แนวปะทะใหม่ทางการเมือง

บทความประจำสัปดาห์ 6 กันยายน 2554
โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....




หลังจากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะทางการเมืองฝ่ายประชาชนจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นี่มิได้หมายความว่า เป็นการรบชนะทุกแนว ที่จริงเพิ่งชนะแนวใหญ่แนวเดียวเท่านั้นเอง ยังมีแนวรบอีกหลายแนวที่เป็นเครือข่ายของระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่นี่มิใช่เรื่องเกรงกลัว เพราะการเอาชนะแนวใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งมาตลอด และชนะยิ่งใหญ่ในครั้งล่าสุด ย่อมเป็นกำแพงที่มีหลังพิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
แต่ด้วยเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตย และการครอบงำที่มีมายาวนาน ในทุกปริมณฑล ทำให้คนชั้นกลางและคนชั้นสูง กลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ได้อำนาจ ได้ผลประโยชน์ จากระบอบอำมาตยาธิปไตย และกลัวการลุกขึ้นต่อสู้ของมวลชนพื้นฐาน พูดให้ถึงที่สุดก็คือ คนชั้นกลางและคนชั้นสูงเหล่านี้ พึงพอใจในฐานะทางสังคม บทบาท และอำนาจที่ตนมีอยู่ ที่มิได้มาจากการต่อสู้แต่อย่างใด จึงกลัวการเปลี่ยนแปลงและการต่อสู้ของประชาชน ทั้งที่ยังมิได้เข้าใจว่า การต่อสู้ของประชาชนนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย ได้ความเป็นธรรมในสังคม และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คนทุกกลุ่มในประเทศจะได้รับผลประโยชน์ทั่วหน้า แต่ต้องเป็นผลประโยชน์ที่สมเหตุผล และไม่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม
ความ ซับซ้อนของสังคมไทย เกิดจากการที่โครงสร้างชั้นบนของสังคม อันได้แก่การเมือง การปกครอง, อุดมการณ์, วัฒนธรรม, การศึกษา ความคิดที่ครอบงำชี้นำการปฏิบัติล้าหลัง อยู่ในระบอบอำมาตยาธิปไตย และเป็นรัฐตัวจริงที่มีอำนาจควบคุมประเทศ ในขณะที่รากฐานเศรษฐกิจเราค่อนข้างพัฒนาตามทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ แต่ทุนเครือข่ายระบอบอำมาตย์ก็พัฒนาไปได้ โดยอาศัยอำนาจรัฐในมือเป็นตัวช่วยสนับสนุนการผูกขาดตลอดมา
ทุนเครือข่าย ระบอบอำมาตย์ยังเติบโตพร้อมกับการที่มีอำนาจเหนือประเทศยาวนาน ทำให้ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายก็สวามิภักดิ์ต่อระบอบอำมาตย์ในไทยเช่นกัน
ทุนกลุ่ม ใหม่ที่นอกเหนืออำนาจการควบคุมที่เติบใหญ่ และยึดครองหัวใจประชาชน มวลชนพื้นฐาน จึงเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มทุนเครือข่ายอนุรักษ์นิยม และชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง อนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอาชนะการเลือกตั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เราจึงเห็นแนวรบและสนามฆ่าคนในรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นนับจากได้อำนาจรัฐครั้งที่สอง พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เพราะเครือข่ายระบอบอำมาตย์ ไม่อาจปล่อยให้การสูญเสียอำนาจและสถานะเกิดขึ้นได้อีกต่อไป เพราะนั่นจะหมายถึงมีจุดสิ้นสุดระบอบอำมาตยาธิปไตยในประเทศไทย
กองกำลัง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเป็นกองกำลังรบแนวแรกที่ได้ผลอย่างยิ่ง แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน กองกำลังนี้กำลังถูกสลาย เนื่องจากความขัดแย้งภายใน แกนนำ และความขัดแย้งกับพรรคการเมือง อนุรักษ์นิยม คือ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล กำลังร้องเพลง “น้ำตาเถ้าแก่” ที่มีเนื้อหาตัดพ้อต่อว่าแม่ยก “เช่นดังตัวผมต้องตรมดวงใจกลัด หนอง แม่ยกต้องมาจากจร ตัวอย่างเห็นกันไป ลืมคนเสื้อเหลือง แล้วยังมาว่าร้ายให้ แม่ยกเธอช่างเหลือร้าย โง่เง่าหรือไรถึงคิดไม่เป็น” หรือบางตอน “สิ้นสุดกันเถิดหนา แม่ยกแมลงสาบใจสอง ชาตินี้ไม่ขอใฝ่ปอง ให้มามัวหมองต่อไป หลงรูปคนหล่อ สอบตกคร่ำครวญร้องไห้ ยังเชื่อเจ้าหล่อต่อไป อาจจะชิบหายสักวันนะเธอ”
สรุปว่า แนวปะทะด้านพันธมิตรยังมีอยู่ แต่ยังไม่มีกำลังพอที่จะปะทะเป็นด่านแรก
แนว ปะทะแรก จึงเป็นสื่อกระแสหลักที่เป็นสื่อในกำกับของทุนอนุรักษ์นิยม และระบอบอำมาตย์ รวมทั้งองค์กรสื่อที่แสดงบทบาทอยู่ในขณะนี้ การมองสื่อกระแสหลัก จึงต้องมองให้เห็นว่า เป็นแนวปะทะสำคัญในการต่อสู้ระบอบอำมาตย์ จำเป็นที่ต้องมีแนวทางและยุทธศาสตร์ในการทำให้สื่อเข้าสู่ แนวคิดเสรีนิยม การปะทะแนวรบสื่ออนุรักษ์นิยม จึงต้องเปิดประตูเสรีภาพของสื่ออย่างเต็มที่ และผลักดันอุดมการณ์ประชาธิปไตย แนวคิดเสรีนิยมให้เข้ามาแทนที่ อุดมการณ์ระบอบอำมาตย์ และความคิดอนุรักษ์นิยม จารีตนิยมให้ได้ การทำลายการผูกขาดของสื่อ และสัมปทานที่ดูแลโดยกองทัพกลุ่มอำมาตย์ กลุ่มจารีตนิยม มุ่งให้สื่อเปิดเสรี และให้เสรีภาพสื่อเต็มที่ ให้กลไกตลาดและความนิยมของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน นี่จึงเป็นแนวปะทะที่สำคัญที่ฝ่ายประชาชนต้องผลักดันให้เลิกผูกขาดสื่อให้ ได้ ทั้งต้องเปิดโปงเรื่องราวเบื้องหลังสื่อแต่ละค่าย ให้ประชาชนเข้าใจว่า สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนค่ายต่าง ๆ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างไร
แนวปะทะที่สอง คือ นักวิชาการ เป็นแนวปะทะที่สำคัญอีกแนวหนึ่ง ซึ่งมักเชื่อมโยงกับสื่อ คือ กลุ่มนักวิชาการ ตัวอย่างนักวิชาการที่แสดงตัวให้ปราบประชาชนเมื่อปี 2553 303 คน ก็มีอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์เป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ หารายชื่ออ่านได้ในมหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 51 วันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2554 และเร็ว ๆ นี้นักวิชาการค่าย ทีดีอาร์ไอ พูดตรง ๆ เป็นสถาบันที่รวบรวมนักวิชาการที่สนับสนุนเครือข่ายระบอบอำมาตย์ โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้สนับสนุนหลักในการต่อตั้งและดำเนินงาน ในระยะแรกก็ดูเป็นนักวิชาการเสรีนิยม และสนับสนุนกลไกตลาดในการดูแลเศรษฐกิจ สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อต้องการโค่นคุณทักษิณ ชินวัตร ทีดีอาร์ไอ ก็รวมศูนย์ จัดการอย่างมีพลัง เช่น การปล้นสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี และยึดมาอยู่ในเครือข่ายอำมาตย์และค่ายเนชั่น รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการใช้ความเป็นนักวิชาการ จัดการเรื่องคดีของคุณทักษิณ เช่น คดีหุ้น ยังมีนักวิชาการอื่นอีกมากที่จะโผล่ออกมาในแนวปะทะที่สองนี้ เราจึงต้องขยายกำลังแนวร่วมนักวิชาการประชาธิปไตยให้มีบทบาทมากขึ้น ในหมู่ประชาชน ในสื่อกระแสหลัก สื่ออินเตอร์เนท และสื่อสีแดง แนวปะทะนี้เป็นแนวที่ต้องต่อสู้ด้วยหลักการและองค์ความรู้ มิใช่ด้วยอารมณ์ นอกจากขยายแนวร่วมนักวิชาการแล้ว ฝ่ายประชาชนเองก็ต้องยกระดับองค์ความรู้เพื่อโต้กับนักวิชาการอำมาตย์ได้ ด้วย และขยายให้ประชาชนส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เสื้อแดงได้ยกระดับด้วย
แนว ปะทะที่สาม สำคัญยิ่งคือ กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระต่าง ๆ มากมายที่อยู่ในการครอบงำของระบอบอำมาตย์ค่อนข้างสิ้นเชิง แนวปะทะแนวรบนี้ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีบทบาทเป็นด้านหลักในการต่อสู้ของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตย การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยมือประชาชน จะเป็นเรื่องหลักในแนวปะทะนี้ การทวงความยุติธรรมให้กับคนตาย 92 + 1 ศพที่เพิ่งฌาปนกิจเมื่อวันที่ 5 ก.ย. นี้เอง (คุณหรั่ง) คนบาดเจ็บและคนถูกจองจำ ตลอดจนคนที่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรง อย่างไม่เป็นธรรม
บาปกรรมและชะตากรรมประเทศไทยจึงขึ้นอยู่กับแนวรบให้ได้นิติรัฐ นิติธรรม ว่าจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่
แนว ปะทะสุดท้าย คือ การก่อรัฐประหารโดยกองกำลังประจำการของประเทศ นี่เป็น รูปแบบสูงสุดของการขัดขวางระบอบ ประชาธิปไตย โดยใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจ และปราบปรามประชาชน ถามว่า อาจเกิดได้ไหม ก็ต้องตอบว่า เกิดได้ ถ้าฆ่าประชาชนมือเปล่าตายได้โดยไม่สะทกสะท้าน และไม่มีการยอมรับผิดใด ๆ หรือไม่อาจเปิดเผยความจริงให้ปรากฏได้