ศาลลุยไต่สวน คดียิง"ฮิโรยูกิ"

ศาลลุยไต่สวนคดี "ฮิโรยูกิ" นักข่าวญี่ปุ่น เหยื่อปืน 10 เม.ย.53 อดีตผบช.นิติวิทยา ศาสตร์ ตร.ศาลลุยเบิกความชี้จากบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนขนาด 7.62 ม.ม. ขณะที่ ตร.ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน อีกพยานระบุเป็นกระสุนที่ใช้ได้ทั้งจากปืนอาก้า อาวุธปืนในเครือนาโต้ ปืนซุ่มยิง มีใช้ในหน่วยราชการ อีกคดีศาลไต่สวนยิง "มานะ" อาสาสมัครมูลนิธิ ที่ถูกยิงตายพร้อมกับคนที่ตัวเองเข้าไปช่วย เมื่อพ.ค.53 พยานยันวิถีกระสุนมาจากฝั่งสนามมวยลุมพินี ที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการ ไม่มีชายชุดดำ ไม่มีผู้ชุมนุมใช้อาวุธต่อสู้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553

พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผบช.สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความสรุปว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้พยานเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ และมอบหมายให้ตรวจ พร้อมให้ความเห็นเกี่ยวกับบาดแผลของนายฮิโรยูกิ ว่าเกิดจากอาวุธปืนและกระสุนปืนชนิดและขนาดใด โดยให้ดูจากรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ ประกอบกับภาพศพที่มองเห็นบาดแผล ที่ระบุว่าบาดแผลทางเข้ามีขนาด 0.7 คูณ 1.0 ซ.ม. ส่วนบาดแผลทางออกมีขนาด 0.9 คูณ 1.5 ซ.ม. ตลอดทางวิ่งของแนววิถีกระสุนในตัวผู้ตาย ไม่พบเศษตะกั่ว หรือโลหะอื่นใด พยานจึงมีความเห็นว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่มีขนาดประมาณ 7 ม.ม.ขึ้นไป กระสุน ดังกล่าวที่ใช้กันในประเทศไทย คือ ขนาด 7.62 ม.ม. ซึ่งมีอยู่หลายแบบ

จากนั้นพนักงานอัยการถามว่า ถ้าเป็นบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) จะเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเชื่อว่าบาดแผลเกิดจากกระสุนปืนขนาด 7 ม.ม. พยานเบิกความว่าเนื่องจากกระสุนปืนขนาด .223 จะไม่ทำให้บาดแผลมีขนาดใหญ่แบบนี้ได้ และจะต้องมีเศษตะกั่ว หรือโลหะแตกกระจายตลอดทางวิ่ง เนื่องจากหัวกระสุน .223 มีขนาดเล็ก วิ่งด้วยความเร็ว 2,500 ฟุตต่อวินาที เมื่อชนเป้าหมายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ เช่น ร่างกายมนุษย์ หรือสัตว์ กระสุนจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้เศษตะกั่ว หรือโลหะที่เป็นทองแดง แตกอยู่ในร่างกายของเป้าหมาย

พยานเบิกความต่อว่า สำหรับกระสุนปืนขนาด 7.62 ม.ม. ที่มีใช้ในประเทศไทย คือ ขนาด 7.62 คูณ 39 ม.ม. ใช้กับอาวุธปืนเอเค 47 หรืออาก้า รองลงมา คือ ขนาด 7.62 คูณ 51 ม.ม. ใช้กับอาวุธปืน 05 นาโต้ และปืนกลอีกหลายชนิด ส่วนกระสุนปืนขนาด .223 ใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 16 ทาโวร์ และ เอชเค 33

ส่วน พ.ต.ท.ไพชยนต์ สุขเกษม ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน กองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเบิกความ โดยพนักงานอัยการถามพยานเกี่ยวกับอาวุธปืนและลูกกระสุนปืน จำนวน 8 ชนิด ว่าใช้ในหน่วยราชการใด พยานเบิกความว่าอาวุธปืนลูกซองขนาด 12 เกจ จะใช้กับกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 เกจ มีทั้งปืนลูกซองสั้นและยาว มีใช้ทั้งหน่วยราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ส่วนกระสุนปืนเล็กกลขนาด 5.56 คูณ 45 ม.ม. เอ็ม 193 ใช้กับปืนเล็กยาวขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เช่น เอ็ม 16 เอชเค 33 และทาโวร์ โดยกระสุนปืนชนิดนี้มีระยะยิงไกลสุด 2,000-3,000 เมตร แต่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาวุธปืนและความเร็วลม มีใช้ในหน่วยทหารและตำรวจเท่านั้น

พยานเบิกความต่อว่า สำหรับกระสุนปืนขนาด 5.56 คูณ 45 ม.ม. ธด. เอ็ม 855 พัฒนามาจากกระสุนปืนเอ็ม 193 โดยบรรจุแกนเหล็กที่หัวกระสุน ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวตามที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนกระสุนปืน 5.56 คูณ 45 ม.ม. เอ็ม 200 เป็นกระสุนปืนที่ไม่มีหัวกระสุนปืน ใช้สำหรับการฝึก หรือทำให้เกิดเสียงดัง ขณะที่กระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. คูณ 45 ม.ม. ธด. เอพี 4 ไม่ได้ใช้ในหน่วยราชการตำรวจ แต่ไม่ทราบว่าจะมีใช้ในหน่วยราชการทหารหรือไม่

พยานเบิกความต่อว่า ส่วนกระสุนปืนเล็กกลขนาด 7.62 คูณ 51 ม.ม. เอสเอสจี 3000 (ปืนซุ่มยิง) เป็นกระสุนปืนที่ผลิตใช้กับอาวุธปืนในเครือนาโต้ ที่มีขนาด 7.62 ม.ม. เช่น ปืนกลเอ็ม 60 แต่ที่ใช้ในหน่วยราชการตำรวจ คือ 05 นาโต้ สำหรับกระสุนปืนเล็กกลขนาด 7.62 คูณ 51 ม.ม. ธด. เอ็มเอทีซีเอช เอ็ม 852 เป็นรหัสของกระสุนปืนทางทหาร ไม่มีใช้ในหน่วยราชการตำรวจ ขณะที่กระสุนปืนขนาด .30 ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 88 และใช้กับปืนไรเฟิลขนาด .30 ได้ กระสุนชนิดนี้ใช้ในหน่วยทหาร

จากนั้นพนักงานอัยการถามว่า โดยทั่วไปจะใช้อาวุธปืนชนิดใดในการซุ่มยิง พยานเบิกความว่าปืนเล็กยาวทุกชนิดที่ติดกล้องเล็ง ใช้กระสุนขนาด 5.56 ม.ม. ขนาด 7.62 ม.ม. และ ขนาด .30

ด้านนายเกษม อินทปัทม์ ช่างภาพสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล เบิกความสรุปว่าเมื่อปี 2553 ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ โดยเจ้าหน้าที่ให้พยานดูรูปภาพกล้องวิดีโอชนิดเดียวกับที่นายฮิโรยูกิใช้ เป็นกล้องยี่ห้อโซนี่ที่ใช้บันทึกภาพถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ซึ่งสถานีโทรทัศน์นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีคุณภาพสูง วิธีการใช้คือนำขึ้นประทับบนไหล่ขวา เนื่องจากถูกแบบมาให้ใช้ด้านขวาโดยเฉพาะ ขณะยืนต้องกางขาออกประมาณ 45 ซ.ม. เพื่อช่วยทรงตัว เนื่องจากกล้องมีน้ำหนักถึง 9 ก.ก.

