แต่มติของ "9 พรรคการเมือง" ที่เห็นตรงกันว่าจะไม่มีการแก้ไข "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112" หลังจากหารือร่วมกันบนโต๊ะอาหาร
การที่ "9 หัวหน้าพรรค" มีมติ "ไม่แตะ" ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นการลดกระแสฝ่ายที่ออกมาคัดค้านการแก้ไข "มาตรา 112" ได้ในระดับหนึ่ง
เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การนิรโทษกรรม และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็น "ชนวน" ที่ทำให้สถาการณ์การเมืองไทยกลับมาวุ่นวายอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยระบุว่าเป็นนโยบายในการหาเสียง ขณะที่ "รัฐมนตรี" ในพรรคเห็นควรชะลอออกไปสักระยะ เพื่อให้รัฐบาลบริหารงานแก้ไขปัญหาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน
แต่"ฝ่ายนิติบัญญัติ" หรือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่เห็นว่าควรดำเนินการเลย เพราะการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของ "ส.ส." ไม่ใช่ "คณะรัฐมนตรี" การขับเคลื่อนของ ส.ส. บางกลุ่มในพรรคจึงเริ่มขึ้นโดยการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนและให้ประชาชนที่เห็นด้วยมาลงชื่อ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
คาดว่าประมาณปลายเดือนมกราคมนี้จะได้รายชื่อครบ 5 หมื่นชื่อตามที่กฎหมายกำหนดก่อนยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนกุมภาพันธ์
แต่ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะจุดประเด็นความรุนแรงและขยายความขัดแย้งของคนในสังคมมากกว่ากฎหมายอื่นที่จะมีการแก้ไข
เพราะดูจะสวนทางกับจุดยืนของ "กองทัพ" ที่มี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก เคยประกาศชัดเจน ไม่มีความจำเป็นต้องไปแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะทำอะไรก็ตามอย่าละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันสิ่งใดก็ตามที่ดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปอาจเอื้อมด้วยซ้ำไป
ดังนั้นการประกาศ "ไม่แตะ" ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ "9 หัวหน้าพรรคการเมือง" ที่หนึ่งในนั้นมี "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยรวมอยู่ด้วยทำให้สังคมลดดีกรีความหวาดระแวงลงได้ระดับหนึ่ง
เนื่องจากพฤติกรรมคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเคยประกาศเสนอแก้ไขมาตรา 112 เมื่อพรรคเพื่อไทยขยับตัวเรื่องนี้จึงถูกสังคม "เฝ้าระแวง" ตลอดเวลา
ทั้งที่ประเด็นการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นแนวคิดของ "แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) บางคนที่ต้องการช่วยเหลือ "สหาย" ร่วมรบในป่าของตัวเองเท่านั้น
การที่บางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายบางอย่างเพราะรู้ดีว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวเองจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยลืมคิดไปว่าการเมืองไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ตัวเองต้องการหรือทุกอย่างที่ตัวเองเรียกร้อง เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีประกาศชัดว่าจะไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั่นเพราะลึกๆ แล้ว "เฉลิม" รู้ดีว่า รัฐบาลจะอยู่บริหารประเทศยาวหรือสั้น มีปัจจัยสำคัญที่ต้องระวังคือ ทุจริตคอรัปชั่น, ขัดแย้งกับกองทัพ
การคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็น "จุดเริ่ม" ของการ "เปิดศึก" กับกองทัพอย่างแน่นอน!
พรรคเพื่อไทยจึงต้องพยายามประคับประคองสัมพันธภาพกับกองทัพให้ยืนยาวลดการ "หวาดระแวง" อย่างน้อยก็ให้เหลือเพียง "เฝ้าระวัง"
มีนักวิชาการบางคนบอกว่าจากการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยการรัฐประหารในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ 4 แบบ
1. การรัฐประหารที่เกิดจากผู้บัญชาการเหล่าทัพขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนายกรัฐมนตรี
2. การรัฐประหารที่เกิดจากความขัดแย้งกันเองภายในกองทัพ จึงทำการยึดอำนาจรัฐ เพื่อปราบคู่ขัดแย้งหรือฝ่ายตรงข้าม
3. การรัฐประหารที่เกิดจากการยึดอำนาจตัวเอง หรือ รัฐประหารเงียบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
4. การรัฐประหารที่เกิดขึ้นจากการจลาจลในเมืองของกลุ่มคนต่างๆ โดยจะอ้างว่าไม่อยากทำ แต่ที่เข้ามาทำการรัฐประหาร เพื่อเป็นกรรมการห้ามมวย เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2549
ขณะนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าการปฏิวัติในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
อาจจะมีถ้าสถานการณ์บ้านเมืองเข้าเงื่อนอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการอดทนอดกลั้นของ "กองทัพ" !