รายงาน
กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ที่ต้องบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง สำหรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือม็อบนกหวีด
ม็อบ กปปส.มีแกนนำหลัก นำทัพโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รับหน้าที่เป็น "เลขาธิการ กปปส." ร่วมด้วยอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน และยังมีพันธมิตรเครือข่ายร่วมชุมนุมหลายองค์กร ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ อย่างกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
การชุมนุมเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมเรื่อยมา เหตุการณ์พัฒนาเข้าสู่ "เรดโซน" ตามสไตล์ของการชุมนุม ที่ยกระดับการชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการ กดดันรัฐบาล ด้วยวิธีการเพิ่ม "เลเวล" ระดับความเข้มข้นสูงขึ้นเรื่อยๆ
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อนายสุเทพนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและยึดศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และกระทรวงการคลัง ใช้เป็นฐานปฏิบัติการชุมนุม
จนกระทั่งนำไปสู่การออกหมายจับนายสุเทพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
จากนั้นสถานการณ์ยังไม่หยุดนิ่ง การชุมนุมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และพบว่าตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รวบรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมได้กว่า 60 คดี แบ่งเป็น 9 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ สน.ดุสิต สน.นางเลิ้ง สน.พญาไท สน.ชนะสงคราม สน.ทุ่งสองห้อง สน.บางซื่อ สน.หัวหมาก สน.ปทุมวัน และ สน.สำราญราษฎร์
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าการกระทำผิดของกลุ่มผู้ชุมนุมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและหลายพื้นที่ อีกทั้งแกนนำยังมีดีกรีเป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี ครั้นจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบทั้งการควบคุมมวลชนควบคู่กับการดำเนินคดีไปพร้อมๆ กันด้วย คงจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่
ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จึงเสนอให้บอร์ด กคพ.พิจารณารับคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ
กระทั่ง กคพ.อนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ และมีมติตั้งคณะพนักงานสอบสวน 3 ฝ่าย มีนายธาริตเป็นประธานคณะพนักงานสอบสวน มี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ เป็นผู้ประสานการทำงาน
ฟากฝั่งกรมปทุมวัน ส่ง พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน จัดทีมร่วมสอบสวนกว่า 20 นาย ตาม พ.ร.บ.คดีพิเศษ
โดยคณะพนักงานสอบสวนมีมติเบื้องต้นแยกสำนวนคดีออกเป็น 38 สำนวน ตามจำนวนแกนนำ ใช้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ เป็นคณะทำงานจำนวน 99 คน
นายธาริต ระบุว่า สาเหตุที่ต้องรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน ผู้อยู่ในข่ายกระทำผิดเป็นผู้ทรงอิทธิพล ดังนั้นเพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพเพราะจะเป็นการสอบสวนร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ จึงต้องเสนอเป็นคดีพิเศษ
"ส่วนคดีที่ทาง บช.น.รวบรวมไว้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2556 ดีเอสไอจะรับโอนเป็นคดีพิเศษเพียง 20 คดี จาก 60 คดี หากในช่วงนี้มีการกระทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการทางคดี จากนั้นจะมีการพิจารณาว่า เรื่องใดบ้างเป็นกระทำที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับการชุมนุม และจะโอนสำนวนมายังดีเอสไอตามขั้นตอน ส่วนคดีความผิดเล็กน้อย เช่น โทษเปรียบเทียบปรับตำรวจสามารถดำเนินการได้ตามปกติ" อธิบดีดีเอสไอระบุ
ในช่วงสัปดาห์แรกของการรับเป็นคดีพิเศษ นายธาริตสั่งอายัดบัญชี นายสุเทพ พร้อมทั้งแกนนำ และออกหมายเรียกไปถึง 17 แกนนำ กปปส.แถวแรก ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 ประกอบด้วย 1.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 2.นายชุมพล จุลใส 3.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 4.นายอิสสระ สมชัย 5.วิทยา แก้วภราดัย 6.นายถาวร เสนเนียม 7.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 8.เอกนัฏ พร้อมพันธ์ 9.น.ส.อัญชลี ไพรีรัก
10.นายนิติธร ล้ำเหลือ 11.นายอุทัย ยอดมณี 12.ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 13.พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 14.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 15.นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 16.พ.ต.ท.ศุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ และ 17.นายสมบูรณ์ ทองบุราญ
แต่สุดท้ายฟาก กปปส.ส่งทนายความขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหา อ้างเหตุผลติดภารกิจชุมนุม
สำหรับเหตุผลที่ดีเอสไอเรียกแกนนำ 17 คนมารับทราบข้อหานั้น นายธาริตระบุว่า เป็นเพราะก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นำรายชื่อบุคคลทั้ง 17 รายไปขออนุมัติศาลออกหมายจับ แต่ศาลเห็นว่าควรออกหมายเรียกก่อน ดังนั้นดีเอสไอจึงดำเนินการตามคำสั่งศาล และเห็นควรว่าการกระทำของทั้งแกนนำทั้ง 17 คนเข้าข่ายกระทำผิด
ส่วนแกนนำ กปปส.แถว 2 อีก 20 ราย ถูกเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา หลังช่วงปีใหม่ วันที่ 2-3 มกราคม 2557 ประกอบด้วย 1.น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี 2.นายสาธิต ปิตุเตชะ 3.นายสกลธี ภัททิยกุล 4.นายทศพล เพ็งส้ม 5.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 6.นายแก้วสรร อติโพธิ 7.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 8.ดร.เสรี วงษ์มณฑา 9.นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือนายอมร อมรรัตนานนท์
10.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ 11.นายถนอม อ่อนเกตุพล 12.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 13.นายพิชิต ไชยมงคล 14.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 15.พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรสุข 16.นายสุริยะใส กตะสิลา 17.นายพิภพ ธงไชย 18.นายบุญยอด สุขถิ่นไทย 19.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และ 20.นายพิจารณ์ สุขภารังสี
โดยดีเอสไอพบพฤติการณ์นำฝูงชนเข้าปิดล้อมบุกรุกสถานที่ราชการ สถานีโทรทัศน์หลายแห่ง รวมทั้งขึ้นปราศรัยปลุกระดมให้ประชาชนกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง
เป็นการดำเนินคดีคู่ขนานกับการเคลื่อนไหวของมวลชนที่กลายเป็นหนังม้วนยาว!!
ที่มา หน้า 8 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2557