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ให้ดูคลิปวิดีโอจากกล้องของนายฮิโรยูกิ ที่ได้มาจากสถานทูตญี่ปุ่น พบว่าเป็นวิดีโอที่ไม่ต่อเนื่องกัน โดยถ่ายในลักษณะหยุดเป็นครั้งคราวรวม 29 ครั้ง แต่เป็นภาพในเหตุการณ์เดียวกัน ตอนสุดท้ายของภาพพบว่า นายฮิโรยูกิเป็นผู้กดปุ่มหยุดการถ่ายด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นภาพที่สมบูรณ์ โดยไม่มีการเหวี่ยงของภาพ แต่พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่รู้จักกับผู้ตายในคดีนี้

ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 19 พ.ย. เวลา 09.00 น. และมีกำหนดไต่สวนอย่างต่อเนื่องในวันที่ 20, 21, 22, 26, 27, 28, 29 พ.ย. วันที่ 3, 11, 12, 13, 19, 20 และ 26 ธ.ค.

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อีกเช่นกัน ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายมานะ แสนประเสริฐศรี อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และนายพรสวรรค์ นาคะไชย ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553

พ.ต.ท.วัชระ เฉลิมสุขสันต์ สังกัดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความสรุปว่าได้รับแจ้งจากดีเอสไอให้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพื่อหาข้อมูลรอยกระสุนปืน บริเวณถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกวิทยุไปจนถึงสนามมวยลุมพินี และฝั่งตรงข้ามสนามมวยลุมพินี จากการตรวจสอบพบรอยกระสุน เศษกระสุน และปลอกกระสุนปืนขนาด .223 และลูกกระสุนปรายจากปืนลูกซอง รอยกระสุนมีทิศทางยิงมาจากแยกวิทยุไปฝั่งคลองเตย ต่อมาพยานและดีเอสไอเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งที่ปากซอยงามดูพลี เป็นจุดที่นายมานะถูกยิง พบรอยกระสุนปืนตามกระจก อาคาร และตู้ชุมสายโทรศัพท์

พยานเบิกความต่อว่า จากวิถีกระสุนมีความเป็นไปได้ว่าถูกยิงมาจากฝั่งสนามมวยลุมพินี โดยศพนายมานะ มีข้อมูลจากบาดแผล ระบุว่าถูกยิงจากทางซ้าย โดยที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ภัตตาคารจันทร์เพ็ญถึงปากซอยงามดูพลี พบรอยกระสุน 19 รอย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก มี 6 รอย ถูกยิงด้วยกระสุน .223 มีทิศทางยิงจากแยกวิทยุ มุ่งหน้าไปคลองเตย กลุ่มที่ 2 มี 4 รอย ถูกยิงจากลูกกระสุนปรายของปืนลูกซอง กลุ่มที่ 3 มี 9 รอย ไม่สามารถยืนยันชนิด และขนาดกระสุนได้

ต่อมา ร.ต.ต.เสถียร พิพิธกุล สังกัดตำรวจพลร่ม ตชด. เบิกความสรุปว่าขณะเกิดเหตุมียศนายดาบตำรวจ ได้รับคำสั่งให้มาประจำจุดตรวจบริเวณอาคารอื้อจือเหลียง เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปยังจุดหวงห้าม ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. จนถึงหลังจากนั้น อีกราว 2 สัปดาห์ โดยชุดของพยานที่เข้าไปควบคุมพื้นที่รวมพยานด้วย มีประมาณ 40 คน ตั้งแนวอยู่ด้านหลังของทหารที่อยู่บริเวณสะพานไทย-เบลเยียม จากนั้นวันที่ 15 พ.ค. เห็นควันไฟ และได้ยินเสียงพลุ เสียงระเบิดดังมาจากบ่อนไก่ ห่างจากจุดที่พยานประจำอยู่ 300-400 เมตร เสียงดังเป็นช่วงๆ แต่จะมีมากในช่วงบ่ายถึงเย็น พยานไม่ทราบว่ามีผู้ถูกยิงในช่วงดังกล่าว และไม่พบชายชุดดำในที่เกิดเหตุ

