แดงพอใจ รัฐเยียวยาศพ 7.75 ล.

ข่าวสด 12 มกราคม 2555 >>>




แกนนำนปช.แถลงขอบคุณรัฐบาล กรณีเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายผู้ชุมนุมทางการเมืองศพละ 7.75 ล้าน แต่ยืนยันยังเดินหน้าทวงความยุติธรรมคดี 91 ศพต่อไป ที่ห้างอิมพีเรียล กทม. วันที่ 11 ม.ค.

นปช.ขอบคุณครม. จ่ายเยียวยาศพละ 7.75 ล้าน แต่ไม่ลืมคดี 91 ศพ "ธิดา" ลั่นจะติดตามต่อไป จี้รัฐบาลเอาคนสั่งการมาลงโทษให้ได้ ชี้เงินช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าปรองดองเกิดขึ้น ความยุติธรรมต่างหากสำคัญสุด พร้อมยืนยันเดินหน้าช่วยเหลือประกันตัวนักโทษเสื้อแดง ขณะที่ "ยงยุทธ" เผยขั้นตอนจ่ายเยียวยา จะต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา ด้านประชาธิปัตย์ยืนกรานขวางเยียวยา อ้างมีกลุ่มคนต้องคดีได้รับ ส่วน "มาร์ค" เสนอจ่ายให้ผู้สูญเสียในปี 2516 ด้วย "ถวิล" อดีตเลขาฯ สมช. ตอบรับดีเอสไอแล้ว เข้าให้การ 18 ม.ค. ที่มาแผนผังล้มเจ้า "ศอฉ."

นปช. ขอบคุณ ครม. เยียวยา

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว นางธิดา โตจิราการ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. ร่วมแถลงประจำสัปดาห์ โดยนายวรวุฒิ กล่าวว่า นปช. ขอบคุณมติครม.ที่อนุมัติงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง ยืนยันว่าเราต่อสู้อย่างสันติ ปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลก่อนหน้านี้อ้างถึงชายชุดดำ จึงขอให้รัฐบาลติดตามว่าชายชุดดำมาจากไหน ขอให้นำความจริงมาให้ได้ว่า ใครเป็นคนทำร้ายประชาชน เพื่อนำตัวมาลงโทษโดยเร็ว
ส่วนนางธิดากล่าวว่า วันที่ 12 ม.ค. เวลา 14.00 น. จะไปพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อถามถึงขั้นตอนการเยียวยาและขอบคุณที่นำเรื่องเข้าสู่ครม.อย่างรวดเร็ว

ไม่ลืมคดี 91 ศพ-จี้รัฐสะสาง

"นปช.พอใจในตัวเลขการชดเชย แต่อยากทราบในรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ ว่าในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์บอกมีเงินเยียวยากว่าหมื่นล้าน แต่ใช้ไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท จึงอยากทราบในสมัยนั้นนำเงินไปใช้ในส่วนใดบ้าง ทั้งนี้ คิดว่าการเยียวยาไม่มีคำว่าแพงไป เพราะสังคมไทยบอบช้ำมามาก สิ่งสำคัญคือต้องไม่ฆ่าคนกลางถนนอีก และการเยียวยาผู้เสียชีวิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขาไม่ได้เสียชีวิตด้วยเรื่องส่วนตัว" นางธิดากล่าว
นางธิดากล่าวด้วยว่า ส่วนคดี 91 ศพ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาคนที่ทำร้ายประชาชนมาลงโทษให้ได้ นปช. จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป เมื่อถามว่าการเยียวยาจะช่วยสร้างความปรองดองได้หรือไม่ นางธิดากล่าวว่า ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะการจะปรองดองได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เกิดความสบายใจขึ้นเล็กน้อยว่าได้รับการช่วยเหลือแล้ว ดีกว่ารู้สึกว่ายังไม่ได้รับการสนใจดูแล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินจะช่วยทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นได้ ความยุติธรรมต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น

ลอตแรก 47 คนไปคุกการเมือง

รักษาการประธาน นปช. กล่าวต่อถึงการย้ายผู้ต้องขังที่กระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ในโรงเรียนพลตำรวจนครบาล บางเขน ว่าได้รับทราบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรม ว่าวันอังคารที่ 17 ม.ค. ผู้ถูกคุมขังชุดแรก 47 คน จากทั้งหมด 57 คน จะย้ายจากเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ มายังเรือนจำผู้ต้องหาคดีทางการเมือง หลังจากอาหารมื้อเช้าผู้ต้องขังจะถูกย้ายทันที ส่วนอีก 10 คนที่เหลือที่ยังไม่ได้ย้าย น่าจะเป็นผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิเตอร์ หรือ นักโทษเด็ดขาด ที่ศาลตัดสินแล้วไม่อุทธรณ์ แต่รอพระราชทานอภัยโทษ จึงขอให้ได้รับการย้ายไปรวมกันทั้งหมดที่เรือนจำชั่วคราว เพราะถือเป็นความยิ่งใหญ่ของนักต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่ใช่อาชญากร

