ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งหลายเรื่องดูเหมือนเข้าทางรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการเสนอให้แยกที่คุมขังระหว่างนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้อง ขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมนราชทัณฑ์ทั้ง 3 คนในฐานะคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณากรอบและหลักเกณฑ์ว่านักโทษรายใดควรจะได้รับการโอนย้ายจากเรือนจำปกติมาที่เรือนจำโรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป. ให้คำตอบน่าสนใจในหลายประเด็น
ข้อเสนอของของ คอป. ถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้ในหลายประเด็น เช่น การแยกขังผู้ต้องหากลุ่มนปช.หรือกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 หรือแม้แต่กรณีของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ที่ถูกถามหามาตรฐานหลังจากได้รับการประกันตัวออกไป
เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบรัฐบาลว่ารัฐบาลเอาเจตนารมณ์ของคอป.ตรงประเด็นหรือไม่ เพราะข้อเสนอของคอป.เราทำงานโดยรับผิดชอบต่อประชาชน หรือ Public Accountability ผมถูกกล่าวหาว่าไปช่วยเสื้อแดงทั้ง ๆ ที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่มีครั้งหนึ่งที่ศาลมีหมายเรียกให้ไปให้ข้อคิดเห็นในการประกันตัวนปช. ในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นครั้งเดียวแล้วผมก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวใดๆ อีกเลย ผมอยากให้สังคมแยกให้ออกระหว่างผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องเด็ดขาด ต้องเข้าใจว่าผู้ต้องขังที่จะถูกย้ายมาควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ไม่ใช่ผู้ต้องขังเด็ดขาด และไม่ได้เป็นนักโทษการเมือง เพราะขณะนี้ประเทศไทยไม่มีนักโทษคดีการเมือง
เราเคยมีนักโทษการเมืองกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มนักโทษที่ถูกย้ายไปควบคุมตัวที่เกาะตะรุเตา แต่ผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวยังเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของตำรวจ ดีเอสไอ และอัยการ หากเห็นสมควรควบคุมตัวไว้ก็ต้องขอให้ศาลออกหมายขังระหว่างการพิจารณาคดี
หากปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา เช่น นายอริสมันต์ได้รับการปล่อยตัวมาทั้งๆ ที่โดนคดีเดียวกับผู้ที่เคยถูกจำคุกไปแล้ว จะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองได้จริงหรือ
เราต้องมีความหวังในเรื่องการปรองดอง และผมก็หวังว่าประเทศไทยจะเกิดความสงบ ปรองดองกันได้ ไม่ใช่ คอป. เพียงฝ่ายเดียวที่จะทำ แต่ทุกภาคส่วนในประเทศต้องร่วมกันทำงานและที่ผ่านมาคอป.ก็ได้รับการตอบสนองที่ดี รวมถึงความสนับสนุนจากต่างประเทศและประชาคม ซึ่งในหลายประเทศที่เคยมีปัญหาก็ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นดีพี (UNDP-สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ให้เข้ามาแนะนำช่วยเหลือ ผมเคยพูดหลายครั้งว่าในสังคมมีความเห็นแตกต่างกัน แต่ไม่ควรจะมาทำร้ายกันให้เกิดความรุนแรง จากการศึกษาวิเคราะห์ของผมกระบวนการยุติธรรมของไทยมี 3 แย่ คือ ประสิทธิภาพแย่ ถูกคุกคามสิทธิเยอะ และกระบวนการยุติธรรมมีราคาแพง ค่าใช้จ่ายสูง
จะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะแม้ คอป. จะมีข้อเสนอออกมาแต่สังคมกลับใช้ความรู้สึกตัดสินมากกว่าเหตุผล
