ศาลไต่สวนพ.อ.-พ.ท.คดีคนถูกยิงตายที่แยกสารสินในเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553

ต่างให้การตรงกันไม่ได้ใช้ กระสุนจริงปฏิบัติภารกิจ แต่เจ้าหน้าที่ถูกคนร้ายยิงด้วยปืนและเอ็ม 79 รวมทั้งขว้างระเบิดใส่จนบาดเจ็บเสียชีวิตหลายนาย

 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ศาลอาญา ศาลไต่สวนคดีที่อัยการขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพชายไทยไม่ทราบชื่อและนามสกุล ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถ.ราชดำริ กทม. ในเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.2553 พ.ท.สังกัดพล.ร.1 รอ. เบิกความสรุปว่า มีอาวุโสเป็นอันดับ 2 รองจากผบ.พัน วันที่ 18 พ.ค.2553 ได้รับคำสั่งไปควบคุมพื้นที่บริเวณอาคารเคี่ยนหงวน บริเวณ ถ.วิทยุ ใกล้สวนลุมพินี ถึงอาคารเคี่ยนหงวนประมาณ 06.00 น.ซึ่งมีแสงสว่างแล้ว พบอาวุธมีดดาบ ประทัดยักษ์ วางอยู่ตามมุมตึก จึงนำไปวางรวมที่ลานตรงกลางตึก นอกจากนี้ยังพบผู้ชายผู้หญิงวัยทำงาน แต่งกายชุดสีแดง และสีอื่นๆ ประมาณ 10 คน จึงให้ทั้งหมดไปรวมที่ลานตรงกลางตึก จากนั้นประสานตำรวจ สน.ลุมพินีมารับตัวไป โดยไม่ได้สอบสวน ระยะเวลาตั้งแต่นำกลุ่มชายหญิงมารวมกันจนถึงเวลาที่ตำรวจมารับตัวไปไม่น่าเกิน 1 ช.ม.

 พยานเบิกความอีกว่า ชุดของพยานอยู่ในบริเวณอาคารเคี่ยนหงวน ตั้งแต่ 19 พ.ค.ช่วงเช้าจนถึงวันที่ 20 พ.ค.เวลาประมาณ 14.00 น. โดยค้างแรมอยู่ที่พื้นที่ว่างกลางอาคารและลานจอดรถ ไม่ได้ออกไปที่อื่น จึงไม่เห็นว่าที่ถนนสาธารณะมีกำลังพล หรือบุคคลอื่นอยู่ ไม่ได้ยินเสียงผิดปกติใดๆ ดังจากนอกอาคารช่วงกลางวันของวันที่ 19 พ.ค. กระทั่งทราบภายหลังว่ามีการขอคืนพื้นที่จากสื่อ และทราบว่ามีผู้เสียชีวิต หลังจากถอนกำลังก็ทราบภายหลังว่าตรวจยึดปืนอาก้า และเอ็ม 16 ได้จากอาคารเคี่ยนหงวน

 พ.อ.สังกัด ม.1 รอ. เบิกความสรุปว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผบ.ม.พัน 3 รอ. ได้รับคำสั่งจากศอฉ.ตั้งแต่เม.ย. 2553 ที่มีการชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ให้จัดกำลัง 2 กองร้อยเข้าควบคุมพื้นที่รอบการชุมนุม ถ.ราชดำเนิน ช่วงนั้นมีการยิงเอ็ม 79 เข้าใส่สถานที่ต่างๆ หน่วยของพยานตั้งจุดตรวจ 24 ช.ม.ที่หน้าวัดบวรนิเวศ และทราบว่ามีอีกหลายหน่วยเข้าควบคุมพื้นที่ ชุดของพยานปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 10 เม.ย. ศอฉ.มีคำสั่งให้นำรถสายพานลำเลียง 8 คันเข้าขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานวันชาติ เพื่อเป็นที่กำบังของกำลังพล เมื่อรถสายพานลำเลียงมาหยุดที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าร.ร.สตรีวิทยา มีคนร้ายใช้เอ็ม 79 ยิงใส่ ทำให้พยานบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดที่ขาทั้ง 2 ข้าง และมีกำลังพลบาดเจ็บ 21 นาย รวมถึงพ.อ.ร่มเกล้าที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ พยานรักษาตัวที่ร.พ.พระมงกุฎฯ 5 วัน

 ต่อมาผู้ชุมนุมย้ายไปชุมนุมที่ราชประสงค์ กระทั่งวันที่ 16 เม.ย. พล.ม.2 รอ. สั่งให้พยานไปควบคุมพื้นที่สีลม ตั้งจุดตรวจ 24 ช.ม.ใกล้สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง ช่วงดังกล่าวตำรวจร่วมปฏิบัติการด้วย ส่วนพื้นที่ช่วงเลย ถ.พระราม 4 ขึ้นไปผู้ชุมนุมสร้างรั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ และไม้ไผ่สูง 1-2 เมตรไว้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ วันที่ 22 เม.ย.คนร้ายยิงเอ็ม 79 จากในสวนลุมพินีเข้าใส่สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง และกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่ต่อต้านการชุมนุมที่ ถ.สีลม ใกล้สี่แยกพระราม 4 มีประชาชนเสียชีวิต 1 คน พยานจึงกำชับกำลังพลปฏิบัติหน้าที่โดยมีที่กำบังทุกครั้ง วันที่ 7 พ.ค.คนร้ายยิงใส่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย ทิศทางยิงจากลานพระบรมรูป ร.6 วันที่ 8 พ.ค.คนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 8 นายที่บริเวณประตู 4 สวนลุมพินี

 หลังจากนั้นวันที่ 8-18 พ.ค.ช่วงกลางคืนจะมีการใช้อาวุธปืนกล และเอ็ม 79 ยิงเข้ามาใส่พื้นที่สีลมทุกคืน รวมถึงวันที่ 17 พ.ค.ยิงใส่โรงแรมดุสิตธานี วันที่ 19 พ.ค.ช่วงขอคืนพื้นที่ หน่วยพยานติดเทปกาวสีชมพูที่ด้านหลังหมวก พร้อมติดริบบิ้นลายธงชาติที่แขน เนื่องจากเกรงว่าจะมีผู้แต่งกายเลียนแบบทหารไปทำสิ่งไม่ดีและโยนความผิดให้ทหาร โดยหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่ขึ้นตรงกับ ศอฉ.ทั้งหมด จะติดเครื่องหมายลักษณะเดียวกัน

 พยานเบิกความอีกว่า ได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณลานพระบรมรูป ร.6 แนวขวาติดรั้วสวนลุมพินี แนวซ้ายติดร.พ.จุฬาฯ ทิศเหนือติดตึกสิริกิติ์ ร.พ.จุฬาฯ ในคำสั่งไม่ได้ระบุเวลาแต่พยานเข้าใจว่าเป็นช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ค. โดยคำสั่งระบุให้เคลื่อนรถสายพานลำเลียง 19 คันมาที่ตึกซีพี ไม่ติดอาวุธและถอดอาวุธออก พร้อมกับสั่งให้ทำเกราะพิเศษป้องกันเอ็ม 79 ที่รถ สำหรับการใช้อาวุธประจำกายนั้นเมื่อได้รับคำสั่งและวิเคราะห์จากพื้นที่ว่ามีคนใช้อาวุธจากสวนลุมพินี และลานพระบรมรูป ร.6 แต่เนื่องจากอาวุธไม่เพียงพอ พยานจึงสั่งลูกน้องที่ไม่มีปืนลูกซองนำปืนเอชเค 33 สั้น ใช้กระสุนซ้อม และดัดแปลงอแด็พเตอร์ให้ยิงอัตโนมัติได้ โดยหน่วยเหนือมีคำสั่งให้ทหารทุกนายนำอาวุธประจำกายติดตัวมาด้วย พยานสั่งกำลังพลเบิกปืนเล็กยาวมาด้วย 60-70 กระบอก และเบิกกระสุนซ้อมรบ 2,000 นัด ไม่มีกระสุนจริง

