‘จุลสิงห์’ ยันไม่ฟ้อง ‘ทักษิณ’ ก่อการร้าย ลั่นไม่ใช้กฎหมายประหัตประหารใคร

ข่าวสด 11 ตุลาคม 2556




 เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชน สภาผู้แทนราษฎร โดยได้เชิญนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด เข้ามาชี้แจงต่อกรณีการสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีก่อการร้าย โดยนายจุลสิงห์ กล่าวว่า เรื่องการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น ตามรัฐธรรมนูญให้ศาลกับอัยการเป็นหน่วยงานที่มีอิสระในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ โดยสุจริตเที่ยงธรรม โดยมีเหตุผลประกอบ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครอง ต่อให้อีกร้อยคน พันคน ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคนที่เขาสั่ง เขานิ่ง เขายุติ เรื่องมันก็ต้องจบ ไม่มีใครที่จะมาบอกว่าศาลตัดสินผิดอย่างนี้ แล้วจะให้ใครมากรองใหม่มันไม่มี มันกระบวนการศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา เมื่อกระบวนการจบก็ต้องจบ และกระบวนการฟ้องหรือไม่ฟ้อง มันสิ้นสุดที่อัยการสูงสุดในการพิจารณา

 เรื่องก่อการร้าย ถ้าผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่ในประเทศไทย โอกาสยากมากที่จะบอกว่าเป็นตัวการร่วม ถ้าเขาจะทำอะไรก็คนที่อยู่ในประเทศเป็นคนทำ กำลังวังชาของคนที่พูดอยู่ต่างประเทศมันไม่มีโอกาสที่เป็นตัวการร่วมได้เลยในทางทฤษฎีและในความเห็นของอัยการด้วย ถึงแม้เป็นผู้สนับสนุนก็เถอะ จริงๆแล้วไม่พูดก็ทำ

 “เรื่องนี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร นอกเหนืออำนาจอัยการสูงสุดที่จะพิจารณา ถ้าประธานไปตะโกนอยู่ต่างประเทศ แต่ถ้าคนในประเทศมันไม่ทำ ก็คือมันไม่ทำ มันทำด้วยกำลังกาย กำลังใจของตัวเอง เรามองอย่างนั้น วันนี้ผมคิดว่า ไม่คิดจะใช้กฎหมายไปประหัตประหารใคร ผมว่าบ้านเมืองบอบช้ำมานาน เพราะเอากฎหมายไปประหัตประหาร และกฎหมายที่ไปประหัตประหารไม่เป็นที่ยอมรับ ผมเองมีมาตรฐาน ถ้าผิดจริงไม่เหลือ” นายจุลสิงห์ กล่าว

 นายจุลสิงห์ กล่าวต่อว่า บางทีผมเองก็ถูกกล่าวหาอยู่ฝ่ายนี้บ้าง ฝ่ายนั้นบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าวันไหนผมสั่งคดีอย่างไร เพราะมีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งอยากให้ฟ้อง อีกฝ่ายไม่อยากให้ฟ้อง จนไม่รู้ว่าอัยการอยู่ข้างไหน ก็ต้องบอกว่าอัยการอยู่ข้างความเป็นธรรม ถามว่าใครฟ้องผู้ก่อการในประเทศ ก็ตัวผมเอง ก็เพราะเขาทำในประเทศก็ต้องฟ้องในประเทศ ยืนยันว่าก่อนสั่งคดีนิ่งแล้ว นิ่งมาแล้ว คิดแล้วว่าอย่างนี้ถูกต้อง และเมื่อคดีนี้สั่งอย่างนี้ เรื่องอื่นก็เหมือนกันหมด ต่อให้ร้อยคนไม่เห็นด้วย ก็ให้เขามาอัยการก่อนแล้วเขามาสั่ง แต่ผมสั่งตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น

 “ทำทุกอย่างด้วยความนิ่งแล้ว อย่างผมสั่งบางคดีท่านไม่ชอบ ผมสั่งคดีฟิลลิป มอริส ท่านก็ไม่ชอบ มันมีฝ่ายไง มันมีพรรคไง ว่าใครเชียร์ฝ่ายไหนอย่างไร แต่ผมก็อธิบายได้ว่าทำไมฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ถ้าทุกคนนักการเมืองทั้งหลาย เชื่อมือคนที่มาทำหน้าที่นี้ บ้านเมืองจะอยู่ได้ แต่ผมก็ต้องแสดงให้เห็นความเป็นกลาง” นายจุลสิงห์ กล่าว

 เมื่อกรรมาธิการถามว่า นิยามคำว่าก่อความไม่สงบกับก่อการร้ายอย่างไร นายจุลสิงห์ ชี้แจงว่า ในประมวลกฎหมายอาญา มีความผิดฐานก่อการร้ายอยู่ ตั้งแต่ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ไปจะถึงการข่มขู่รัฐบาล กับการใช้คำว่าก่อความไม่สงบ ถามว่าอัยการสูงสุดแยกอย่างไร ถ้าดูพฤติกรรมคล้ายๆ กัน แต่ตัวผมได้พูดในที่สาธารณว่าอุดมการณ์การเมืองภายในประเทศน่าจะเป็นเรื่องการก่อความไม่สงบ เพราะความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล พวกนี้แก้ได้ด้วยความเข้าใจ

 แต่ไม่ใช่เรื่องก่อการร้ายในลักษณะที่ไปเอาเงิน ไปเรียกค่าไถ่ แล้วข่มขู่รัฐบาลให้ปล่อยตัวคนนั้นคนนี้ เรียกเงินอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือ ก่อการร้าย ตรงนี้ก็เลยมีว่าเราสั่งไม่ฟ้องในฐานก่อการร้าย เพราะผมคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องอธิบายทำความเข้าใจ เป็นเรื่องที่คุยกันได้ เพราะประชาชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่อยู่แล้ว เสียงส่วนน้อยก็รอไป เมื่อเสียงส่วนใหญ่ไปไม่รอด เสียงส่วนน้อยก็ขึ้นมา เป็นเรื่องธรรมดา ผมถึงได้มีความเห็นที่ต้องออกกฎหมายการชุมนุม