ถอดคำพูดในรายการเหลียวฯ : คืบหน้าปล่อยผู้ต้องขัง-พ.ร.บ.นิรโทษกรรม



ทีมข่าว นปช.
11 มิถุนายน 2556

ทีมงานอ.ธิดา ได้ถอดคำพูด (บางส่วน) ในรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค. 56 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่และเรือนจำจังหวัดอุดรธานี  และต่อด้วยเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองและพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ผู้ดำเนินรายการ : ครับคุณผู้ชมครับ  ทุก ๆ วันศุกร์ เราก็จะมาพูดคุยเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างที่เกริ่นกันไปว่า  วันนี้เราจะเริ่มต้นกันที่ประเด็นที่เป็นข่าวดีกันก่อนนะครับอาจารย์  นักโทษทางการเมืองวันนี้ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ก็ได้รับการปล่อยตัวอีกหนึ่งท่านนะครับ  ก็ซึ่งนั่นก็คือนายทองสุข  หลาสพ  นะครับ  ส่วนที่เรือนจำจังหวัดอุดรธานีก็ได้รับการปล่อยตัว 2 ท่านนะครับ นั่นก็คือนายแพง  ระดาดาษ แล้วก็นายเจริญ  ลำเนานาน นั่นเอง  ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาอาจารย์ก็ไปต้อนรับสำหรับนักโทษทางการเมืองที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ด้วย


