ประชาไท 17 มกราคม 2555 >>>
ภาคภูมิ แสงกนกกุล [1]
บทความนี้จะไม่จำเป็นต้องเขียนเลย ถ้าทุกคนในสังคมเข้าใจถึงจุดประสงค์หลักของการเยียวยาและจริยธรรมของการเยียวยาที่เป็นต้นกำเนิดให้เกิดการกระทำนี้ขึ้น
หลังจาก ครม. มีมติอนุมัติให้การเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 7.75 ล้านบาท ก็มีข้อโต้แย้งไปมากันทั้งสองฝ่าย สิ่งที่น่าเสียดายคือข้อโต้แย้งทั้งสองฝ่ายมักตกวนอยู่ในหลุมของ เงินจำนวนเจ็ดล้านกว่าบาทนี้ มันคุ้มชีวิตคนหรือไม่ ชีวิตของคนที่ตายไปไม่มีค่าพอกับเงินก้อนนี้บ้างละ บทความนี้จะไม่จำเป็นต้องเขียนเลย ถ้าทุกคนในสังคมเข้าใจถึงจุดประสงค์หลักของการเยียวยาและจริยธรรมของการเยียวยาที่เป็นต้นกำเนิดให้เกิดการกระทำนี้ขึ้น คำถามที่ขึ้นอยู่ในหัวผมตอนนี้คือ ทำไมๆ ประเทศฝรั่งเศสเวลามีการเยียวยาจากรัฐให้แก่เหยื่อที่ได้รับอันตรายไม่ว่าจากไหนก็แล้วแต่ ทำไมถึงไม่มีใครส่งข้อความโต้ไปมาทางเฟซบุ๊ก ออกมาเรียกร้อง ออกมาฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกการเยียวยาเฉกเช่นที่เป็นอยู่ในเมืองไทย
การเยียวยามีขึ้นมาเพื่อชดเชย (compensation) ต่อความเสียหายที่ไม่อาจย้อนกลับได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติมีคนไข้ไปหาหมอแล้วเกิดอุบัติเหตุแทรกซ้อนขึ้น จนคนไข้ต้องทำการตัดแขนนั้นทิ้ง การสูญเสียแขนจึงเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้ เพราะเราไม่สามารทำการผลิตแขนของผู้ป่วยให้เหมือนเดิม แล้วนำไปต่อใช้การได้อีกเช่นเคย เราไม่สามารถกดปุ่มไทม์แมชชีนย้อนกลับไปจุดก่อนเกิดเหตุได้ แต่ว่าปัจจุบันนี้เรามีความเสียหายเกิดขึ้นจริง และตามกฎหมายแพ่งแล้ว ผู้ใดทำการละเมิดบุคคลอื่นย่อมต้องทำการชดเชยความเสียหายนั้น ความเสียหายนั้นถ้าปกติชดเชยด้วยสิ่งที่สูญเสียไปได้หรือสิ่งที่เสียไปสามารถตีราคาตามท้องตลาดได้อย่างแน่นอนย่อมไม่มีปัญหา เช่นถ้าสมมตินาย ก ทำแจกัน นาย ข แตก นาย ก ต้องชดใช้ด้วย แจกันที่มีคุณลักษณะเดียวกันทุกประการ หรือถ้านาย ก ไม่สามารถหาได้ เช่นแจกันที่แตกมีใบเดียวในโลก นาย ก ก็ต้องชดใช้ด้วยเงินตามราคา แต่ในกรณีที่การเสียหายเป็นการเสียหายที่ไม่ใช่สิ่งของแต่เป็นชีวิตคนมันจึงเป็นการที่ซับซ้อนกว่ามาก เพราะคนไม่สามารถถูกสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมได้ เราไม่สามารถชดเชยชีวิตคนที่ตายไปด้วยการผสมพันธุ์ผลิตมนุษย์ขึ้นมาใหม่ เพราะมนุษย์เป็นของหนึ่งเดียว (unique) ต่อให้สเปิร์มกับไข่เดียวกันผสมกัน ก็ได้มนุษย์ที่แตกต่างกัน
ในเมื่อชดเชยด้วยสิ่งของไม่ได้แล้วจึงเหลือแค่ช่องทางเดียวคือ การใช้ตัวเงินชดเชยความเสียหาย ปัญหาที่ตามมาคือ มนุษย์ควรมีราคาเท่าไร ควรมีการตีราคามนุษย์หรือไม่ การตีราคามนุษย์นั้นผิดจริยธรรมหรือไม่ ในเมื่อการตีราคาของมนุษย์เป็นของร้อนที่ไม่ควรแตะแล้ว เราควรละเลยไม่เยียวยาผู้เสียหายเลยหรือ? คำตอบคือไม่ใช่ การเยียวยายังต้องมีอยู่ ตามปกติแล้วการเยียวยาจะเกิดได้ต้องมีองค์ประกอบสามประการคือ
1) ความผิด
2) ความเสียหาย
3) ความสัมพันธ์ระหว่างความผิดกับความเสียหาย
ความผิด
