เจาะใจ "วีระกานต์" เชียร์ รมต.เสื้อแดง หนุน "นิติราษฎร์" แต่ติด "บ้าน111" ขาดสิทธิเข้าชื่อแก้ ม.112

มติชน 18 มกราคม 2555 >>>




“วีระกานต์"หรือ"วีระ มุสิกพงศ์” อดีตนักศึกษาชมรมโขนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกศิษย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตผู้สื่อข่าวสยามรัฐ ในช่วง 14 ตุลา 2516 อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตโฆษกรัฐบาลผู้ลาออกจากตำแหน่งภายหลังอภิปรายนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพียงไม่กี่วัน

“วีระกานต์” มีฉายา “ไข่มุกดำ” ในวัยหนุ่ม ขณะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง กระทั่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ต้องสกัดดาวดวงนี้อย่างไม่จำกัดวิธีการ แม้ยุคนี้จะมีนักการเมืองรุ่นถัดมาทำหน้าที่ในการเมืองแล้วก็ตาม แต่ “วีระกานต์” ยังโลดแล่นในการเมือง ไม่ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังตามแต่ละภารกิจ
“มติชนออนไลน์” เปิดบทสนทนา จากข่าวล่าวาระแกนนำ นปช. ติดโผรัฐมนตรี ในการปรับ ครม. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเขามองว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะโดยพื้นฐานแกนนำเสื้อแดงก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่ที่พิเศษคือ พวกเขาได้คลุกคลีกับมวลชน ได้เข้าใจความรู้สึกและปัญหาของมวลชน ก็หวังว่าจะได้นำเอาสิ่งนี้ไปได้ผลักดันคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทำงานได้อย่างเกิดประโยชน์มากที่สุด
“พวกเราก็บอกกันอยู่แล้วว่าเราแบ่ง หน้าที่เป็น การเมืองในรัฐสภาและการเมืองภาคประชาชน อันนี้ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ใครมีโอกาสเข้าไปอยู่ในการเมืองรัฐสภา ก็ไปมีตำแหน่งหน้าที่ เป็นสิ่งที่เราสนับสนุน”

เกรงจะมีข้อครหาว่าแกนนำต่อสู้เพื่อตำแหน่งเก้าอี้หรือไม่

ไม่เกรง เพราะ เราพูดตั้งแต่ชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในปี 2550 เราต่อสู้แบบการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเมื่อได้รัฐธรรมนูญ ได้การเลือกตั้งแล้วก็จะมีคนส่วนหนึ่งสมัครผู้แทนราษฎร เข้าสู่การเมืองในระบบ ซึ่งเราก็โอเค ส่วนหนึ่งไม่สมัครใจเข้าสู่การสมัครรับเลือกตั้ง ก็เป็นการเมืองภาคประชาชน ดังนั้นไม่มีข้อกังวลใจอะไร

เมื่อแกนนำนั่งตำแหน่งบริหารได้ดีแล้วจะละทิ้งมวลชนหรือเปล่า

ถ้าหากแกนนำละทิ้งมวลชน ก็เป็นปัญหาเฉพาะตัวทำให้มวลชนไม่เอาแกนนำนั้นๆ ก็ช่วยไม่ได้แยกทางกันไป

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เริ่มขึ้นแล้ว แต่ในส่วนของพรรคการเมืองยังไม่แสดงท่าทีเอาด้วย