อ.ธิดา  ถาวรเศรษฐ : ค่ะ  ก็คือทองสุข  หลาสพ เนี่ยความจริงคดีเขาก็ไม่ได้เป็นคดีที่ใหญ่แต่เขาก็ถูก 2 ข้อหาก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับ พ.ร.บ.เกี่ยวกับหมายถึงสิ่งเทียมหรืออาวุธปืน  ก่อนหน้านี้ก็คือพิทยา  แน่นอุดร ก็ได้รับการปล่อยตัวก็คล้าย ๆ กัน คือคนเหล่านี้จะเป็นการ์ดอาสา  แล้วในระหว่างที่เป็นการ์ดอาสา บางทีก็เก็บประทัดยักษ์หรือว่าเก็บอะไรบางอย่าง อย่างเช่นเสื้อเกราะหรือมีวิทยุสื่อสาร  และก็จะถูกจับก่อนวันสลายฯ อันนี้จะคล้ายกัน  เสร็จแล้วทีนี้พอถูกจับก่อนวันสลายฯ แล้วก็อย่างของคุณพิทยานี่ไม่ได้รับการประกันตัว  ก็ 3 ปี  แล้วคุณทองสุขได้ประกันตัวไป  แล้วพอตัดสินอุทธรณ์ก็เข้าคุกใหม่  แต่ทั้งสองคนก็คือเข้าโปรแกรมของการพักโทษและการเลื่อนมาเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม  อย่างพิทยานั้นได้เลื่อนเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม แล้วก็เป็นนักโทษชั้นดี ทั้งสองท่าน  เพราะฉะนั้นก็เข้าโปรแกรมพักโทษ  ลดโทษ  ก็คือถ้าติดมาแล้ว 1 ใน 3 นะคะ พิทยานี่พิพากษาครั้งแรก 7 ปีเลยนะ ถ้าติดมา 1 ใน 3 แล้ว  และก็เป็นนักโทษชั้นดีก็จะได้รับการพักโทษ ลดโทษนะคะ  เพราะฉะนั้นทั้งสองคนก็เข้าโปรแกรมปกติ  แต่ว่าคือเราก็เสียใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้น  เพราะความจริงแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ถูกต้องที่มีประกาศ  แล้วคนก็ชุมนุมอยู่ก่อนแล้วมันไม่ใช่ว่าคุณประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนที่จะมีการชุมนุม  เขาชุมนุมอยู่แล้ว  คุณมาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทีหลังมันจะได้อย่างไร?  คุณจะให้คนชุมนุมเลิกหรือ  ก็เขามาเรียกร้องคุณแค่ยุบสภา ให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วคุณประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นนี้  คนที่ชุมนุมมันก็ต้องผิดทั้งหมด  และนี่คือเป็นเหตุผลทั้งหมดที่เราโยงมาสู่ว่าเราถึงต้องขอนิรโทษกรรมให้กับประชาชน  เพราะคนเหล่านี้ไม่สมควรที่จะต้องมาติดคุกเลย  ไม่ได้ทำอะไรผิด  มาร่วมชุมนุมและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็คือไม่ได้มีอาวุธอะไร  แต่ว่าคนเหล่านี้อย่างเช่นประทัดยักษ์เขาก็ไปถือเป็นความผิดเหมือนระเบิดแสวงเครื่องเลย  ดูซิ  แล้วเขาเป็นการ์ดเขาก็ไปเก็บมา  คือถ้าใครมีเขาก็ไปเก็บมา  เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งแสดงความยินดีที่พี่น้องได้ออกมา  แต่ว่าด้านหนึ่งก็สลดใจ  แล้วที่สลดใจมากก็คือเขามีลูกเล็กติดมา  อาจารย์ก็ไปคุยกับลูกเขาบอกว่า “ลูก...ลูกเห็นภาพคุณพ่อวันนี้ ถ้าจะมีเพื่อนมาล้อเลียน (เด็กเรื่องนี้สำคัญมาก) ว่าพ่อเราเป็นคล้าย ๆ คนขี้คุกหรือนักโทษติดคุกเนี่ยลูกต้องโต้เขาไปนะ  ลูกเห็นภาพวันนี้ไหมว่ามีผู้สื่อข่าวมีคนมาเป็นจำนวนมาก  บอกพ่อของเรานั้นไม่ใช่เป็นอาชญากร  แต่ว่าเป็นวีรชนประชาธิปไตยด้วยซ้ำ  เพราะฉะนั้นออกมาผู้สื่อข่าวจึงมาสัมภาษณ์  จึงมาถ่าย (เพราะเราต้องแคร์ความรู้สึกของเด็ก ๆ ลูก ๆ ด้วย) เพราะฉะนั้นลูกต้องพูดกับเขาอย่างภาคภูมิใจว่าพ่อเราไม่ใช่เป็นอาชญากร  ไม่ใช่ติดคุกแบบนั้น”  แต่อันนี้เป็นคุกของคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองแล้วเรายังเชื่อมั่น  คุณพ่อเขาก็ยังใส่เสื้อแดงออกมา ผู้สื่อข่าวก็ถามว่าออกไปเนี่ยคุณยังจะต่อสู้อะไรอีกไหม  เขาบอก  ผมยิ่งกว่าเดิมอีก  แข็งแกร่งกว่าเดิมอีกเพราะว่ามีเวลาได้ทบทวน  นี่คือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจว่า  การฆ่าคน  การจับคนขังคุก  คิดว่ากลัวเหรอ  ตรงข้าม  กลับสร้างคนใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย  คนที่ติดคุกออกมาจากคุกเขาออกมาด้วยความแข็งแกร่ง  เขาไม่ได้ออกมาแบบชาตินี้ผมไม่อีกแล้ว  ไม่  ตรงข้ามเลย  เพราะฉะนั้นก็ต้องขอคารวะพวกเราทุกคน  แล้วก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเรื่องลูก เรื่องเด็กที่ยังไม่เข้าใจ  ญาติหรือเราก็ต้องอธิบายทางการเมืองให้เข้าใจด้วย  เพราะฉะนั้นในช่วงนี้อาจารย์ก็จะออกไปรับตลอดเวลานะคะ  ก็เหลืออยู่ที่เรือนจำหลักสี่ตอนนี้ก็จะเป็น 19 คน และในเรือนจำพิเศษอีกสัก 7-8 คน  แม้นว่าจะดูไม่มาก  แต่ว่านี่ก็คือกลุ่มคนที่ถูกกระทำ

 ผู้ดำเนินรายการ : นอกจากคุณทองสุขที่อาจารย์ไปต้อนรับออกมาจากเรือนจำวันนี้  นักโทษที่เหลือที่อาจารย์บอกว่าเหลือประมาณ 19 คน ได้มีการพูดคุยกับพวกเขาไหมครับ?

