แนวร่วมของขบวนการประชาชน (1)

บทความประจำสัปดาห์ 3 ตุลาคม 2554
โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....




การเติบใหญ่ของ นปช. และขวนการประชาชนคนเสื้อแดง แม้ดูเสมือนประสบความสำเร็จในการต่อสู้ และยิ่งเมื่อได้เข้าร่วมรณรงค์และตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไป จนกระทั่งการเลือกตั้งผ่านพ้นมา แม้จะมีข้อบกพร่องผิดพลาด และการโกงกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านมาได้ และในที่สุดพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ก็เอาชนะการเลือกตั้ง ได้ตั้งรัฐบาล หลายส่วนก็มีทัศนะต่อการดำรงอยู่ของ นปช. และขบวนการเสื้อแดงที่แตกต่างกัน เพราะนี่เป็นก้าวย่างในยุคใหม่ ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และการปรับองค์กรทั้งขบวน เพื่อรองรับการต่อสู้ในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหม่ หลังจากได้ประสบชัยชนะในเป้าหมายแรกทางยุทธศาสตร์ไปแล้ว คือโค่นล้มรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยและจัดตั้งรัฐบาลจากประชาชนขึ้น
องค์ ประกอบและบทบาทของ แกนนำ, มวลชน และแนวร่วมแบบต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของการปรับกระบวนทัศน์ และกระบวนท่าใหม่ ในขบวนการประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกระทำจากสถานการณ์ใหม่ อันจะทำให้ขบวนการประชาชนเสียหายได้
จึงขอเสนอเรื่องราวของ “แนวร่วม” เพื่อร่วมเป็นส่วนในการศึกษา ยกระดับ ปรับขบวนต่อไป
“แนว ร่วม” โดยทั่วไปหมายถึง กลุ่มคน หรือ องค์กร ที่ร่วมกันทำการบางอย่าง โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มักใช้ในการต่อสู้ของประชาชนทางการเมือง เพื่อปลดปล่อยจากอำนาจเหนือกว่าที่ครอบครองประเทศนั้น ๆ เช่น จักรวรรดินิยม หรือผู้ปกครองในประเทศ เช่น เผด็จการ ขุนศึก หรือ ระบอบศักดินา
บางที ระหว่างกลุ่มต่อกลุ่มในการต่อสู้เรียกเป็น “พันธมิตร” นี่เป็นลักษณะความผูกพันระหว่างคนต่อคน กลุ่มต่อกลุ่ม แต่ไม่เป็นการต่อสู้ของประชาชนก็ได้ เช่น พันธมิตรทางการค้า ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ หรือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
แนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชื่อก็เน้นว่าเป้าหมายคือ ประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ พัฒนาจากการจับมือหลวม ๆ ร่วมมือเฉพาะกิจเช่น การชุมนุม ให้เป็นองค์กร มีการนำและการจัดตั้งระดับหนึ่ง พัฒนามามีหลักนโยบาย ยุทธศาสตร์ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีผู้ปฏิบัติงานมวลชน และองค์กรจัดตั้งที่ทำงานต่อเนื่อง (แผนผังอยู่ท้ายบทความ)
เมื่อบรรลุ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์เบื้องต้น เป็นธรรมชาติที่จะมีการแตกแยก เพราะคนจำนวนหนึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว (ของกลุ่มตน) เช่น นปช. มียุทธศาสตร์เบื้องแรกคือ โค่นล้มรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย เมื่อพบว่าเลือกตั้งได้ชัยชนะ คนจำนวนหนึ่งก็พึงพอใจที่บรรลุเป้าหมายนี้ และเลือกที่จะเดินเส้นทางของอำนาจรัฐ ไม่ประสงค์ ที่จะเดินเส้นทางของประชาชนอีกต่อไป กระทั่งพยายามสร้างอุปสรรค์ขัดขวางเส้นทางประชาชนที่ก้าวต่อไป อาจเกิดจากความเข้าใจผิดว่า อำนาจรัฐเป็นของกลุ่มตนแล้ว หรือ กลัวความขัดแย้งระหว่างอำนาจเดิมกับอำนาจรัฐได้ใหม่ และกลัวความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐได้ใหม่กับประชาชน จึงเป็นธรรมชาติที่จะมีแกนนำของแนวร่วมการต่อสู้เย็นชา เพิกเฉย ต่อต้านการขับเคลื่อนของประชาชน
ในยามได้อำนาจรัฐชั่วคราว เราจะทำอย่างไรกัน ?