ผมมองด้วยความเข้าใจ เพราะในฐานะที่อยู่ตรงกลาง ว่าทางภาคการเมืองในระบบรัฐสภา เขาจำเป็น จะต้องแบ่งงานที่เขาทำว่าอันไหนทำก่อน อันไหนทำหลัง ซึ่งในเรื่อง กฎหมายอาญามาตรา 112 ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องมาก่อน ส่วนมาตรา 112 ก็ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อรัฐธรรมนูญ ได้รับการแก้ไขแล้ว
ถ้าเอามาพูดพร้อมกัน ก็อาจจะสับสน ข้อสองคือ กลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากว่ายังไม่ชัดเจนในเป้าหมาย เพราะฉะนั้น เขาก็ยังไม่เคลื่อนไหวมาตรา 112 แต่เมื่อภาคประชาชนโดยเฉพาะนิติราษฎร์ เขาจับเรื่องนี้มา ทำมาโดยต่อเนื่อง เขาไม่ใช่คนที่นั่งอยู่ในรัฐสภา เพราะฉะนั้น เขาก็สามารถจะผลักดันเรื่องนี้นาทีใดนาทีหนึ่งก็ได้ที่เขาเห็นว่ามีโอกาสมีความเหมาะสมก็ผลักดันไป ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นข้อแตกแยก ไม่มีปัญหา
นิติราษฎร์ เขาก็ประกาศ ว่าเมื่อได้รายชื่อคนครบแล้วจะยื่นเข้ารัฐสภาแก้ไขมาตรา 112 ก็จบหน้าที่ของเขา ตอนนั้น เราก็ค่อยดูกันว่า เมื่อแยกกันชัดแล้ว เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ดำเนินต่อไป ส่วนกฎหมายอาญาก็แก้ในส่วนกฎหมายอาญา ในเวลาไม่ซ้ำซ้อนกัน พวกที่อยู่ในสภา ก็อาจจะมาร่วมมือด้วยก็ได้
ที่สำคัญ คือมีความละเอียดอ่อนในการต้องอธิบายประชาชน เพราะว่าฝ่ายที่เขาคัดค้าน เขาพยายามจะผนวก 2 เรื่อง ให้เป็นเรื่องเดียวกัน แล้วรวบยอดเลยว่าไอ้พวกนี้ เป็นพวก “ล้มเจ้า”
ประกอบด้วยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คนค้านเขาก็ไปพูดให้คนไขว้เขวว่า นี่แหละพวกไม่เอาสถาบัน ซึ่งตรงนี้ ฝ่ายการเมืองในระบบรัฐสภาลำบากใจที่จะอธิบายไปพร้อมๆ กัน
แต่ความจริง ผมก็นั่งดูเหตุผลของนิติราษฎร์ เขาก็มีเหตุผลที่ดี ปัญหาอยู่ที่ว่าคนฟังจะมีสมาธิที่จะรับฟังหรือไม่ คือ 1 เขาก็ไม่ได้ยกเลิก มาตรา 112 ทีเดียวเพียงแต่ยักย้ายถ่ายเท ดึงออกจากหมวดความมั่นคงไปไว้ต่างหาก แต่ฝ่ายที่เขาคัดค้านก็กลัวว่าจะเสนอยกเลิกไปเลย ซึ่งนิติราษฎร์เขาก็อธิบายชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่ เพราะทุกประเทศในโลกนี้ เขาก็ให้ความสำคัญกับประมุข ไม่ว่าประมุขระบอบกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี ฉะนั้น ถ้าได้มีเวลาอธิบายแบบนี้ คนจะได้เข้าใจว่านี่มันไม่ใช่เรื่องของการล้มเจ้า

การเมืองที่ไม่ไว้ใจกัน ดูเหมือนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.112 ก็มีสมมุติฐานว่า คนที่ต้องการแก้ไขนั้น ไม่จงรักภักดี หรือเป็นพวกล้มเจ้า