อ.ธิดา  ถาวรเศรษฐ : วันก่อนได้พูดคุย  แต่วันนี้อาจารย์ต้องไปต่อ  แล้วส่วนหนึ่ง 4 คนที่อุบลราชธานีออกมาศาล  เพราะฉะนั้นก็จะเหลือน้อยลง  แต่วันก่อนนั้นอาจารย์ได้มีโอกาสไปประชุมเพราะว่าท่านก็เป็นความเมตตาของทางราชทัณฑ์ที่ให้ได้มีโอกาสไปพูดคุย  ก็ให้กำลังใจเขา  ยังกำลังใจดีทุกคน  เราก็บอกเขาไปว่าเราจะพยายามตลอดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิรโทษกรรม  เหมือนกับที่บางครั้งอันนี้มันก็ดูเหมือนกับว่ามีแนวคิดที่ไม่ตรงกันบ้าง  ยกตัวอย่างเช่นญาติวีรชน  ญาติวีรชนก็จะมีความคับแค้นว่าชีวิตที่เสียไปแล้วเรียกกลับไม่ได้  เพราะฉะนั้น  ถ้าพูดตรง ๆ คือเขาไม่ได้ต้องการนิรโทษกรรมเลย  เขาต้องการที่จะให้เอาความจริงให้ปรากฏ  เอาคนผิดมาลงโทษ  เพราะเขาก็เชื่อว่าฝั่งฝ่ายประชาธิปไตยและผู้ถูกกระทำนั้นไม่ผิด  แต่ขณะเดียวกันผู้ถูกกระทำมันไม่ใช่มีแต่คนตาย  ผู้ถูกกระทำก็อยู่ในคุก  และผู้ถูกกระทำก็ยังถูกดำเนินคดี ที่ 30 ปี 20 กว่าปี  เพราะฉะนั้นผู้ถูกกระทำเหล่านี้กับผู้ถูกกระทำที่ถูกฆ่า ถูกทำให้บาดเจ็บ มันก็จะมีลักษณะของความแตกต่างกัน  มันก็จะมีประหนึ่งมีความขัดแย้งเล็ก ๆ เช่น เมื่อเวลาญาติของวีรชนที่เสียชีวิตบอกว่าไม่เอานิรโทษกรรม  ไม่เอาปรองดอง  คนที่อยู่เรือนจำส่วนหนึ่งก็ไม่พอใจ นี่พูดถึงที่ผ่านมาเพราะเขามองไม่เห็นความยุติธรรมอยู่ตรงไหน  สิ่งที่เขาต้องการก็แน่นอนก็คือปลดตัวเองให้ได้รับอิสรภาพ  แล้วก็หลายอย่างดูว่ามันยากเพราะว่ามันผ่านการติดคุกมายาวนาน  อีกส่วนหนึ่งก็คืออาจจะเป็นคดี 112  ซึ่งก็มองว่าการประกันตัวก็เป็นไปไม่ได้  อีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือถูกตัดสิน  แม้นว่าจะได้ประกันตัวไป  แต่ว่าตัดสิน 20 ปี 30 ปี  คนเหล่านี้ก็ต้องการการนิรโทษ  แต่ว่าพี่น้องคนตายนั้นไม่อยากให้มีการนิรโทษ  เพราะฉะนั้น  เราจึงมีครอบครัวของแม่น้องเกด

ผู้ดำเนินรายการ : พอมาถึงตรงนี้ก็ขออนุญาตถามอาจารย์  เพราะว่าแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายก็อาจจะมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน  แล้วก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป  พอมาถึงตรงนี้อาจารย์อยากจะพูดหรือสื่ออะไรในฐานะที่เป็นประธานนปช.สำหรับทั้ง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม  แล้วก็ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย  เหมะ  อย่างข่าวที่ออกมา แม่น้องเกด ต้องขออนุญาตเอ่ยชื่อหรือว่านางพะเยาว์  อัคฮาด ก็แสดงท่าทีอาจจะไม่เข้าใจสำหรับกลุ่มนปช.ที่อึกอักคัดค้านในการนิรโทษคนสั่งฆ่าด้วยครับ