นี่คือปัญหาที่สังคมไทยใช้ความรู้สึกตัดสิน ประสาทการรับฟังดับ ไม่มีการรับฟังเหตุผล สิ่งที่ คอป. เสนอแนะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือรัฐบาลปัจจุบันเป็นหลักทางวิชาการเท่านั้น การทำงานของ คอป. มีความอิสระและโปร่งใสพอ เช่น เรื่องการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐจะต้องพิจารณา 3 ประเด็น คือ ต้องตอบให้ได้ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หากจำเป็นก็ต้องเอาตัวไว้ ปล่อยไปไม่ได้ และที่ผ่านมาการเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในอำนาจรัฐ เราต้องพิจารณาดูว่าเค้ามีมูลเหตุให้หลบหนีหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเขาไม่หลบหนี ต้องถามว่าจะเอาตัวเค้าไว้ทำไม มีความพยายามไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือข่มขู่พยานหรือไม่ รวมถึงจะเข้าไปก่ออันตรายทำผิดซ้ำหรือไม่ ต้องแยกให้ได้ แต่ถ้ามั่นใจว่าเขาไม่เข้าข่ายมีพฤติกรรมในประเด็นข้างต้นก็ต้องให้ปล่อยตัวไป
และการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิ่งที่ คอป. เสนอมาตลอด เพราะเห็นว่าเหตุมาจากการใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง หากทำทุกอย่างให้เข้าระบบก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างได้ ข้อเสนอ คอป. ไม่ได้ระบุว่าต้องทำเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ควรมีการปฎิรูประบบยุติธรรมทั่วประเทศ มีประโยชน์อะไรถ้าเอาคนมาอยู่ในอำนาจรัฐในระหว่างที่ยังไม่มีการตัดสินคดี เพราะเขายังเป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา และขณะนี้นักโทษที่มีอยู่มันล้นเกินความสามารถที่เรือนจำแต่ละแห่งจะรองรับได้แล้ว
ผมเองก็ถูกมองว่าเป็นแดง ก็อยากจะถามว่าแล้วผมไปเกี่ยวอะไรด้วย ผมเพียงแต่ทำความถูกต้องให้ปรากฏแล้วให้คนอื่นที่มีหน้าที่ไปพิจารณาต่อ หากเรายังไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ ต่อไปประเทศจะเกิดความรุนแรง การใช้กระบวนการยุติธรรมจึงต้องระวัง ไม่เช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมของไทยจะล้าหลังที่สุดในเอเชีย
มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเราจะล้าหลังที่สุดในเอเชีย
ถ้าเราดูในเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นก็ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บางคนทนอับอายไม่ได้ต้องฆ่าตัวตายหนีความผิด ซึ่งเรื่องอย่างนี้ไม่นักการเมืองไทย เคยเห็นนักการเมืองไทยคนไหนบ้างทำผิดแล้วไม่หนี ส่วนใหญ่จะหนีไปต่างประเทศอย่างเดียว คือ ประชาชนของเขาทำความผิดแล้วมีความละลายต่อสิ่งที่กระทำ กระบวนการยุติธรรมของเขาก็เข้มแข็ง ไม่ต้องจ่ายแพง ญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจน้อย อัยการน้อย ศาลน้อยกว่าเราเยอะมาก ขณะที่ประชากรของเขามากกว่าเรา แต่เรามีค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมเยอะมาก คนเลยไม่ละอาย
ผมเคยพูดอยู่เสมอว่าคนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ 3 ประการ คือทำงานตามสบายไม่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง กลัวผู้บังคับบัญชาในทุกระดับชั้น และชอบประจบทั้งฝ่ายการเมืองหรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข ไม่เช่นนั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของเราล้าหลัง แล้วก็จะนำไปสู่เหตุขัดแย้ง ซึ่งผมก็ยังมองโลกในแง่ดี ไอยากให้เกิดความขัดแย้ง แต่หวังว่าความปรองดองจะเกิดขึ้น เห็นได้จากการตื่นตัวของหลายฝ่าย เช่น ภาคธุรกิจที่ออกมาเคลื่อนไหว มีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านการคอร์รัปชั่น