นัดเทือก8มค. ฟ้องศาล99ศพ

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ กรณีพนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล คนขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และนายประจวบ ประจวบสุข ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553

อัยการเบิกตัวพยาน 1 ปาก เป็นผู้ร่วมชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ขึ้นเบิกความว่าขณะนั้นทำงานเป็นพนักงานขับรถยนต์ของบริษัทแห่งหนึ่งย่านถนนวิทยุ หลังเลิกงานเวลา 19.00 น. ขับขี่รถจักรยานยนต์จะกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่ และล้อมอยู่บริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ พยานจึงจอดรถจักรยานยนต์ไว้ใต้ทางด่วน แล้วเข้าร่วมชุมนุมกับนปช. ที่ใต้ทางด่วนพระราม 4

พยานเบิกความว่าขณะนั้นเป็นเวลา 20.00 น.เศษ พยานเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. 10-20 คน โดยที่พยานไม่ทราบชื่อ และไม่รู้จักผู้บาดเจ็บเลย พยานเห็นกับตาว่าผู้บาดเจ็บหลายคนถูกยิง เท่าที่พยานทราบคือบริเวณขาบ้าง เอวบ้าง ไหล่บ้าง และด้านหลังบ้าง พยานขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปรับผู้บาดเจ็บออกมาจากหน้าสวนลุมไนท์ บาซาร์ มาส่งใต้ทางด่วนพระราม 4 เพื่อส่งให้หน่วยกู้ภัย โดยเอาผู้บาดเจ็บนั่งซ้อนแล้วมีคนนั่งประกบท้าย พยานช่วยผู้บาดเจ็บไป 10 กว่าคน

พยานเบิกความต่อว่า จนกระทั่งเวลา 00.30 น. วันที่ 16 พ.ค. 2553 ยืนอยู่บริเวณหน้าซอยปลูกจิตร เห็นผู้บาดเจ็บอยู่บริเวณซอยงามดูพลี ห่างจากพยาน 20 เมตร จึงขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บซ้อนท้าย แล้วมีคนนั่งประกบหลัง แล้วขับขี่รถจักรยานยนต์มุ่งหน้าใต้ทางด่วนพระราม 4 มีวัตถุของแข็งตกลงมาข้างหน้า มีควันลอยออกมา พยานจึงขับรถเลี่ยงไป แล้วเกิดระเบิดขึ้น ตามด้วยเสียงปืนหลายนัด เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ล้มลง พยานรู้สึกที่ขาขวา จะยืนแต่ก็ยืนไม่ขึ้น จึงรู้สึกว่าเอ็นร้อยหวายที่ขาขวาขาด ผู้ที่นั่งซ้อนท้ายก็ล้ม และผู้ที่นั่งปิดท้ายถูกยิงล้ม คาดว่าเพราะเสียงปืนที่ได้ยินมาจากสวนลุมไนท์ บาซาร์ ฝั่งตรงข้ามสนามมวยลุมพินี ทั้งแนวราบและสูง

พนักงานขับรถบริษัทเบิกความว่า คาดว่าอาการบาดเจ็บเกิดจากระเบิดที่ตกข้างหน้าพยาน มีทิศทางมาจากด้านหลัง ซึ่งเป็นแนว ที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ เพราะพยานไม่เห็นมี คนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ หลังจากเกิดเหตุพยาน ไปร้องทุกข์ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นวัตถุระเบิด พนักงานสอบสวนจึงนำภาพวัตถุระเบิดต่างๆ ให้ดู พยานจำได้ว่าเป็นวัตถุระเบิด เอ็ม 79

พยานเบิกความต่อว่า ส่วนผู้บาดเจ็บที่พยานเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ถูกยิงมาจากทิศทางที่มุ่งหน้าไปทางสะพานไทย-เบลเยียม เนื่องจากได้ยินเสียงปืนมาจากทิศนั้นอย่าง ต่อเนื่อง ขณะที่ช่วยเหลือ พยานสันนิษฐานว่าผู้ได้รับบาดเจ็บถูกปืนจากบริเวณนั้น พยานยืนยันว่าไม่เห็นว่าผู้ชูมนุมมีอาวุธปืน หรือระเบิด มีเพียงหนังสติ๊กและประทัดยิงขึ้นฟ้าตอบโต้เจ้าหน้าที่เท่านั้น พยานไม่เห็นชายชุดดำแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุ หรือสร้างสถานการณ์แต่อย่างใด เนื่องจากบริเวณสะพานไทย-เบลเยียมเป็นที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ ไม่มีบุคคลใดผ่านเข้าหรือออกได้

ภายหลังศาลไต่สวนพยานปากนี้เสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 17 มี.ค. 2557 เวลา 09.00 น.

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขอเลื่อนเข้าพบอัยการ เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลในข้อหาร่วมกันใช้หรือก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อปี 2553 ว่าคณะทำงานอัยการพิจารณาแล้ว โดยให้ทนายความยื่นเอกสารเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ถูกต้องเพิ่มเติม

นายนันทศักดิ์กล่าวว่า ต่อมาทนายความของนายสุเทพมาพบ และยื่นเอกสารมอบอำนาจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางคณะทำงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบการพิจารณาเลื่อนนัด สามารถอนุญาตให้เลื่อนออกไปได้ 30 วัน ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้ทนายความนำตัวนายสุเทพมาพบ เพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลอาญา ในวันที่ 8 ม.ค. 2557 เวลา 10.00 น. ทนายความรับทราบ และรับปากว่าจะนำตัวนายสุเทพมาส่งฟ้องตามนัด ขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ น่าจะคลี่คลายแล้ว และหลังจากอัยการคดีพิเศษยื่นฟ้อง นายสุเทพแล้ว จะไปขอรวมสำนวนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ผู้ต้องหาในคดีอีกคนต่อไป ที่ส่งฟ้องศาลไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา


ที่มา ข่าวสด