อ.ธิดา  ถาวรเศรษฐ : ความจริงเราไม่มีการอึกอักเลยนะ  เราพูดชัดเจนว่า นปช.นั้นนำเสนอพระราชกำหนด  ซึ่งพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร  แต่ว่าคุณวรชัยใช้สิทธิ์ส.ส.เสนอเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม  แต่เนื้อหาใกล้เคียงกัน  นั่นก็คือว่าให้ประชาชนทุกสีเสื้อได้รับการนิรโทษ  แต่ว่าแกนนำและผู้สั่งปราบปรามให้ดำเนินการไปตามนี้  อันนี้ก็ถ้าพูดกันก็คือในมุมของนักต่อสู้หรือนักเลงก็เหมือนกัน  ก็คือมองว่า ให้ประชาชน พวกข้าพเจ้าไม่ขอใช้สิทธิอันนี้  ทำไม?  เพราะว่าถ้าแม้นว่าเป็นแบบของคุณเฉลิมมันก็จะเกิดแรงต่อต้านมาก คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ไม่พอใจ ยกตัวอย่างเช่นครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือว่าคนเสื้อแดงทั่วไป  แม้ว่าเขาไม่ได้มีการเสียชีวิตบาดเจ็บ  เขาก็รับไม่ได้ที่ว่าผู้ที่จะต้องรับผิดชอบการฆ่าประชาชนนั้นไม่ได้ถูกดำเนินคดี  แต่ในฝั่งเสื้อเหลืองก็อาจจะโกรธไม่ชอบใจแกนนำเสื้อแดง และโดยเฉพาะกับคุณทักษิณ  ชินวัตร  ยิ่งไม่พอใจอย่างหนัก  เพราะฉะนั้นเลยเรียกว่าฉบับเหมาเข่ง ก็ไม่เอา  เพราะฉะนั้น นปช.ไม่ได้อึกอักนะคะ  นปช.พูดเต็มปากมาตั้งแต่โบนันซ่าแล้ว  และก่อนโบนันซ่าเราก็พูดอีกในทุกรายการ ในรายการชูธง  ในรายการของเหลียวหลัง และในการแถลงข่าวทุกครั้งว่าเรายืนยันว่าให้เป็นพระราชกำหนดแล้วไม่ต้องนิรโทษแกนนำ  ในรัฐสภา ส.ส. เขาก็พูดเช่นนี้ตลอดว่านี่เป็นความจริงใจ  เหตุผลเพราะว่าเราไม่ต้องการให้ประชาชนทุกข์ยากมาก  และเหตุผลเพราะเราไม่ต้องการให้ทุกคนค้าน  ถ้าจะทำให้ถูกใจมันเป็นไปไม่ได้ให้ถูกใจทุกคน  เพราะฉะนั้นเราก็คงจะต้องเลือกอะไรที่การต่อต้านน้อยที่สุด  โดยที่ให้ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน  นั่นจึงออกมาในลักษณะนี้  แต่ถามว่ารายละเอียดบางคนอาจจะไม่พอใจ  เช่น ญาติวีรชนอาจจะรู้สึกว่าทำไมคุณเขียนเหมือนทหารไม่มีความผิด  ซึ่งอันนี้ก็เป็นมุมมอง  แต่ดังที่บอกแล้วว่าคือเขาใช้เอกสิทธิ์ส.ส.เสนอก็เสนอได้  แล้วมันก็ต้องไปแปรญัตติ  มีการเติมเต็ม  เพราะฉะนั้นญาติวีรชนจะเสนอก็เสนอได้ว่าอยากให้เป็นแบบนี้  แต่ร่างของ นปช. นั้นเราละเว้นสำหรับแกนนำทุกสีเสื้อ  แต่ให้ประชาชนทุกสีเสื้อในคดีอาญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง  ทีนี้คำถามว่าคดีอาญาถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองก็อีกเรื่องหนึ่ง  ตีความได้อีกอย่างหนึ่ง  เพราะฉะนั้นลึก ๆ ไปดู  แต่ว่าไม่มีใครอึกอัก  เราพูดเต็มปากเต็มคำ  แต่ว่าพวกเราทั้งหมดเป็นหมู่มิตรกัน  ดังที่เราจะได้คุยต่อไปหรือได้คุยมาแล้วว่า  ในฝั่งเขา เขาวางแผนกันเป็นระบบแล้วประสานกันอย่างเป็นเอกภาพ  แต่ฝั่งเราก็จะเป็นประชาธิปไตยมาก  พ.ร.บ.ปรองดองนะมีฉบับคุณสนธิ  บุญรัตกลิน, ฉบับณัฐวุฒิ แล้วฉบับส.ส.อะไรอีกคนหนึ่ง  แล้วก็มาปรองดองของคุณเฉลิม  แล้วก็มานิรโทษกรรมวรชัย  เหมะ เห็นไหมมันก็มี 5-6 ฉบับ  แต่ว่ามีความคิดแตกต่างกัน  แต่ของคุณณัฐวุฒินั้นก็แบบเดียวกันกับวรชัย  เพราะถ้อยคำอะไรต่าง ๆ นั้นมันก็ไปคุยกันได้  เพราะฉะนั้นในฝั่งเรานั้นก็คือ OK เราใช้สิทธิเสรีภาพ  แต่ว่าในหมู่มิตรด้วยกันนั้นเราก็ต้องมีปฏิบัติการที่ไม่ทำให้มิตรเป็นศัตรูหรือว่าเราก็ต้องรักษา อย่างยกตัวอย่างเช่นทางนปช.เสนออย่างนี้แต่พรรคอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่ง  แต่เราก็ต้องบอกว่าเราคิดอย่างไร?  และเราเสนออย่างไร?  ที่แล้วมาร่างรัฐธรรมนูญของเราก็ไม่ตรงกับพรรค  ยังแขวนอยู่นะ  พรรคเขาก็ไม่เอา  แต่พรรคก็ไปไม่รอดไปหยุดอยู่วาระ 2 เราก็บอกถ้าเป็นของเราอาจจะดีกว่า  แต่ความหมายก็คือว่าเราต้องอดทนในความแตกต่าง  เพราะความแตกต่างในฝั่งประชาธิปไตยนั้นมันเป็นความแตกต่างในเชิงปลีกย่อย  ในเชิงจังหวะก้าว  มันไม่ใช่ความแตกต่างในลักษณะมิตร-ศัตรู  มันไม่ใช่ความแตกต่างที่เป็นปฏิปักษ์  เป็นความแตกต่างที่เราต้องใช้หลักการและเหตุผลมาอธิบายได้  อันนี้ก็แจ้งในประเด็นนี้  เพราะฉะนั้นถ้าถามก็คือคุณจะให้ นปช. ไปโจมตีคุณเฉลิมทำไม? ไม่มีเหตุผล  คุณเฉลิมก็มีสิทธิที่จะเสนอเพราะเขาก็คิด  ทำไมเขาจะต้องคิดเหมือนนปช.ล่ะ  นี่นะ! ในคนเสื้อแดงมีจำนวนมากที่ใช้วิธีว่าจะบังคับให้กลุ่มอื่นคิดเหมือนตัวเอง