 ทั้งนี้ หน่วยเหนือเน้นย้ำถึงหลักการสลายการชุมนุม 7 ขั้นตอน จากเบาไปหาหนัก ไม่มีข้ามขั้นตอน เริ่มเคลื่อนกำลังจากสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงประมาณ 06.45 น.ไปหยุดที่แยกศาลาแดง โดยกำลังพลจะเคลื่อนไปตามรถสายพานลำเลียง 4 คัน ก่อนไปจอดอยู่บนพื้นราบของ ถ.พระราม 4 ส่วนตามตึกสูงต่างๆ ห้ามไม่ให้บุคคลใดขึ้น วันดังกล่าวไม่มีประชาชนสัญจรไปมาบน ถ.พระราม 4 ส่วนแนวรั้วของกลุ่ม นปช.มีระยะตั้งแต่สถานีรถไฟใต้ดิน ฝั่งพระบรมรูป ร.6 ไปจนถึง ถ.ราชดำริ โดยเว้นทางเข้าหน้าร.พ.จุฬาฯ 1 ช่องทาง เมื่อถึงแยกศาลาแดงเวลา 06.00 น.เศษยังเช้าอยู่ หน่วยจึงรอเวลา กระทั่งประมาณ 07.30 น.ผู้ชุมนุมจุดไฟเผากองยางที่ตอม่อรถไฟฟ้า หน้าร.พ.จุฬาฯ หลังแนวกั้น หน่วยจึงหยุดปฏิบัติภารกิจ และให้กำลังส่วนหนึ่งเข้าควบคุมเพลิง โดยใช้รถสายพานลำเลียงวิ่งกำบังรถฉีดน้ำที่เข้าควบคุมเพลิง ขณะนั้นพยานได้ยินเสียงปืน และระเบิดบริเวณที่มีเพลิงไหม้ ใช้เวลาเกือบ 1 ช.ม.จึงควบคุมเพลิงไว้ได้

 พยานเบิกความต่อว่า เวลา 08.00 น.เศษ พยานสั่งรถสายพานลำเลียงเข้าทำลายแนวยาง จากนั้นให้รถดับเพลิงฉีดน้ำแนวรั้วที่ ถ.พระราม 4 เพื่อใช้ความชื้นตัดวงจรระเบิดตามแนวรั้ว จากนั้นสั่งชุดเก็บกู้ทำลายระเบิดตรวจสอบ พยานให้รถสายพานลำเลียงเหยียบแนวรั้วอีกครั้ง เพื่อลดความสูงของแนวยางและไม้ไผ่ ให้กำลังพลเดินผ่านไปได้สะดวก เวลา 09.30 น.สั่งรถสายพาน 4 คันเข้าไปในพื้นที่ควบคุม โดยให้กำลังพลเดินแถวตอนตามไป แต่เข้าไปถึงได้แค่บริเวณลานพระบรมรูป ร.6 เพราะมีเต็นท์ ข้าวของ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมขวางอยู่ ขณะนั้นไม่พบประชาชนหลงเหลืออยู่แล้ว