เร่งประกันตัวนักโทษแดง

นางธิดากล่าวอีกว่า ส่วนการประกันตัวนั้น จากการประสานงานรัฐบาลแจ้งว่า ครม. อนุมัติงบประมาณ 43.8 ล้านบาท เพื่อประกันตัวผู้ถูกคุมขังทั้ง 57 คน ขอให้การดำเนินการราบรื่น และขอให้รัฐบาลอะลุ้มอล่วย แต่ถือว่ายังไม่สิ้นสุดกระบวนการ เพราะผู้ถูกคุมขังทั้งหมดยังต้องเผชิญชะตากรรม แม้จะได้รับการประกันตัว แต่การต่อสู้คดียังอีกยาวไกล ขณะที่ นปช. อยากให้คดีสิ้นสุดอย่างมีเหตุผลมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำชมรมคนรักอุดร ระบุว่านางธิดาบริหารกลุ่มคนเสื้อแดงให้เป็นคอมมิวนิสต์ว่า ไม่รู้สึกอะไร เพราะคนเสื้อแดงจะเป็นคนตัดสิน คนเสื้อแดงน่ารัก นายขวัญชัยมีจังหวะที่เหมาะ ที่คนเสื้อแดงอยู่มาตรงนี้ และโตขึ้นมาได้ แต่เมื่อขึ้นมาขณะนี้จะฟังประชาชนหรือไม่ ก็แล้วแต่เขา คนเสื้อแดงมีวุฒิภาวะ
   "สักวันตัวขวัญชัยคงรู้ และคงจะปรับตัวใหม่ หรือไม่เช่นนั้นคนเสื้อแดงจะรู้ หากขวัญชัยไม่ปรับตัว และนายขวัญชัยก็จะต้องหายไป อย่างตัวเองก็มีปัญหากับแกนนำส่วนหนึ่ง แต่วันนี้ก็ปรับตัวกันได้ปกติแล้ว เวลาที่ผ่านไปกับเรื่องราวที่มากขึ้น จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น" รักษาการประธาน นปช. กล่าว

รอตั้งอนุ กก. พิจารณาจ่าย

ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ นายยงยุทธกล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยา ภายหลังที่ ครม. เห็นชอบในหลักการและกรอบวงเงินว่า ต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อวางหลักเกณฑ์การเยียวยา และรายละเอียดต่างๆ เพราะหลังจากนี้จะมีรายละเอียดอีกมาก ส่วนจะมีใครเข้ามาเป็นประธาน หรือดูแลในอนุกรรมการ ต้องประชุมกันอีกครั้ง และจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ โดยในเบื้องต้นจะดูว่าผู้เสียหายมีเท่าไหร่ ต้องรักษาในโรงพยาบาลนานแค่ไหน หรือเจ็บป่วย และรักษาตัวอยู่ที่บ้าน สิ่งเหล่านี้มีรายละเอียดมาก
รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวต่อว่า ที่ ครม. อนุมัติไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นเพียงหลักการเท่านั้น หลักเกณฑ์ต้องรอการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา เมื่อถามว่ามีผู้มองเรื่องนี้ว่าเป็นการปูนบำเหน็จกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อสู้ให้พรรคเพื่อไทย นายยงยุทธกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการเยียวยาครั้งนี้รวมทุกคนที่เกี่ยวข้อง และทุกคนที่เสียหายทั้งหมดต้องได้รับการเยียวยา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนเงินเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง ในอัตราสูงสุดระบุว่า กรณีเสียชีวิต และทุพพลภาพ ได้รับ 4,500,000 บาทต่อราย โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิตยังมีค่าปลงศพอีกรายละ 250,000 บาท นอกจากนี้ ยังชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอีกรายละ 3,000,000 บาท รวมกรณีเสียชีวิตจะได้รับทั้งสิ้น 7,750,000 บาท และทุพพลภาพได้รับ 7,500,000 บาท

หลายฝ่ายเชื่อบรรยากาศดีขึ้น

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวถึง ครม. อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาว่า เป็นเรื่องดี จะได้ช่วยเหลือครอบครัวที่สูญเสียได้ต่อสู้ชีวิต การเยียวยา จะทำให้เกิดความรักใคร่ปรองดอง ส่วนแกนนำทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองที่นำประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อไป ส่วนจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องคดี 91 ศพยุติลงด้วยหรือไม่ หากบางคนพอใจจะทำให้ปัญหาลดลงไป มากกว่าปล่อยทิ้งคาไว้แบบนี้
ด้าน พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรอง ผบ.ตร. ในฐานะ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องดี ทำให้บรรยากาศการสร้างความสามัคคีเกิดขึ้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ เป็นจุดเริ่มต้นการสมานฉันท์โดยความเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่เลือกแบ่งฝ่าย ลดอคติ นำไปสู่การให้อภัยซึ่งกันและกัน เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง เมื่อบาดแผลถูกรักษาทุกคนจะเห็นประโยชน์ว่าเราจะขัดแย้งกันทำไม (อ่านรายละเอียดหน้า 3)