ตอนนิรโทษกรรม 29 มกราเขาก็เสนออย่างหนึ่ง นปช.ก็เสนออย่างหนึ่ง กลุ่มอื่นก็เสนอ คุณวรชัยก็เสนออีกอย่างหนึ่ง สุดท้ายความเป็นจริงมันจะบอกว่าอะไรมันจะเป็นไปได้  ถามว่าตอนนั้นทำไมเราจะต้องบังคับว่าคิดเหมือนกัน  คิดเหมือนกันมันก็เหลืออย่างเดียว  มันไม่มีอะไรให้มีการเลือกสรร  เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องไปบังคับหรือโจมตีว่าต้องคิดเหมือน  เราต้องอนุญาตให้มีความแตกต่างกันได้  แต่นี่ก็คือความแตกต่างและความขัดแย้งที่ไม่ใช่ปฏิปักษ์ มันต้องพูดกันด้วยหลักการและเหตุผล  กับฝั่งศัตรูเราจะพูดกับประชาชนยังต้องใช้หลักการและเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ และเราไม่ต้องบังคับว่าทำไมจะต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน พูดเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้  เพราะฉะนั้นตรงก็นี้ให้ชัดเจนว่า ไม่มีความจำเป็นที่นปช.จะต้องมาโจมตีว่าคุณเฉลิม  เพราะคุณเฉลิมก็มีสิทธิที่จะเสนอแล้วก็ต้องไปวัดกันว่า ส.ส. ส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือเปล่า นปช.ก็เสนอ เราก็เสนอแล้วคุณวรชัยก็ใช้สิทธิในฐานะส.ส.เป็น พ.ร.บ. ไม่เป็น พ.ร.ก. ก็มีคำถามเหมือนกันว่าทำไม ส.ส.เสื้อแดงจำนวนหนึ่งไม่ไปเซ็นให้คุณวรชัย  ก็คุณวรชัยหาคนเซ็นได้แล้ว  อีกอย่างหนึ่ง ส.ส.เสื้อแดงส่วนหนึ่งเขาถือว่าเขาต้องสนับสนุนพระราชกำหนด  เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีปัญหาอะไร  พอมาถึงตอนนี้เราก็บอกว่าอะไรก็ได้ให้มันเร็ว ๆ เถิด

 ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้นก็คือ ณ ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นความแตกต่างกันในด้านความคิดที่ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันเสมอไป เป็นความสวยงามตามระบอบประชาธิปไตยแต่ว่าบทสรุปจะไปลงท้ายที่ พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ฉบับไหน? ของใคร? ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับเวลาในสถานการณ์ที่เหมาะสม  ซึ่งก็จะเป็นคำตอบให้  ทีนี้ถามอาจารย์นิดหนึ่ง บางคนอาจจะไม่ทราบความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. กับ พ.ร.ก. แตกต่างกันอย่างไรครับ
 
อ.ธิดา  ถาวรเศรษฐ : พระราชกำหนดใช้อำนาจโดยรัฐบาลนั่นคือฝ่ายบริหาร ครม. เสนอ ทันทีเลย

ผู้ดำเนินรายการ : ทันทีเลยก็จะเร็วกว่าใช่ไหมครับ

อ.ธิดา  ถาวรเศรษฐ : แน่นอนค่ะ  คือถ้า ครม. เสนอก็ทันที  แต่คนด้วยความกลัวว่า ฝั่งประชาธิปัตย์จะมาฟ้องว่าอันนี้มันไม่มีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องทำ อาจจะผิดรัฐธรรมนูญ  แล้วมันก็อยู่ที่ตีความใครว่าไม่ฉุกเฉินก็เราตีความว่าฉุกเฉินนะ  แล้วคำถามว่าประชาธิปัตย์ฟ้อง  ทำอะไรมันก็ฟ้องหมดทุกอย่างนั่นแหละ คัดค้านหมดทุกอย่าง  แต่เราก็ไม่ได้บังคับว่า OK ถ้าคุณจะทำ พ.ร.บ.