 พยานเบิกความอีกว่า ช่วงก่อน 09.30 น.ได้ยินเสียงดังแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นปืนหรือระเบิดจากกองเพลิง และก่อนเคลื่อนกำลังผ่านแนวก็ไม่มีการยิงปืน หรือได้ยินเสียงอื่น ชุดของพยานเป็นหน่วยแรกที่เข้าไปในพื้นที่ควบคุม หลังจาก 09.30 น.ก็ไม่มีใครผ่านเข้าออกจากบริเวณดังกล่าวอีก โดยควบคุมพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จเวลา 10.30 น. หลังจากเคลื่อนต่อไปไม่ได้จึงสั่งกำลังพลตรวจสอบพื้นที่ตามตอม่อรถไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เพื่อตรวจหาระเบิด พื้นที่ที่พยานเข้าควบคุมมีระยะทางจาก ถ.พระราม 4 เข้า ถ.ราชดำริ ราว 200 เมตร มีหน่วยของพยานปฏิบัติหน้าที่เพียงหน่วยเดียว ระหว่างตรวจสอบพบผู้เสียชีวิตเป็นชาย 2 ศพ สภาพไม่ใส่เสื้อ สวมกางเกง และสภาพใส่เสื้อสีดำ สวมกางเกงยีนส์ 1 ศพ จึงให้ช่างภาพของหน่วยงานถ่ายภาพไว้ โดยพบทั้ง 2 ศพบนถนนระหว่างพระบรมรูป ร.6 กับหน้าร.พ.จุฬาฯ ทั้งสองศพอยู่ห่างกันไม่เกิน 30 เมตร พยานให้อาสาสมัครพลเรือนมาเคลื่อนย้ายศพไป

 พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 19 พ.ค.เห็นว่ามีเต็นท์ผ้าใบบังสายตา จึงขออนุมัติขึ้นไปตัดทำลายผ้าใบที่ขึงระหว่างกัน เพื่อจะได้เห็นแยกราชดำริ ระหว่างเคลียร์พื้นที่และตัดเต็นท์ได้ควบคุมตัวบุคคล 15 คน บริเวณตึกสิริกิติ์ถึงแยกราชดำริ เมื่อเคลื่อนกำลังถึงแยกราชดำริ เวลา 12.30 น.จึงให้เจ้าหน้าที่นำทั้ง 15 คนไปที่ใต้ถุนอาคาร เพื่อรอตำรวจมารับตัว แต่ขณะนั้นมีคนร้ายใช้อาวุธคาดว่าเป็นปืนกลยิงใส่ทหารที่วางแนวอยู่ ทหารตอบโต้โดยปืนลูกซอง และปืนเอชเค 33 กระสุนซ้อมรบ ยิงให้เกิดเสียง จากนั้น 5 นาทีมีคนร้ายขว้างระเบิดมือมาตกที่แยกราชดำริ พยานจึงให้กำลังถอยมา แต่กำลังอีกส่วนอยู่ตรงสวนหย่อมข้างสวนลุมพินี จากนั้นราว 30 นาทีมีเอ็ม 79 ยิงใส่ทหารที่สถานีรถไฟฟ้า มีทิศทางยิงจากแยกราชดำริ 2 นัดแรกตกสระน้ำในสวนลุมพินี นัดที่ 3 ถูกทหารบาดเจ็บ 7 นาย เสียชีวิต 1 นาย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศบาดเจ็บ 1 ราย

 พยานตอบทนายญาติผู้ตายว่า กำลังพลที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. วันเดียวกับพ.อ.ร่มเกล้า เป็นกำลังพลหน่วยเดียวกับพยาน 21 นาย พยานไม่ทราบว่าขณะนำส่งผู้บาดเจ็บ มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาขัดขวาง และทำร้ายตามข่าวหรือไม่ เพราะพยานถูกยิงตั้งแต่ช่วงแรกและถูกนำออกจากพื้นที่ แต่วันที่พยานเข้าไปควบคุมพื้นที่ศาลาแดงทราบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธและสามารถทำร้ายทหารได้ วันที่ 19 พ.ค.มีกองกำลังหน่วยพยานเข้าพื้นที่ 100 นาย ไม่ทราบว่าบนทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสกับรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีมีหน่วยงานใดดูแลอยู่

 หลังไต่สวนเสร็จศาลนัดครั้งต่อไปวันที่ 6 ธ.ค.

ที่มา ข่าวสด