   1. เข้าใจธรรมชาติขององค์ประกอบแนวร่วมว่ามีเป้าหมายแตกต่างกัน เป้าหมายต่อไปคือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 และผลิตผล คมช. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน อาจมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย (หรือมัวพะวงกับอำนาจรัฐที่ได้มาใหม่) ว่าการขับเคลื่อนในเป้าหมายยุทธศาสตร์ใหม่จะให้ผลประโยชน์มากน้อยเพียงไร ผลตอบแทนตนเองคุ้มค่าไหม?
   2. มีสิ่งเก่าหายไป มีสิ่งใหม่เข้ามา เช่น ได้ปัญญาชน ชนชั้นกลาง สื่อ และข้าราชการทหาร พลเรือนมาร่วมด้วย เช่น องค์กรประชาชนอื่น ๆ เกี่ยวกับการสืบค้น คนตาย บาดเจ็บ จับกุมคุมขัง การช่วยเหลือผู้ถูกปราบปราม จับกุมคุมขัง หรือล่าสุดคณะนิติราษฎร ที่โดดเด่นเสนอสิ่งใหม่ในสังคม ให้ลบล้างผลการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันเนื่องมาจากกฎหมายและคำสั่ง หรือในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คมช. ก็จะกลายเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญ
   3. องค์กรแนวร่วมต้องปรับให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นองค์กรและปัญญาชน ชนชั้นกลาง โดยมีแนวรบด้านกฎหมายเป็นหลัก
จาก จุดเด่นรากหญ้าซึ่งเป็นจุดแข็งของขบวน และมีจุดอ่อน ปัญญาชน ชนชั้นกลาง สื่อ เราจึงต้องแก้จุดอ่อน เพื่อสร้างจุดแข็งด้านวิชาการ มารองรับขบวนให้มากขึ้น
แล้วจะรับมือกับรอยต่อระหว่างเป้าหมายยุทธศาสตร์เดิมและใหม่อย่างไร ?
   1. อธิบายให้ผู้ปฏิบัติงานและมวลชนเข้าใจการขับเคลื่อนขององค์กรประชาชน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์แต่ละขั้นตอน
   2. ปรับปรุงองค์กรและการนำให้ทันและสอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ทางยุทธศาสตร์
   3. เร่งจัดการศึกษาทั่วทั้งขบวนและประชาชนทั่วไป ถึงบทบาทของประชาชนในยุทธศาสตร์ขั้นใหม่
แนวร่วมในองค์กรและแนวร่วมนอกองค์กร
   - ในองค์กรแนวร่วมจัดเป็นแนวร่วมชั้นใน
   - นอกองค์กรแนวร่วมจัดเป็นแนวร่วมชั้นนอก
แนว ร่วมชั้นในในองค์กร ยามมีการต่อสู้ที่แหลมคมจะเป็นอันตรายที่สุด ทำให้องค์กร ขาดเอกภาพ ขาดลักษณะสู้รบ จะเป็นจุดอ่อนที่ถูกทำลาย ยกเว้น แนวร่วมชั้นในขององค์กรปฏิวัติประชาชน ที่นำโดยพรรคปฏิวัติก็จะนำพาแนวร่วมชั้นใน คือ กลุ่มแกนนำขององค์กรแนวร่วมไปได้ แต่ แนวร่วมชั้นในขององค์กรแนวร่วมประชาธิปไตย ยังไม่สามารถสร้างเอกภาพเช่นนั้นได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะแตกแยกกันได้ ถ้าพรรคการเมืองที่ร่วมกันไม่เดินแนวทางมวลชน และทำเพื่อมวลชนอีกต่อไป หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับผลประโยชน์มวลชน
แนว ร่วมชั้นนอกองค์กร เช่น กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มสื่อ กลุ่มทุน SME นักเขียน สื่อ กลุ่มข้าราชการ ทหาร พลเรือน สมาชิกพรรคการเมือง วุฒิสมาชิก ฯลฯ แนวร่วมชั้นนอกไม่อาจเรียกร้องวินัยได้ แต่แนวร่วมชั้นในจำเป็นต้องเรียกร้องวินัยองค์กร
แนวร่วมชั้นนอกนั้น เกิดโดยธรรมชาติ ไม่เกิดจากการแต่งตั้งของ นปช. แต่อย่างใด (โปรดเข้าใจด้วย สำหรับท่านที่เข้าใจผิดว่า นปช. ไปตั้งคณะนิติราษฎรเป็นแขนซ้าย) นี่เป็นบทบาทที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขอจากใคร เพราะบทบาทของผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมนั้น ไม่มีใครกำหนดให้กลุ่มใดทำหรือไม่ทำ แนวร่วมชั้นนอกตลอดจนประชาชนทั่วไป จึงเป็นอิสระในการเคลื่อนไหว และอยู่นอกเหนือเจตจำนงค์ขององค์กรใด ๆ