พ.ร.บ. คืออะไร ก็คือพระราชบัญญัติ ต้องผ่านรัฐสภา แต่พระราชกำหนดพอ ครม. ทำไปแล้วก็ต้องไปเข้าสภาอีกทีแล้วจึงออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่ถ้าถามว่าเข้าสภาแล้วไม่ผ่านแล้วใช้ได้ไหม? ยังใช้ได้  ยกตัวอย่าง หลังปี 2535 นั้น สุจินดา  คราประยูร ตอนนั้นเขาเป็นนายกฯ ชั่วคราวแล้วถูกคนมาประท้วง เขาก็ออก พ.ร.ก. พอออกปั๊บแล้วเขาก็ออกไป  แต่ว่าพอมาเข้าสภา ไม่ผ่าน! แต่มันก็มีผลแล้ว  ในประเทศไทยนั้นมีพระราชกำหนดเยอะ  และการนิรโทษกรรมบางอย่าง 66/23 เป็นแค่คำสั่ง  ไม่ได้เป็นอะไรเลยแต่ก็มีผลทำให้ยุติการฆ่าฟันกัน เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติก็คือต้องผ่านสภาแล้วมันต้องมีเป็นวาระอีกเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นท่านก็คอยดูแล้วกันว่าขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่ง แล้วกว่าจะผ่านวาระที่หนึ่งคุณต้องปะทะกันกับประชาธิปัตย์เป็นแบบไหน รวมทั้งยังมีพวกวุฒิสมาชิกแต่งตั้งอีก แล้วผ่านวาระสอง วาระสาม โอ้ยดูไม่จืดหรอก ไม่รู้ว่าไปนานเท่าไหร่อาจารย์ก็ไม่แน่ใจ  แต่ก็อยากจะฝากว่าถ้ามันไปไหนไม่ทันก็สุดท้ายไปเอาพ.ร.ก.เราก็ยินดี  แต่ว่าเราก็จะพร้อมเป็นกองเชียร์  แต่นี่คือมิตรด้วยกันทั้งหมด  ต้องว่ากันด้วยหลักการและเหตุผลไม่มีความจำเป็นต้องมาโจมตีด้วยกัน  เพราะว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิดแตกต่างกันได้  แต่ว่าต้องใช้ท่าทีท่วงทำนองที่ถูกต้อง  แล้วก็ให้เข้าใจว่าเป้าหมายมันอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง  วิธีคิดของญาติวีรชนที่เสียชีวิตกับวิธีคิดของญาติวีรชนผู้ที่ต้องติดคุก (เราเรียกวีรชนก็ได้) ก็จะคิดไม่เหมือนกัน  ญาติวีรชนผู้เสียชีวิตต้องการเอาคนสั่งฆ่าหรือคนฆ่า  กระทั่งทหารเขาก็ต้องการมาลงโทษ  แต่ญาติผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังต้องการให้หลุดออกมา ยกตัวอย่างเป็นต้น  เพราะฉะนั้นเวลามองเราจะมองเฉพาะเราด้านเดียวไม่ได้มันต้องมองภาพรวม  เสื้อแดงก็เหมือนกันเวลาคิดก็ต้องคิดภาพรวม  เพราะมีประชาชนจำนวนหนึ่งเขาไม่แดงเขาไม่เหลือง  เราต้องทำอย่างไรให้เขาเข้าใจมากที่สุด  ทำให้คนเขารับได้มากที่สุด  แต่ถ้าต่างคนต่างคิดแต่มุมมองเขาตัวเองแล้วเอาตัวเองเป็นหลักมันก็ลำบาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้  ซึ่งเดี๋ยวเราจะพูดอีกทีว่าเข้มข้นมากระหว่างฝั่งเขากับฝั่งเรา  ตอนนี้หน้ากากขาวมา  ฝั่งเขาเป็นเอกภาพ  จะพูดอะไร  จะทำอะไรมันเป็นระบบหมดเลย  ฝั่งเราเหรอ  ใครนึกจะทำอะไรก็ทำ ใครนึกจะทำอะไรก็ทำ  ไม่พอใจเหรอก็มาโจมตีกันเอง  เพราะฉะนั้นก็ต้อง  ไม่ใช่ว่าจะคิดแตกต่างกันไม่ได้  แต่เพียงแต่ว่า  บอกให้รู้ว่าถ้าเราจะสู้รบ  ขณะนี้เขาเปิดสงครามสู้รบทุกแนวรบรวมทั้งในโลกไซเบอร์ที่เราจะพูด  แต่เราพร้อมแล้วหรือยัง?