เราเริ่มต้นสโคปไปที่ความผิดก่อน ความผิดแบ่งได้เป็นสองกรณีคือ ความผิดที่เกิดจากเอกชน กับ ความผิดที่เกิดจากรัฐ ในกรณีที่ความผิดเกิดจากเอกชนการตัดสินการเยียวยาย่อมเข้าสู่กระบวนการแพ่ง ผู้ก่อความผิดที่เป็นแกชนย่อมต้องชดเชยผู้เสียหายทีเป็นเอกชนเอง เช่น กรณีที่แพทย์ในคลีนิคเอกชนเอง ทำการรักษาผิดจากมาตรฐานแล้วเกิดความเสียหายแก่ผ้ป่วย แพทย์คนนี้ก็ต้องเป็นผู้ชดเชยเอง ซึ่งถ้าหาข้อสรุปไม่ได้สองฝ่าย ก็ต้องไปสู้ต่อกันในชั้นศาล
กรณีที่สองคือ ความเสียหายที่เกิดจากรัฐ เนื่องจากรัฐหรือบุคลากรของรัฐทำความเสียหายแก่เอกชนในขณะปฏิบัติหน้าที่จากคำสั่งของฝ่ายปกครองแล้ว ถ้าเกิดความเสียหายกับเอกชน รัฐในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องทำการชดเชยความเสียหาย เช่นกรณีถ้ามีความเสียหายจากการล้อมปราบซึ่งเป็นคำสั่งของ ครม. แล้วเกิดความเสียหายนั้น รัฐจึงต้องชดเชยความเสียหายขึ้น ย้ำอีกทีนะครับต้องในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่นอกเวลาปฏิบัติหน้าที่มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการผิดระหว่างเอกชนกับเอกชนเอง
กรณีที่สามเป็นกรณีพิเศษ ที่เรียกว่าการรับผิดโดยปราศจากความผิด เป็นการเยียวยาให้กับเหยื่อโดยที่ไม่มีฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผิดเลย เพียงแต่ว่ากรณีนี้เป็นการสูญเสียร้ายแรงเอากลับมาไม่ได้ และเพื่อความเป็นมนุษยธรรมและความปรองดองในสังคมแล้ว รัฐจึงต้องมีหน้าที่ในการเยียวยาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายนั้น เช่นในกรณีที่มีฝ่ายหนึ่งชอบอ้างว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากชายชุดดำซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นใคร ในกรณีนี้จับมือใครดมหาความผิดไม่ได้แต่ว่ามีผู้เสียหายจริงและต้องการความเยียวยา รัฐจึงต้องเข้ามาช่วยโอบอุ้มเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ คราวนี้คงจะตอบคำถามได้นะครับว่าทำไมรัฐถึงต้องช่วยเยียวยา ทำไมถึงต้องใช้ภาษีในการเยียวยา
ความเสียหาย
จากที่กล่าวข้างต้นว่า ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นและเป็นความเสียหายที่ชดเชยไม่ได้จึงเกิดการเยียวยาขึ้น และเมื่อความเสียหายเป็นชีวิตมนุษย์ที่ตีราคาไม่ได้แล้ว ควรเสนอจำนวนเงินเท่าไรและใครควรเป็นคนเสนอ? สมมติให้ไปสอบถามคนร้อยคน ผมก็เชื่อว่าจะได้คำตอบราคาที่จะเยียวยาต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นที่ยอมรับและอิงมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสังคม มูลค่าการเยียวยาจึงมาจาก
1) การตัดสินของผู้พิพากษา
2) หรือ จากคณะกรรมการหนึ่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากคณะบริหาร
ทั้งสองสถาบันนี้เป็นสถาบันทางสังคมที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพการตัดสินใจของคนส่วนมาก
อย่างไรก็ตามเพื่อถ่วงดุลอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาค่าชดเชยแล้ว รัฐต้องมอบอำนาจให้ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์สามรถปฏิเสธจำนวนเงินก้อนนี้ได้และทำการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาเงินก้อนนี้ใหม่ แต่รัฐไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาฟ้องร้องต่อศาลเพื่อระงับการเยียวยา เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะรัฐกับผู้ได้รับประโยชน์นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องทางปกครองหรือ เอกชนบุคคลอื่น
เงินเยียวยาจากรัฐที่ให้กับผู้เสียชีวิตจึงไม่ได้ และไม่ควรสะท้อนว่า ผู้เสียชีวิตมีมูลค่าเท่าไร แต่ควรหมายถึงการแสดงสัญลักษณ์ระหว่างรัฐกับผู้เสียหายว่า รัฐไม่ได้ทอดทิ้งผู้เสียหายและทำการเยียวยาด้วยตัวเงิน ถึงแม้ว่าบางทีอาจจะชดเชยไม่ได้กับชีวิตผู้ที่ตายไป เงินก้อนนี้มีไว้เพื่อช่วยให้ครอบครัวผู้สูญเสียนำมาเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ในการมีชิวตอยู่ในสังคม ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าหลังจากรัฐให้เงินก้อนนี้แล้ว ภาระหน้าที่ที่รัฐมีต่อผู้สูญเสียเป็นอันจบกัน รัฐควรจะติดตามว่าครอบครัวผู้เสียหายสามารถปรับตัวกับความสูญเสียแล้วมีชีวิตอยู่ต่อในสังคมอย่างปกติสุขหรือไม่ผู้เสียหายยังขาดสิ่งใดหรือต้องการความช่วยเหลืออื่นๆหรือไม่
ความสัมพันธ์ระหว่างความผิดและความเสียหาย
ความเสียหายและความผิดต้องมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ถึงเกิดการเยียวยาได้ ในกรณีที่เป็นความผิดของรัฐ ก็ต้องเป็นความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่และไม่ไกลเกินกว่าเหตุ ถึงจะทำการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้รัฐจ่ายเงินชดเชยได้ กรณีที่เห็นชัดเช่นการเวนคืนที่ดิน รัฐทำการยึดที่ดินเอกชนเป็นของสาธารณะแล้ว รัฐจึงต้องชดเชยให้ ไม่ใช่กรณีไกลกว่าเหตุว่า การเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นผลจากการกระทำของรัฐ เพราะรัฐไม่ได้เป็นผู้ผลิตฝนออกมาเพื่อท่วมชาวบ้านเป็นต้น
ในกรณี ความเสียหาย 91 ศพ ผู้ตายเสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยคำสั่งของรัฐ รัฐย่อมมีหน้าที่ในการเยียวยา (หรือถ้ายังมีคนแย้งว่าเป็นฝีมือชายชุดดำ ช่วยกรุณาย้อนอ่านการรับผิดโดยปราศจากความผิดอีกครั้ง)
บทส่งท้าย
คำถามในสังคมไทย ว่ามูลค่าการเยียวยา 7.75 ล้านบาท มากไปน้อยไปหรือไม่? ทำไมถึงต้องใช้ภาษีรัฐ ทำไมไม่ใช้เงินตัวเองจ่าย ? จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้า
1) ทุกคนในสังคมเข้าใจว่า การช่วยคนที่ลำบากเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อให้เกิดความปรองดองกันในสังคม น่าแปลกใจอย่างที่สุดที่สังคมบ้าศีลธรรมและชอบทำบุญอย่างสังคมไทยนั้นกลับตั้งคำถามนี้ขึ้นมา
2) ถ้าสังคมไทยยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่เคารพการตัดสินใจของเสียงข้างมาก นโยบายบริหารจากเสียงข้างมาก เราไม่ต้องมาดีเบทกันในเฟซบุ๊กเรื่องมูลค่าการเยียวยาเลย เพราะเรามอบหน้าที่ให้ฝ่ายบริหารเป็นคนประเมินค่าเยียวยาแล้ว และหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้วคือ การเคารพการตัดสินใจของสถาบันสาธารณะที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
[1] นักศึกษาปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัย Paris Descartes