ก็ 2475 ก็แบบนี้ พวกที่ปฏิวัติ เพื่อสถาปนาประชาธิปไตย ก็ถูกกล่าวหา จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องการจะล้มล้างสถาบันต่างๆ ซึ่งโกหกทั้งนั้น คือ พวกนี้เป็นอนุรักษ์นิยม ที่มีผลประโยชน์แอบอิงอยู่ ก็กลัวสูญเสียสถานะตัวเอง จึงต้องสาดโคลนคนอื่น สาดโคลนมา 80 ปีแล้ว ไม่สำเร็จ ขณะที่การเมืองก็เคลื่อนที่ไปเป็นแนวทางประชาธิปไตย
ผมดูแล้วว่า ข้อเสนอนิติราษฎร์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความมั่นคง ไม่ใช่ ข้อเสนอแบบพวกหน้าโง่ทั้งหลายที่ออกมาคัดค้านอย่างไม่มีเหตุผลไอ้พวกนี้ประจบสอพลอ แล้วเวลามีปัญหา ผมว่ามันไม่ได้ร่วมเป็นร่วมตายอะไรกับใคร ลักษณะพวกประจบสอพลอ ก็เป็นแบบนี้ทั้งโลกทุกประเทศก็มี

กรณีคนในพรรคประชาธิปัตย์ ตำหนิกลุ่มนิติราษฎร์ว่าเป็นนักวิชาการกำมะลอเศษสวะ

นี่ก็ยิ่งเป็นคำพูดที่ไร้เหตุผลใหญ่เลย เพราะคนพูดเอง ก็มีคุณวุฒิทางวิชาการสู้เขาไม่ได้ ส่วนทางด้านจิตใจคุณธรรมจริยธรรมก็สู้เขาไม่ได้ ผมถือว่าพวกนิติราษฎร์ เป็นนักวิชาการที่เสียสละเพื่อสังคม ยังไงผมก็เห็นว่าพวกเขามีคุณค่า คือเขาอาจจะอยู่อย่างสบายก็ได้ เลือกประจบ ประแจงรัฐบาลเก่า หรือประจบประแจงสถาบัน สอพลอสถาบันไปเลย ก็อาจจะเจริญก้าวหน้าได้ เพราะมีคนเจริญแบบนี้กันเยอะ แต่นิติราษฎร์ เขาไม่ใช่อย่างั้น
คนพวกนี้ก็เหมือนคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรียกร้องสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่มหาชน เขาก็เสียสละ นักวิชาการนิติราษฎร์ ก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นคุณค่าของจิตใจแบบนี้ เพราะคนพวกนี้ ในยุคนี้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นยุคตกต่ำทางจริยธรรม

อาจเป็นความเห็นส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค

ก็ไม่เห็นใครในพรรคที่แสดงจุดยืนเห็นใจคนที่ถูกกระทำ ไม่เห็นสักคน

คุณวีระกานต์ เคยถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้ ช่วยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังได้หรือไม่

กรณีผม เป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ฝ่ายตรงข้ามก็หวังทำลายกันทางการเมือง เพราะว่าเขาสู้ด้วยการเลือกตั้งไม่ได้... ขึ้นต้น ก็เอานักการเมืองที่ลงสมัครพรรคอื่น ไปยื่นฟ้องไว้ก่อน พอเป็นคดี ...ไอ้พวกทหารสอพลอ ก็ออกมาเต้นแร้งเต้นกา ว่าเป็นเรื่องที่ดูหมิ่นสถาบัน ยอมไม่ได้อะไรต่างๆ ซึ่งอาจารย์วรเจตน์ ก็พูดในงานที่ธรรมศาสตร์ว่า กรณีของผม นายวีระ สมมุติตัวเอง เป็นพระองค์เจ้า ก็ยังโดนมาตรา 112 แล้วก็ถึงกับติดคุก ก็จริงอย่างที่อาจารย์วรเจตน์ว่า เพราะใช้วิธีการขยายความ กฎหมายอาญาลงโทษคน ซึ่งผิดหลัก ...ไม่มีหรอกครับ นักกฎหมายที่ดี จะมาขยายความกฎหมายอาญาไปลงโทษคน ขณะที่ตัวบทเขียนชัด ว่าผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท ... พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็มีอยู่เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้น เขาเอาพระองค์เจ้า เกี่ยวได้ยังไง ทั้งที่ไม่มีอยู่ในมาตรา 112 แต่ถูกตีความมาเอาใส่
ความจริง ผมเชียร์นิติราษฎร์นะ แล้วผมก็อยากเซ็นชื่อด้วยในการเสนอแก้กฎหมาย แต่ผมเซ็น ไม่ได้ เพราะผมไม่มีสิทธิ์ คือคนที่จะมีสิทธิ์ เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ต้องเป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เราไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ถ้าไปเซ็น ก็เป็นโมฆะ คนเขาโห่เอาป่าวๆ ก็เลยไม่ได้เซ็น ผมรับรองได้ ที่ผมตั้งใจจะไปเซ็น ไม่ใช่เพราะ โกรธหรืออาฆาตแค้นอะไร(ที่ผ่านมา) แต่เป็นเพราะผมเห็นด้วยกับเหตุผลของนิติราษฎร์
ถ้าได้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อไหร่ ผมก็จะเซ็นทันที เข้าชื่อกับนิติราษฎร์ทันที แล้วจะเป็นผู้อภิปรายสนับสนุนด้วย ถ้าเขาเชิญไปสภา กรณีเสนอกฎหมาย จะมีการเชิญเจ้าของร่างไปอภิปราย ผมก็จะสมัครเข้าไปอภิปราย

