สถานการณ์สู้รบแตกหักทางการเมือง บทความใหม่"ธิดา ถาวรเศรษฐ"



ทีมข่าว นปช.
25 กุมภาพันธ์ 2557


สถานการณ์สู้รบแตกหักทางการเมือง

ธิดา  ถาวรเศรษฐ
19 กุมภาพันธ์ 2557

ฝ่ายระบอบอำมาตย์

1.    ฝ่ายระบอบอำมาตย์มีความมุ่งมั่นสูงมากที่จะนำไปสู่จุดแตกหักเพื่อทำลายล้างวงศ์ตระกูลชินวัตร,  พรรคการเมือง  และสิ่งที่เขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ทั้งหมด  และต้องการทำลายล้างกระบวนการระบอบประชาธิปไตย  เนื่องจากกระบวนการประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งให้ได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรและรัฐบาล เป็นสองอำนาจคือนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร  ที่ระบอบอำมาตย์ไม่สามารถเอาชนะได้อีกแล้ว  พิสูจน์จากการเลือกตั้ง 4 ครั้งติดต่อกัน  ดังนั้นถ้าจะขจัดอิทธิพล พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร  ก็จะอนุญาตให้มีการเลือกตั้งไม่ได้

2.    ดังนั้นการเสนอ “ปฏิรูปประเทศไทย” ก่อน  จึงเป็นกลลวงเพื่อหยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตยโดยต้องหยุดการเลือกตั้ง  มิฉะนั้นกระบวนการประชาธิปไตยจะดำเนินต่อไป  และพวกเขาต้องเป็นผู้แพ้โดยสิ้นเชิง

3.    เนื่องจากการทำรัฐประหารโดยกองทัพมีอุปสรรคจากการต่อต้านของประชาชนและสังคมโลกอารยะ  พวกเขาจึงต้องยึดอำนาจจากประชาชนโดยวิธีอื่น  จึงเสนอยุทธศาสตร์ “ปฏิวัติประชาชน”  “ปฏิรูปประเทศไทย”  หมายความว่าใช้  “มวลมหาประชาชน”  ยึดอำนาจรัฐโดยวิธีการลุกขึ้นสู้ในกรุงเทพมหานคร  และก็ยังประสงค์จะให้ทหารมาสนับสนุนทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม  ทางตรงก็คือทำรัฐประหารเอง  ทางอ้อมก็คือคุ้มครองประชาชนที่ลุกขึ้นสู้และไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์  และแอบช่วยสนับสนุนทางลับเช่น เป็นการ์ดคุ้มกัน  ทั้งคุ้มครองมวลชนด้วยอาวุธ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี  จึงใช้วิธีการลุกขึ้นสู้ในเมืองกดดันรัฐบาลยาวนาน  รอคอยโอกาสเหมาะสดเพื่อให้เกิดความรุนแรง

4.    การใช้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ  รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ มากำจัดฝ่ายการเมืองและประชาชนที่รักประชาธิปไตย  นี่ยังเป็นเครื่องมือที่ได้ผลแน่นอนซ้ำแล้วซ้ำอีกร่วม 10 ปีมาแล้ว  นั่นหมายความว่าแม้ฝ่ายการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจะได้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมากี่ครั้ง  ก็จะถูกทำลายโดยอำนาจตุลาการบวกองค์กรอิสระและกองทัพ  ที่ 3 อำนาจนี้ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชน  แต่ยึดโยงกับเครือข่ายระบอบอำมาตย์อย่างแน่นหนาลึกซึ้ง

5.    เนื่องจากยังไม่สามารถยึดอำนาจจากประชาชนได้  ก็ใช้ทฤษฎีรอ “มะม่วงหล่น”  หมายความว่า ไม่ชนะไม่เลิก  จะยึดฐานที่มั่นในเมืองไว้จำนวนหนึ่งและทำการรบจรยุทธ์  โดยมีการสะสมอาวุธสู้รบไว้เพียบ (จากการข่าวของเราและการรบที่หลักสี่)  และยกระดับให้เคลื่อนมวลชนให้เร็วขึ้น

6.    เพื่ออ้างกับศาลและสังคมและเรียกมวลชน  ก็จะโฆษณาว่าเป็นขบวนการสันติ อหิงสา พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก  แต่ผลการปฏิบัติพบว่ามีการโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมมวลชนด้วยอาวุธชัดเจน  นี่เป็นกลยุทธ์หลอกลวงฝ่ายต่าง ๆ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตน  และพร้อมกันก็ยิงนก 2 ตัวด้วยกระสุนนัดเดียวคือให้ทหารคุ้มครองฝ่ายตนด้วย  และอาจได้นกตัวที่สามแสนสวยคือ  ทหารออกมาทำรัฐประหารถ้าสถานการณ์บานปลาย

ฝ่ายประชาธิปไตย

1.   หลังจากได้รับการเลือกตั้งแล้ว  ความพยายามเปิดเกมรุกทางการเมืองก็ไม่ได้รับผลสำเร็จมาตลอด  ได้แก่  การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสำหรับมวลชน  การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมใหม่โดยงบประมาณ 2 ล้านล้าน  การจำนำข้าวเพื่อช่วยชาวนา เป็นต้น  จะถูกสกัดการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารโดยการใช้องค์กรอิสระและตุลาการมาจัดการ  ฝ่ายประชาชนก็ถูกคุมขังยาวนานกว่าจะได้รับการประกันตัว  บางส่วนต้องต่อสู้คดีความตราบถึงทุกวันนี้ 

