โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....
ตามที่ผู้เขียนต้องมารับหน้าที่ประธานในชุดรักษาการของกรรมการ นปช. ส่วนกลาง และแถลงภาระหน้าที่เฉพาะหน้าของกรรมการชุดนี้ในสถานการณ์ที่ถูกกระทำ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2553 มีบางคน บางกลุ่มเยาะเย้ยว่า ประธานคนนี้จะทำแต่เพียงเอาสามีออกจากคุกเท่านั้น ภาระหน้าที่ 3 ข้อเกี่ยวกับการประกันตัว การเยียวยา การต่อสู้คดีและเรียกร้องความยุติธรรม พิสูจน์ให้เห็นว่ายังไม่จบสิ้น ยังเป็นภาระหนักจนถึงปัจจุบัน เมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงชอบที่รัฐบาลจะรับภาระหน้าที่นี้ในฐานะรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรง เข่นฆ่าปราบปรามประชาชน เวลาที่ผ่านมาปีเศษ นอกจากเราต้องยืนหยัดภาระหน้าที่เดิมเพื่อช่วยพี่น้องเสื้อแดงและครอบครัว รวมทั้งประชาชนส่วนอื่นที่ถูกกระทำจากกลไกรัฐ อยุติธรรม เราต้องเดินหน้าในท่วงท่ารุกทางการเมืองต่อไปในการต่อสู้ คนเสื้อแดงตั้งแต่ปลายปี 2553 และตลอดปี 2554 ทำงานหนักมิใช่น้อย เช็ดเลือด เช็ดคราบน้ำตา เก็บศพเพื่อน เผาศพเพื่อนและหลบหนีหัวซุกหัวซุน
ด้วยท่วงท่ารุกทางการเมือง นปช. และคนเสื้อแดงทั้งหมดก็เข้าสู่ระยะเวลาการสนับสนุนการเลือกตั้ง และตรวจสอบการทุจริตโกงเลือกตั้ง จนฝ่ายที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนได้รับชัยชนะ จัดตั้งรัฐบาล นี่เป็นงานยิ่งใหญ่และงานหนักที่คนเสื้อแดงและประชาชนไทยโถมตัวให้กับการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหญ่หลังถูกปราบปราม ชัยชนะทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์หนทางการต่อสู้สันติวิธีในระบบที่ได้หัวใจประชาชนไทยมาค่อนประเทศ ถามว่าเราต่อสู้เพียงเอาคนออกจากคุกกระนั้นหรือ ? หรือต่อสู้เพียงเพื่อได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้นหรืออย่างไร ?
คนเสื้อแดงที่ติดตาม นปช. จะรู้ดีทุกคนว่าไม่ใช่เพียงเท่านั้นแน่นอน เพราะเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ขั้นที่สองและขั้นที่สาม ชัดเจนว่าเรามุ่งหวังระบอบประชาธิปไตยแท้จริง และนโยบาย 6 ข้อ เราก็ชัดเจนว่า เราจะทำอะไรบ้าง นี่ประกาศมาตั้งแต่ปี 52 แล้ว
ดังนั้นหลังวิกฤตอุทกภัย นปช. ก็ประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 291 เพื่อเปิดประตูสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยมือของประชาชน เพื่อลบล้างรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากปืนจี้ประชาชนให้ยอมรับ และลบล้างผลพวงของการรัฐประหารทั้งหมด
บางกลุ่มที่ต้องการเร็ว ก็จะมองว่าใช้คนไม่กี่คนมาร่าง แล้วให้รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภา หรือกลุ่มประชาชนยื่นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อความรวดเร็ว (ซึ่งความจริงในที่สุดจะไม่รวดเร็วเพราะจะถูกดองเปรี้ยว ดองเค็ม และใช้การแปรญัตติทีละมาตรา ยาวนานจนไม่รู้จะจบเมื่อไรก็ได้)
ปัญหาการได้รัฐธรรมนูญใหม่นั้น มีความสำคัญทั้งกระบวนการและเนื้อหา แม้ในนโยบายและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของ นปช. จะไม่ลงรายละเอียดไว้ แต่จากการปรึกษาหารือเราเลือกแนวทางการได้ สสร. จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั่วประเทศ ในจำนวน 100 คน โดยคำนึงถึงจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร และแต่ละจังหวัดเราพบข้อมูลว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 46,939,549 คน และพบความแตกต่างกันมากคือ กทม. มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,260,951 คน แต่ระนองมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 119,536 คน และพังงามี 182,939 คน หรือขอนแก่นมี 1,329,944 คน นครราชสีมามี 1,916,728 คน บุรีรัมย์มี 1,120,0681 คน อุดรธานีมี 1,126,011 คน การให้แต่ละจังหวัดมี สสร. เพียง 1 คนเท่ากันจึงไม่ชอบด้วยเหตุผล แต่ถ้าคำนึงถึงจังหวัดละ 1 คนเป็นอย่างน้อย ก็ลดทอนการเหลื่อมล้ำในอำนาจประชาชนที่ทำให้ไม่เท่าเทียมกันได้บ้าง ถ้าใช้สูตรนี้ กรุงเทพฯ จะมี สสร. 8 คน ปริมณฑล 5 คน ภาคกลาง 9 คน เหนือตอนบน 10 คน เหนือตอนล่าง 8 คน ตะวันออก 8 คน ตะวันตก 7 คน ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 14 คน ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 15 คน ภาคใต้ 16 คน รวม 100 คน คำถามว่า แล้วไม่เว้นพื้นที่ไว้ให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือไร ? เราเห็นพ้องกันว่า ขอให้นักวิชาการเหล่านั้นลงสู่การเลือกตั้ง หรือไปอยู่ในตำแหน่งอนุกรรมาธิการหรือคณะที่ปรึกษาของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ได้ หรืออาจรวมกลุ่ม เช่น นิติราษฎร์ นำเสนอเนื้อหาเป็นชุด เป็นหมวด เราไม่อยากได้อรหันต์เขียนรัฐธรรมนูญหน้าเดิม, แม้แต่ผู้สืบทอดสายพันธุ์ความคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งและเครือข่ายชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตย เพราะเราต้องการรัฐธรรมนูญที่สามารถล้างคาวเลือดของกลไกรัฐอำมาตยาธิปไตย และผลพวงรัฐประหารทั้งปวง จึงต้องใช้กระบวนการที่มาจากประชาชน โดยประชาชน จึงจะได้เป้าหมายที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเพราะที่มาของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ จะนำไปสู่ผลของรัฐธรรมนูญนั้นๆ และกฎหมายนั้นๆ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคนกลุ่มใดชนชั้นใด
ข้อเสนอของคุณอุกฤษ มงคลนาวิน อาจจะมีความตั้งใจดีที่จะได้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว และท่านก็คงหวังจะสร้างนิติธรรมได้โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ประชาชนและคนเสื้อแดงจะไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะเขาผ่านประสบการณ์ที่รู้เห็นว่านักวิชาการผู้เขียนรัฐธรรมนูญปี 40 จนถึงปี 50 ส่วนมากมีจุดยืนไม่อยู่ที่มวลชนพื้นฐานและประชาชนส่วนใหญ่ แต่มีจุดยืนที่ชนชั้นกลาง บน และสูงกว่านั้น ขาดความเชื่อถือในประชาชน แต่เชื่อถือผู้มีการศึกษาสูง ชนชั้นกลาง บนและชนชั้นสูง และส่วนมากแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการรัฐประหารเปิดเผย เช่นนั้นจะมาล้างผลพวงการรัฐประหารอย่างไร แม้แต่รัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งมีที่มาดีพอควร แต่อำนาจการเขียนอยู่ในมืออรหันต์จำนวนหนึ่ง จึงซ่อนการสร้างเครือข่ายระบอบอำมาตย์ในองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการแบบใหม่ๆ ไว้มิใช่น้อย
นี่จึงเป็นเวลาที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ล้างคาวเลือดด้วยมือของประชาชนเอง เราจะเลือกผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชนโดยตรง โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญในโควต้าการเลือกตั้ง ผู้เชี่ยวชาญก็อาจทำงานได้เพื่อเสนอต่อสาธารณชนและต่อ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกเนื้อหาใด รูปแบบใด ตอนสุดท้ายด้วยการลงมติที่ประชาชนต้องมาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ และมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จากนั้นให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ บางคนจะถามว่ารัฐสภามีบทบาทตรงไหน ? ก็มีบทบาทตอนโหวตว่าจะเลือกที่มาและอำนาจ สสร. อย่างไร จะใช้ร่างแบบไหนในการแก้ 291 จะเอา สสร. จากการแต่งตั้ง, คัดสรร หรือจากเลือกตั้งโดยตรงอย่างไร ?
เราหวังว่าวิธีนี้จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อลงมติอย่างช้าภายในกลางปี 2556 ได้ ประชาชนและคนเสื้อแดงทั้งหลายถ้าเห็นด้วยก็เช่วยกันกรอกแบบฟอร์มของ นปช. แล้วแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ขีดคร่อม “ใช้เฉพาะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291” แล้วส่งกลับมาที่ศูนย์ประสานงาน นปช. ชั้น 5 อิมพีเรียลเวิร์ลลาดพร้าว ซอย 81-83 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
เราจะล้างเลือดประชาชนที่ถูกเข่นฆ่ามายาวนานด้วยมือของเรา ประชาชนไทยไม่ให้มีการฆ่าและไม่ให้เกิดความอยุติธรรมในสังคมไทยอีก และนี่แหละคือการก้าวย่างสู่การปรองดองที่ยั่งยืนแท้จริง และในเวลานี้นี่เป็นทางออกทางเดียวของสังคมไทย ไม่มีทางอื่น !