ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 15 ปี ‘ดา ตอร์ปิโด’ ฎีกาต่อหวังบันทึกประวัติศาสตร์

ประชาไท 12 มิถุนายน 2556



12 มิ.ย.56 ห้องพิจารณาคดี 801 ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนลงโทษจำคุก 15 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้ถามจำเลยว่าต้องการให้อ่านคำพิพากษาทั้งหมดหรือฉบับย่อ จำเลยตอบว่าขอฟังคำพิพากษาทั้งหมด แต่ในท้ายที่สุด ศาลได้อ่านเพียงสั้นๆ ราว 1 นาทีถึงผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ขณะที่ดารณี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายสำนักก่อนฟังคำพิพากษาว่า หากผลคำพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปีหรือน้อยกว่านั้น เธอจะไม่ยื่นฎีกาเนื่องจากขณะนี้ถูกคุมตัวในเรือนจำมา 5 ปีแล้วทำให้มีความหวังเรื่องการพักโทษ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่าต้องโทษมาแล้ว 2 ใน 3 สามารถพักโทษได้ แต่หากพิพากษายืน 15 ปีก็จะฎีกาต่อไป เพื่อให้คำพิพากษานี้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“ถ้าคดีถึงที่สุด คำพิพากษานี้จะได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์” ดารณีกล่าว

ดารณียังกล่าวถึงสภาพในเรือนจำว่ามีหลายเรื่องต้องปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องความแออัดของผู้ต้องขังซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในกฎเกณฑ์ต่างๆ ระหว่างผู้ต้องขังหญิงกับผู้ต้องขังชาย ไม่ว่าการเยี่ยมหรือการรับข้อมูลข่าวสาร โดยยกตัวอย่างว่าผู้หญิงไม่สามารถอ่านหนังสือ นิตยสาร หรือดูข่าวเกี่ยวกับการเมืองได้เลย

นอกจากนี้ดารณียังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปหรือไม่หากพ้นโทษ โดยระบุว่า เธอจะยังเคลื่อนไหวต่อ หากได้เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทย เนื่องจากเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่สามารถอภิปรายในสภาหรือร่วมผลักดันกฎหมายต่างๆ ได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเมืองแบบสองพรรคดังเช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ไม่มีพรรคที่สาม และเป็นไปได้ยากที่จะมีทางเลือกที่สามที่มีพลัง แต่หากไม่ในอยู่ที่ที่สามารถผลักดันอะไรทางการเมืองได้ ก็จะยุติการเคลื่อนไหวแล้วกลับไปเป็นผู้สื่อข่าวเช่นเดิม

ดารณียังกล่าวแสดงความกังวลด้วยกว่า ด้วยสถานการณ์ความแตกแยกในประเทศเช่นนี้อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และอยากให้ประเทศเกิดความปรองดอง ถอยหลังกลับไปเหมือนช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปรองดองหรือพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ได้รับการนำเสนอจากหลายฝ่ายในขณะนี้ โดยระบุว่า ไม่มีโอกาสได้เห็นรายละเอียดเนื้อหา

เธอกล่าวอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตฝรั่งเศสและประเทศในสหภาพยุโรปรวม 4 แห่งเข้าพบเพื่อพูดคุยกับเธอที่เรือนจำด้วย

ทั้งนี้ ดารณี ถูกจับกุมวันที่ 22 ก.ค.51 ในความผิดตามมาตรา 112 และถูกคุมขังนับแต่นั้นโดยไม่ได้รับการประกันตัว โดยเหตุแห่งการจับกุมมาจากการปราศรัยบนเวทีย่อยที่สนามหลวง หลังจากนั้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำการปราศรัยของดารณีไปกล่าวขยายผลบนเวทีพันธมิตรฯ จนนายสนธิถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน แต่ศาลยกฟ้องไปในที่สุด

สำหรับเส้นทางคดีของดารณีนั้น ภายหลังถูกจับกุม ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีแบบปิดลับ และพิพากษาจำคุก 18 ปี (3 กระทง กระทงละ 6 ปี) จากนั้นจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการพิจารณาคดีแบบปิดลับนั้นขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลอุทธรณ์จึงสั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสั่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องดังกล่าวก่อน ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีแบบปิดลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีใหม่ ลงโทษจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง 15 ปี



อ่านข่าวความเคลื่อนไหวในคดีของดารณีได้ ที่นี่
หรืออ่านรายละเอียดคดีได้ที่  http://freedom.ilaw.or.th/th/case/34#detail