จึงเปลี่ยนสถานะจากเป็นฝ่ายรุกมาเป็นฝ่ายรับและถอยร่น  จนต้องยุบสภาและเผชิญยถากรรมทางคดีความหนักหน่วง  ทั้ง ส.ส. และรัฐบาล

2.   ในขณะที่ฝ่ายระบอบอำมาตย์เตรียมตัวสู้รบใหม่ทันทีหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง  แต่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่คิดถึงการต่อสู้ในลักษณะสู้รบที่ต้องสิ้นสุดอย่างแตกหัก  ยังคิดในลักษณะประนีประนอม  ใช้การเจรจาเป็นด้านหลัก  ไม่ได้ใช้การต่อสู้เป็นด้านหลัก  โดยไม่ตระหนักถึงความล้าหลังทางการเมืองและความอำมหิตของชนชั้นนำจารีตนิยม  และไม่สนับสนุนฝ่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง  หลายส่วนมองว่านี่เป็นเรื่องไม่จำเป็นในสถานการณ์ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแล้ว  ไม่เฉลียวใจว่านี่เป็นเพียงชัยชนะในสนามเลือกตั้ง  แต่ยังไม่ได้ชัยชนะในสงครามใหญ่ทางระบอบการเมืองการปกครอง

3.   ฝ่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตยถูกทำให้อ่อนพลังสู้รบไปเนื่องจากชัยชนะในการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล  นักต่อสู้ส่วนหนึ่งถูกทำให้กลายเป็นนักการเมืองและหัวคะแนน  และมีความแตกแยกอันเนื่องมาจากผลประโยชน์

4.   การจัดตั้งถูกทำให้อ่อนแรงด้วยกลยุทธ์จัดตั้งซ้อนจัดตั้ง  ด้วยการจัดตั้งองค์กรอื่น ๆ ซ้อนเข้ามาในหมู่เสื้อแดงที่เป็นสมาชิก นปช. ที่มีทั้งฝ่ายศัตรูและมิตร  เพื่อพยายามแย่งชิงการนำและทำให้องค์กร นปช. อ่อนแอ  แต่ยังเคราะห์ดีที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร  เพราะคน นปช. ได้รับการยกระดับทางการเมือง  ทางการจัดตั้ง  ความรู้ทั่วไปผ่านทางเวทีแถลงข่าว,  การปราศรัย,  รายการโทรทัศน์ของแกนนำและนักวิชาการประชาธิปไตย  ที่สำคัญคือโรงเรียนการเมือง นปช.


5.   การทบทวนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เฉพาะหน้าในสถานการณ์วิกฤตการเมือง  ผู้รักประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งจำเป็น  เนื่องจากยุทธศาสตร์ที่มีอยู่เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว  เป็น 2 ขาที่ผูกติดกันกับพรรคการเมือง  ขาดลักษณะสู้รบ  ขาดการเป็นฝ่ายกระทำ  ต้องรอดูจังหวะทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง  หลายครั้งจะมานำและทำงานมวลชนบนท้องถนนเสียเอง  จึงไม่อาจสร้างภาวะการนำได้อย่างอิสระ  และถูกหยุดยั้งทำให้อ่อนแรงด้วยฝ่ายการเมือง  มียุทธศาสตร์เจรจาและประนีประนอมเป็นด้านหลัก

6.   เมื่อเกิดยุทธการปฏิวัติประชาชน  ปฏิรูปประเทศไทยของ กปปส. นำโดยนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  ที่มีประชาชนเข้าร่วมและมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก  จำเป็นต้องเรียกร้องต่อผู้รักประชาธิปไตยที่จะต้องยกระดับทางการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการเป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้  ต้องระดมพลังกาย พลังใจ พลังสมอง และทุนทรัพย์เพื่อต่อสู้ในศึกใหญ่นี้ให้อยู่ในฐานะรับอยู่  แล้วเปลี่ยนจากรับเป็นรุกเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือการเมืองการปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  ไม่ใช่แบบไทย ๆ ของอำมาตย์  และบรรลุคำขวัญของระบอบประชาธิปไตยคือ  เสรีภาพ  เสมอภาค  ภราดรภาพ ให้ได้!!!

ยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าในวิกฤตการเมืองไทย

เป้าหมายยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า
1.    การนำมวลชนจารีตนิยม กปปส. และผู้สนับสนุน
2.    องค์กรอิสระ
3.    กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม
4.    การทำรัฐประหารโดยกองทัพ

ยุทธศาสตร์
1.    ยุทธศาสตร์ 2 ขาประชาชน ประกอบด้วย
1.1. มวลชนพื้นฐานเสื้อแดงเป็นหลัก
1.2. ผู้รักประชาธิปไตยทั่วไปกว้างขวาง

2.    ยุทธศาสตร์สร้างที่มั่นประชาชนทางการเมืองให้เข้มแข็งทั้งห้าเขตยุทธศาสตร์
       
เปิด
1.   ยุทธการ      ทำลายสุเทพและแนวร่วม กปปส.
2.   ยุทธการ      เปิดโปงองค์กรอิสระ ชูการปฏิรูปองค์กรอิสระ
3.   ยุทธการ      ชูการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
4.   ยุทธการ      ชูการปฏิรูปกองทัพให้ก้าวหน้า

ถ้ามีสูญญากาศ  รัฐประหารโดยองค์กรอิสระและตุลาการ

เปิดยุทธการใหญ่  คัดค้านและต่อสู้กับขบวนอนาธิปไตยและอำนาจนอกระบบที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม