เมื่อหมู่บ้านคนเสื้อแดงอยากเป็นหมู่บ้าน นปช.

บทความประจำสัปดาห์ 8 สิงหาคม 2554
โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....




เมื่อวันเสาร์ไปกาฬสินธุ์ พบกันแกนนำและประชาชนคนเสื้อแดงสามอำเภอ คืออำเภอห้วยเม็ก, ท่าคันโท, หนองกุงศรี เขาตั้งชื่อใหม่รวมเป็น 3 อำเภอ 1 เขตเรียก เม็กศรีโท และเปิดศูนย์ประสานงานหมู่บ้านเสื้อแดง นปช. เม็กศรีโท เรื่องราวนี้เกิดจากแกนนำหมู่บ้าน 300 หมู่บ้านของคนเสื้อแดงใน 3 อำเภอ ต้องการเป็นหมู่บ้าน นปช. เพื่อเป็นเครือข่ายโดยตรงกับ นปช. ส่วนกลาง เพราะต้องการเป็นผู้ปฏิบัติงานและเคลื่อนไหวมวลชนของ นปช. จริงๆ จึงพากันเร่งทำบัตรสมาชิก ลงทะเบียนทุกหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีสมุดทะเบียนสมาชิก นปช. มาให้เซ็นชื่อกำกับทุกเล่ม ในศูนย์ประสานงานมีคอมพิวเตอร์ มีอีเมล์แอดเดรสเรียบร้อย และได้ติดป้ายเขียนนโยบาย 6 ข้อ ของ นปช. และภาระหน้าที่ห้าประการของผู้ปฏิบัติงาน นปช. ไว้ในศูนย์ประสานงานหมู่บ้านเสื้อแดง นปช. เม็กศรีโท ขนาดใหญ่เห็นชัดเจน และภาพกิจกรรม นี่น่าจะเป็นแบบอย่างใหม่ของหมู่บ้านคนเสื้อแดง ที่เติมเต็มด้านเนื้อหา ยิ่งกว่ามีแค่รูปแบบ ปักธงแดงและปักป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงเฉย ๆ จึงต้องเร่งให้มีเนื้อหาการเมือง และเพิ่มศักยภาพเครือข่ายในระดับหมู่บ้านด้วยกันไปจนถึงระดับตำบล และอำเภอ
ปัญหาอย่างหนึ่งที่เขาต้องการติดต่อส่วนกลาง เพราะมีความขัดแย้งกันในระดับจังหวัดและภาค นี่จึงเป็นความจำเป็นที่ประชาชนเรียกร้องต้องการยกระดับการเมือง และยกระดับการจัดตั้งองค์กรเพื่อความเข้มแข็งของประชาชน ตอนเย็นก็มีการแสดงตัวของคณะกรรมการ ศรี เม็ก โท บนเวทีปราศรัย จุดพลุ แจกธง ตามที่พี่น้องเขาชอบ เริ่มงานจากเช้าถึงกลางคืน จึงอยู่กันไม่ดึกเกินไป ที่ผู้เขียนเห็นเป็นมิติใหม่คือ  ประชาชนกระตือรือล้นที่จะให้หมู่บ้าน, ตำบล, อำเภอของตน สัมพันธ์กับ นปช. แดงทั้งแผ่นดินอย่างสนิทแนบแน่น เพราะเขาเชื่อว่า พวกเขาคือกำลังที่แท้จริงในการเคลื่อนไหว เขาไม่อยากตกอยู่ในความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ หรือเชิงความคิดของแกนนำระดับจังหวัดและภาค นี่จึงเป็นตัวอย่างให้กับแกนนำระดับอำเภออื่น ๆ และเป็นบทเรียนให้กับแกนนำระดับจังหวัดด้วยว่า ถ้าไม่มีพื้นฐานดีในระดับหมู่บ้าน  ตำบล อำเภอ นอกจากการเคลื่อนไหวต่าง ๆ จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยดี ไม่มีกำลังที่แท้จริงในการทำงาน ประชาชนก็ต้องหาทางออก ที่จะสร้างการนำของตนในลักษณะเครือข่าย ด้านกว้าง ด้านแนวนอน  และสามารถสร้างการนำระดับจังหวัด ระดับภาค โดยมีที่มาจากพื้นฐาน ไม่ใช่จากบนสู่ล่าง ดังที่บางพื้นที่ทำกันอยู่ และเมื่อแกนนำบางคนเปลี่ยนแปรไป หรือเสื่อมไป หรือไปทำงานด้านอื่น ก็ชอบที่แกนนำส่วนพื้นฐานจะปรากฏตัว และได้รับความไว้วางใจเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้นำระดับบน
เนื่องจากองค์กร นปช. ของเราเป็นองค์กรเปิด มิใช่องค์กรปิดลับ ดังนั้นเครือข่ายการจัดตั้งองค์กรจึงเป็นระบบเปิด สามารถติดต่อกันได้ทุกระดับ (แกนนำบางคนติดต่อเองแม้แต่กับคุณทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้โฟนอินด้วยซ้ำ) ดังนั้นการพยายามงุบงิบ สถาปนาการนำของกลุ่มขึ้นมาลอย ๆ โดยขาดพื้นฐานมวลชน  จึงไม่อาจดำรงอยู่ได้ต่อไป เพราะมวลชนและแกนนำมวลชนระดับพื้นฐานจากหมู่บ้านขึ้นมาจะไม่ยอมอยู่ใต้การนำที่เขาไม่เชื่อมั่น
ในเวลากลางวัน ผู้เขียนได้มีเวลาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับแกนนำเหล่านี้ ซึ่งส่วนมากแสดงทัศนะเชิงอุดมการณ์ทั้งสิ้น ที่จะยืนหยัดทำงานให้เข้มแข็งต่อไป ในตอนกลางคืน ผู้เขียนได้ปราศรัยฝากไว้ 3 เรื่อง ในการเคลื่อนไหวของมวลชน คือ
1. ทิศทางถูกต้อง ที่ต้องขอขยายความเล็กน้อยเพราะเดิม เราใช้คำว่าเป้าหมายถูกต้อง ก็เกิดปัญหาว่า  เป้าหมายมีความเข้าใจต่างกัน บางคนนำเสนอเป้าหมายสูงสุด บางคนเสนอเป้าหมายเฉพาะหน้า ก็ยังเกิดขัดแย้งกัน โจมตีว่าเป็นพวกก้าวหน้าไม่ถึงที่สุด เยาะเย้ยว่าเป็นพวกปฏิรูป ปฏิวัติ กันบ้าง ดังนั้นจึงเสนอคำว่า ทิศทาง แทน เพราะในทิศทางที่เคลื่อนนั้น จะมีเป้าหมายระยะต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ทิศทางที่ถูกต้องจะต้องเป็นทิศทางที่ประเทศก้าวหน้า ประชาชนเป็นสุข มีความเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีนิติรัฐ นิติธรรม
2. มีวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งเรายังยึดในนโยบายข้อ 3 ของ นปช. ที่ใช้การเคลื่อนไหวสันติวิธีและยุทธศาสตร์สองขา ขาหนึ่งในวิถีทางรัฐสภา อีกขาหนึ่งในวิถีทางขององค์กรประชาชนที่ต่อสู้ในระบบอย่างถูกกฎหมาย
3. มีการนำจากการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง ถูกต้อง การจัดตั้งองค์กรของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เพื่อสร้างการนำทุกระดับให้เข้มแข็ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการต่อสู้ของประชาชนที่ต้องต่อเนื่องยาวนาน จนกว่าจะได้รับชัยชนะในที่สุด