มาร์คให้จ่ายถึงตุลาฯ 2516

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการฟ้าวันใหม่ ทางบลูสกาย แชนแนล ถึงกรณีที่ ครม. อนุมัติเงินเยียวยาว่า เข้าใจถึงหลักคิดที่ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นเหยื่อของสถานการณ์ และเกิดความสูญเสีย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมองอีก 2 ประเด็น คือ 1. เหตุใดเรามาเจาะจงเฉพาะเหตุการณ์การชุมนุมในส่วนนี้ เพราะยังมีพี่น้องประชาชนที่สูญเสีย และเป็นเหยื่อจากอีกหลายเหตุการณ์ อาจไม่ใช่เรื่องการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง แล้วกลุ่มเหล่านี้จะได้การพิจารณาด้วยหรือไม่ เช่น การสูญเสียที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2.ขีดเส้นเหตุการณ์อยู่ที่ปี 2548-2553 ดังนั้น หลายคนที่สูญเสียในช่วงปี 2535, ปี 2516, และปี 2519 ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เคยร้องเรียนมาโดยตลอดเช่นกัน จึงเกิดคำถามว่าทุกคนควรจะมีสิทธิ์ด้วยหรือไม่ และในหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและอาจได้รับการเยียวยา คงต้องดูข้อเท็จจริงด้วยว่า คนเหล่านี้มาชุมนุมโดยบริสุทธิ์แล้วตกเป็นเหยื่อ ก็คงไม่ติดใจ แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น วางเพลิง ทำร้ายเจ้าหน้าที่ อาวุธสงคราม ก็ต้องถามว่าเราควรจะต้องใช้หลักเกณฑ์กับคนเหล่านี้ด้วยหรือไม่

ปชป.ยืนกรานขวางเยียวยา

ขณะที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ครม.เงาว่า ไม่เห็นด้วยกับมติครม. อนุมัติเงินเยียวยาให้ผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย เช่น กรณีคนเจ็บ หรือทุพพลภาพ ที่ศาลมีคำสั่งภายหลังว่าเป็นผู้กระทำความผิด หากเป็นไปตามมติ ครม. กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาด้วย ทั้งที่ไม่สมควรได้รับ เช่น กรณีการประกอบระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น แล้วเกิดระเบิดก็ไม่สมควรได้ เพราะมีส่วนร่วมประกอบระเบิด หรือกรณีจะยิงวัดพระแก้ว แล้วพลาดไปโดนกระทรวงกลาโหม แต่ถ้าในเกณฑ์ของมติครม. คนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาด้วย

"แม่เกด"บุกสภาขอพบมาร์ค

ที่รัฐสภา นายพะเยาว์ และนายณัทพัช อัคฮาด แม่และพี่ชายของ น.ส.กมนเกด อาสาพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์ พ.ค. 2553 พร้อมด้วยญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต เดินทางมาขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายกฯ เพื่อจะมอบภาพของน.ส.กมนเกด ที่ถ่ายคู่กับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก แต่นายอภิสิทธิ์มอบหมายให้นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้รับแทน
นายณัทพัชกล่าวว่า เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เคยสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองต่อบุคคลทั้ง 2 อย่างไรบ้าง คนไทยเป็นประเภทโกรธง่าย หายเร็ว ถึงแม้จะออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุม เราไม่ได้สนใจในจำนวนเงิน เพราะเงินไม่สามารถทดแทนชีวิตคนได้ แต่ถ้าได้รับเงินเยียวยา ก็จะนำเงินไปขัดขวางการสร้างความปรองดองที่เพิกเฉยต่อการค้นหาความจริง โดยจะเดินหน้าค้นหาความจริงให้ได้ และในสัปดาห์หน้าจะมาสภาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ค้นหาความเป็นจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ด้วย

"ถวิล" ตอบรับให้การผังล้มเจ้า

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนคดีกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือคดีล้มเจ้า กล่าวว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตอบรับเข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในวันที่ 18 ม.ค. เวลา 10.00 น. เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงที่มาของแผนผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในฐานะที่นายถวิลเคยเป็นเลขานุการ ศอฉ. น่าจะทราบการทำงานทุกอย่างของ ศอฉ. เป็นอย่างดี
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ ดีเอสไอยังทำหนังสือแจ้งให้นายถวิลสามารถนำบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้จัดทำแผนผังล้มเจ้า มาให้ปากคำร่วมกันได้ด้วย สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องการจากนายถวิล คือใครเป็นผู้ทำรายชื่อทั้ง 39 คนตามแผนผังล้มเจ้า จะได้เชิญตัวบุคคลเหล่านั้นเข้าให้ข้อมูล ถึงหลักการ เหตุผล และมีพยานหลักฐานใดสนับสนุนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคดี