โพล72% ให้ลุยต่อมาร์ค-99ศพ ไม่เอานิรโทษฯ คนสั่ง-ลอยนวล ญี่ปุ่นรุดดีเอสไอ ตามคดี"ฮิโรยูกิ"


 

คดีฮิโรยูกิ - นายโนบุยูกิ คะวะอิ ผบ.ตร.ญี่ปุ่น นำคณะเข้าพบผู้บริหารดีเอสไอ เพื่อติดตามคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกคอกวัว ในเหตุการณ์เม.ย.2553

โพลไม่เห็นด้วย พ.ร.บ. นิรโทษฯ เหมาเข่ง ปล่อย "คนสั่ง" คดี 99 ศพ ลอย นวล กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.5 ต้องการให้ "มาร์ค-เทือก" เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะที่ ผบ.ตร.ญี่ปุ่น รุดพบ "ดีเอสไอ" ทวงถามคดี"ฮิโรยูกิ" นักข่าวเหยื่อปืน 10 เม.ย.53 อยากให้สอบสวนว่าใครเป็นคนยิง แล้ว "อภิสิทธิ์" กับ "สุเทพ" เกี่ยวข้องกับคดีด้วยหรือไม่ ด้านดีเอสไอชี้แจงผลสอบพยานนับร้อยปากรุดหน้าไปมาก อยู่ระหว่างศาลไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิต นัดครั้งต่อไปวันที่ 15 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม นายโนบุยูกิ คะวะอิ ผู้บัญชาการตำรวจ และผู้อำนวยการ กองปฏิบัติการสืบสวนระหว่างประเทศ พร้อม ด้วยคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานตำรวจของประเทศญี่ปุ่น เข้าพบพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณหน้าโรงเรียนสตรี วิทยา ถนนดินสอ ใกล้สี่แยกคอกวัว เมื่อ วันที่ 10 เม.ย. 2553

พ.ต.ท.บรรณฑูรย์กล่าวภายหลังการหารือว่า ตำรวจญี่ปุ่นขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดีนายฮิโรยูกิ ภายหลังจากที่เคยสอบถามมาแล้ว 7 ครั้ง แต่ ดีเอสไอให้ได้เพียงบางส่วน พร้อมทั้งยืนยันว่าดีเอสไอสอบปากคำพยานในทุกสัปดาห์ และสัปดาห์ละ 20 คน รวมทั้งสอบปากคำทหารชั้นผู้น้อยไปหลายร้อยคนแล้ว ส่วนใหญ่ให้การสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าได้รับคำสั่งลงมาเป็นชั้นๆ ในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละวัน โดยทางตำรวจญี่ปุ่นอยากให้ดีเอสไอสอบสวนว่าใครเป็นผู้ยิงนายฮิโรยูกิ ทางดีเอสไอรับปากจะดำเนินการให้ โดยในขณะนี้คดีนายฮิโรยูกิอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาล ยังเหลือพยานอีก 10 ปาก

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตำรวจญี่ปุ่นยังสอบถามถึงพ.ร.บ. นิรโทษกรรมว่าจะมีผลอย่างไร ดีเอสไอ ชี้แจงว่ายังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ต้องรอให้กฎหมายออกมาก่อน ทางตำรวจญี่ปุ่นก็ไม่ได้แสดงท่าทีอะไร อีกทั้งทางการญี่ปุ่นยังให้ความสนใจกรณีที่อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่าจะเกี่ยวพันกับคดีนายฮิโรยูกิด้วยหรือไม่ ทางดีเอสไอจึงอธิบายจนเป็นที่เข้าใจ และคาดว่าท้ายที่สุดน่าจะรวมเป็นคดีเดียวกันกับคดีอื่นๆ

ต่อข้อถามว่าคดีนายฮิโรยูกิอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลแล้ว ทำไมตำรวจญี่ปุ่นจึงมาสอบถามความคืบหน้าอีก พ.ต.ท.บรรณฑูรย์กล่าวว่าระบบกฎหมายญี่ปุ่นกับไทยไม่เหมือนกัน โดยดีเอสไอจะสั่งคดีได้ก็ต้องรอคำสั่งศาลเกี่ยวกับผลชันสูตรพลิกศพเสียก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกินั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดวันไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 15 พ.ย., 19-22 พ.ย., 26-29 พ.ย., 3 ธ.ค., 11-13 ธ.ค., 19-20 ธ.ค. และ 26 ธ.ค.

ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายนรินทร์ ศรีชมภู ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ ใกล้ แยกสารสิน กทม. ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อ 19 พ.ค. 2553 โดยวันนี้มีพยานมาทั้งหมด 3 ปาก แต่พนักงานอัยการแถลงต่อศาลขอเลื่อนการไต่สวนออกไป ศาลจึงนัดไต่สวนครั้งต่อไปเป็นวันที่ 6 พ.ย. เวลา 09.00 น.

วันเดียวกัน นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้า โครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหา วิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,190 คน ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน ที่มีต่อพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตั้งแต่วันที่ 1-3 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วย ร้อยละ 46.6 เห็นด้วย ร้อยละ 31.6 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.8

ผลสำรวจระบุว่า เมื่อถามว่าหากเลือกได้ต้องการนิรโทษกรรมให้คนกลุ่มใดบ้าง โดยมีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 8 กลุ่มให้พิจารณา พบว่า
1.มวลชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปรากฏว่าร้อยละ 53.4 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
2.กรณีแกนนำพันธมิตรฯ ผลสำรวจชี้ว่าร้อยละ 67.7 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3.มวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง พบว่าร้อยละ 46.0 ต้องการให้นิรโทษกรรม และร้อยละ 41.0 ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
4.แกนนำคนเสื้อแดง พบว่าร้อยละ 51.6 ต้องการให้เข้า สู่กระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 35.9 ต้องการให้นิรโทษกรรม

5.กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ผลสำรวจชี้ว่าร้อยละ 57.0 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 22.2 ต้องการให้นิรโทษกรรม
6.พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พบว่าร้อยละ 52.4 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 36.7 ต้องการให้นิรโทษกรรม
7.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผลสำรวจ ชี้ว่าร้อยละ 72.5 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 14.4 ต้องการให้นิรโทษกรรม และ
8. ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชา นุภาพ พบว่าร้อยละ 71.5 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 14.4 ต้องการให้นิรโทษกรรม

นายสุทินกล่าวว่า จากผลสำรวจเห็นว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสานไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หรือ เหมาเข่ง คนอีสานส่วนใหญ่อยากให้ทุกกลุ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เว้นแต่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงที่คนอีสานจำนวนมากอยากให้นิรโทษกรรมให้ อีกทั้งการเร่งผ่านวาระ 3 ส่งผลให้คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงทันทีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 44 เปอร์ เซ็นต์ เหลือ 34 เปอร์เซ็นต์ โดยคนอีสานที่เปลี่ยนใจจากพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่าจะไปเลือกพรรคอื่นแทนที่ ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ หรือบางกลุ่มก็เลือกโหวตโน

ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา มีเวทีอภิปรายและแถลงคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง โดยนายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ตีความไปถึงคดีคอร์รัปชั่น ซึ่งเกินเลยไปจากการรับหลักการของคณะกรรมาธิการ ไม่เคารพต่อหลักการสำคัญของประชาธิป ไตย โดยมีข้อเสนอว่าวุฒิสภาจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยหาทางออกให้วิกฤตทางการเมืองในครั้งนี้ โดยต้องคว่ำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ทิ้งแล้วดำเนินการแนวทางอื่น แสวงหาความจริงร่วมกัน

นางพะเยาว์ อัคฮาด ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 กล่าวว่าเริ่มเห็นแนวทางการผลักดันการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ตั้งแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยพูดเรื่องนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และกังวลว่าอาจจะออกมาในแนวทางนี้ และก็เกิดขึ้นจริงๆ รัฐบาลหักหลังประชาชน เอาประชาชนที่อยู่ในเรือนจำเป็นตัวประกันเพื่อนิรโทษกรรมให้คนผิด ความเป็นธรรมที่พยายามเรียกร้องมาตลอด 3 ปีไม่มีความหมาย ตนจะไม่ยอมกลืนเลือดของลูกสาวตัวเองเด็ดขาด และฝากถึงรัฐบาลว่าอย่ากระทำกับผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านเหมือนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำกับเสื้อแดง

ที่มา ข่าวสด