ทนายความญาติผู้ตายถามว่า พยานได้ยินเสียงปืน และเสียงรถพยาบาลหรือไม่ พยานเบิกความว่าได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ทราบว่าดังมาจากฝ่ายใด และไม่ได้ยินเสียงรถพยาบาล ส่วนเสียงพลุที่ได้ยิน ส่วนใหญ่เป็นการยิงขึ้นฟ้า อีกทั้งไม่พบว่ามีอาวุธจากฝั่งผู้ชุมนุมมาทำร้ายทหารได้ และพยานมองไม่เห็นว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนเท่าไหร่ เพราะมีควันไฟปกคลุมอยู่

ขณะที่ ร.ต.ต.สมมิตร ชูมาก สังกัดตำรวจพลร่ม ตชด. เบิกความสรุปว่าขณะเกิดเหตุมียศนายดาบตำรวจ วันที่ 15 พ.ค. เข้าประจำป้อมตำรวจที่เกาะกลางถนน ใต้สะพานไทย-เบลเยียม ขณะประจำการได้ยินเสียงดัง แต่ไม่สามารถระบุต้นเหตุ และทิศทางของเสียงได้ เนื่องจากเสียงดังก้องไปหมด นอกจากกลุ่มของพยานแล้วนั้น เห็นกลุ่มชายแต่งกายชุดลายพราง มีอาวุธปืนยาวยืนอยู่แถวสวนลุมพินี และอาคารอื้อจือเหลียง กลุ่มพยานมีหมวก เหล็ก และสนับเข่าติดตัวเป็นเครื่องป้องกันอันตราย เนื่องจากผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตให้พกอาวุธอื่นๆ โดยในบริเวณดังกล่าว ไม่พบว่ามีกลุ่มชายชุดดำแต่อย่างใด

ส่วน พ.ต.ท.ปกรณ์ วะศินรัตน์ สังกัดสถาบันนิติเวชวิทยา ร.พ.ตำรวจ เบิกความสรุปว่าจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ม.มหิดล มีความเชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 สน.ยานนาวา ส่งศพนายมานะมาให้พยานตรวจ พบบาดแผลที่ 1 ฉีกขาด รูปกลมรี ขนาด 0.3-0.5 ซ.ม. ที่ศีรษะด้านซ้าย ต่ำจากยอดศีรษะ 11 ซ.ม. ห่างกึ่งกลาง 8.5 ซ.ม. ส่วนบาดแผลที่ 2 ฉีกขาด รูปรี ขนาด 1.5 คูณ 3 ซ.ม. บริเวณหางตาขวา ต่ำกว่ายอดศีรษะ 3 ซ.ม. ห่างกึ่งกลาง 9 ซ.ม.

พ.ต.ท.ปกรณ์เบิกความต่อว่า บาดแผลที่ 1 ทางเข้าทะลุกะโหลกหลังซ้าย ผ่านสมองซีกซ้ายและขวา ทะลุเบ้าตา ลูกตาด้านขวาแตก และทะลุออกที่หางตาขวา บาดแผลที่ 2 พบเศษโลหะคล้ายตะกั่วชิ้นเล็กๆ ติดอยู่บางส่วนตามบาดแผล ลักษณะบาดแผลจากซ้ายไปขวา หลังไปหน้า และบนลงล่างเล็กน้อย อวัยวะอื่นปกติ สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากปืนชนิดใด

ทนายความญาติผู้ตายถามว่า สามารถระบุจากบาดแผลได้หรือไม่ว่ากระสุนถูกยิงมาจากทิศทางใด พยานเบิกความว่าหากผู้ตายอยู่ในท่ายืนตรง ศีรษะตรง ทิศทางกระสุนจะมีลักษณะยิงจากซ้ายไปขวา หลังไปหน้า และบนลงล่างเล็กน้อย แต่หากผู้ตายเปลี่ยนท่าทาง ก็จะไม่สามารถยืนยันได้ว่ากระสุนมาจากทิศทางใด

ภายหลังการพยานเบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 21 พ.ย. เวลา 09.00 น.


ที่มา ข่าวสด