ตอนที่คุณวีระ จำคุก ในข้อกล่าวหาหมิ่นฯ ขณะนั้น กำลังจะสมัครเป็น ส.ส.

ใช่ๆ เพราะถ้าผมเป็นผู้แทน เขาก็ขังผมไม่ได้ เขาก็ต้องตัดสิทธิ์ก่อน ตอนนั้นมีคนให้กำลังใจผมวันหนึ่งมีจดหมายเป็น 100 ฉบับ เพราะเขาไม่เห็นว่ามันผิด แล้วเขาไม่เห็นเจตนาว่า เราตั้งใจที่จะลบหลู่สถาบันกษัตริย์ตรงไหน เพราะเวลาเราพูด มันสอดคล้องกับวัฒนธรรมชาวบ้านนอก ซึ่งชาวบ้านนอก เขาไม่ได้ ดูหมิ่นกษัตริย์ ตอนผมพูดตอนนั้น ก็พูดในระดับพระองค์เจ้าซึ่งมีอยู่มากมาย

ที่พูดถึงวัฒนธรรมชาวบ้านบ้านนอก ในเนื้อหาปราศรัยช่วยหาเสียงครั้งนั้น หมายความถึงอะไร

ถ้าภาคกลางก็ลิเก ถ้าหนังก็หนังจักรๆ วงศ์ๆ ถ้าภาคใต้ก็หนังตะลุง เป็นเรื่องปกติ เขาพูดกันอย่างนี้ตลอด เพราะว่าหนังตะลุงก็เล่นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ

ทั้งคนพูดและคนฟัง ในการช่วยหาเสียงครั้งนั้นไม่ได้คิดว่าหมายถึงสถาบัน

ใช่ ผมและชาวบ้านไม่ได้หมายถึงผู้ปกครองที่เป็นประมุขของประเทศ

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 มีคนที่ไม่ใช่นักการเมือง มองเรื่องนี้เยอะ คุณวีระกานต์มองยังไง

คนที่มีความคิดเชิงอนุรักษ์ ก็ไปฟ้องร้อง แต่ความจริงก็ถูกปั่นมา ซึ่งตอนนี้ ผู้แวดล้อมสถาบัน ก็แบ่งความเห็นเป็น 2 ฝ่าย มีฝ่ายที่เห็นว่าวิธีการใช้กฎหมายแบบนี้ไม่ใช่การปกป้องสถาบัน
คนที่คัดค้านการแก้กฎหมาย ม.112 บางคนได้ประโยชน์ จากสิ่งที่เป็นอยู่ จึงต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนเองมีความจงรักภักดีแล้วต่อสู้แทนระบอบ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น เลย เพราะไม่มีใครคิดโค่นล้มทำลาย ทุกคนก็ปรารถนาดี เพียงแต่วิธีการแตกต่างกัน