ถึงเวลาคิดใหม่-ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ?

ข่าวสด 7 ตุลาคม 2556



รายงานพิเศษ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่


ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน และกลุ่ม 40 ส.ว. ต่อต้านการดำเนินการของรัฐบาลด้วยการยื่นฟ้ององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่รับเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สะท้อนว่าฝ่าย ต่อต้านรัฐบาลไม่มีพลังเพียงพอในการขัดขวางรัฐบาลในกระบวนการของรัฐสภา จึงต้องยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระที่กลายเป็นเครื่องมือต่อสู้รัฐบาลของเสียงข้างน้อย  โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังปี 2550 เป็นต้นมา และที่สำคัญการยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญนั้น มักมีคำวินิจฉัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล จะเห็นได้จากกรณีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ในข้อเท็จจริงนั้นการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถกระทำได้ ซึ่งหากจะให้ผู้ร้องมีมาตรฐานในการยื่นคำร้องที่ถูกต้องตามหลักการศาลรัฐธรรมนูญ คงเป็นไปได้ยาก เพราะถือว่าเป็น กระบวนการหนึ่งทางการเมือง

ดังนั้นต้องอยู่ที่องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเองที่จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการวินิจฉัยคดีต่างๆ

หากศาลรัฐธรรมนูญมีหลักการตรงไปตรงมา เสียงข้างน้อยก็จะรู้เองว่ากระบวนการดังกล่าวใช้ไม่ได้ และเสียงข้างน้อยก็จะแยกแยะออกเองว่าเรื่องใดร้องได้ เรื่องใดไม่ได้ เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ

ศาลรัฐธรรมนูญเองต้องยึดแนวทางการวินิจฉัยที่มีหลักการ ไม่กลับไปกลับมา อย่างที่ผ่านมาเคยวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 154 ใช้แย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากศาลเกิดวินิจฉัยไม่ตรงกับคำวินิจฉัยเดิมก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยึดหลักปฏิบัติที่ตรงตามกับที่รัฐ ธรรมนูญบัญญัติไว้ และไม่ตีความกฎหมายให้เกิดความคลุมเครือ เชื่อว่าจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมลดลงได้ และที่สำคัญจะไม่ถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง

อีกทั้งบางพรรคการเมืองต้องตระหนักได้แล้วว่า การดึงองค์กรอิสระมาเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาล เป็นวิธีการที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเองแต่อย่างใด

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การวางหลักเกณฑ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปัจจัยหลักไม่ได้อยู่ที่ผู้ยื่นร้อง แต่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดตัวเองให้อยู่ในกรอบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างมาตรา 68 หรือที่มาส.ว.นั้น เหมือนกับว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังเปิดกว้าง รับคำร้องได้ทุกเรื่อง เป็นการขยายอำนาจขององค์กร

ซึ่งกรณีการขยายอำนาจนี้เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไว้มาก จนถึงขั้นยุบพรรคการเมืองหรือถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

อีกทั้งด้วยตัวกฎหมายอย่างรัฐธรรมนูญ 2550 ค่อนข้างมีปัญหา ถือว่ายังมีช่องโหว่และคลุมเครืออย่างมาก ฝ่ายต่างๆ สามารถนำบทบัญญัติไปตีความเข้าข้างตัวเองได้ จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดกรณีการขยายอำนาจในการตรวจสอบ และเท่ากับเพิ่มช่องทางให้ฝ่ายตรงข้ามดำเนินการขัดขวางรัฐบาล

เพราะผู้ร้องส่วนใหญ่ คือเสียงข้างน้อยในรัฐสภาที่เห็นว่าไม่สามารถคัดค้านรัฐบาลได้ จึงต้องมาอาศัยช่องทางจากศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีความเข้มงวดเกี่ยวกับกรอบการพิจารณาคำร้องนั้น โดยยืนตามคำวินิจฉัยเดิมหากมีคำร้องในทำนองเดิมๆ หรือประเด็นซ้ำๆ เมื่อยื่นคำร้องที่ไม่ตรงตามหลักการและขอบเขตอำนาจของศาล ก็ปัดตก ไม่รับเป็นคำร้องก็ถือเป็นอันจบ

จะกลายเป็นการสร้างมาตรฐานแก่ผู้ร้องด้วยว่า ควรจะยื่นเรื่องเฉพาะที่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น

รวมทั้งที่รัฐ ธรรมนูญบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามีผลผูกพันกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งองค์กรที่มีผลผูกพันกับองค์กรแรกก็คือตัวศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะคำร้องต่างๆที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยก็เหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานให้ตัวเอง  แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ยึดแนวทางเช่นนั้น ยังคงตีความกฎหมายอย่างคลุมเครือและปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตอำนาจของตนเอง อย่างไรก็ตาม การยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตัวผู้ร้องก็ต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วย เช่น หากศาลเกิดวินิจฉัยแล้วยกฟ้อง หรือไม่รับเป็นคำร้อง ผู้ร้องก็ต้องมีสิทธิถูกดำเนินคดีกลับจากผู้ถูกร้อง

หากศาลวินิจฉัยแล้วชี้ว่าไม่มีมูลความผิดก็ถือได้ว่าเป็นการแจ้งความเท็จ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ก็ควรที่ต้องมีกระบวนการเอาผิดกับผู้ถูกร้องด้วย ไม่ใช่นึกจะยื่นร้องก็ร้องได้ฝ่ายเดียว ซึ่งวิธีนี้อย่างน้อยก็อาจจะทำให้ศาลตระหนักว่า ควรวินิจฉัยคำร้องต่างๆ ด้วยความเป็นธรรมและรอบคอบให้มากที่สุด

ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการทำหน้าที่ของศาลรัฐ ธรรมนูญและองค์ กรอิสระในบ้านเรา ที่วันนี้ไม่มีการตีความกฎหมายในเชิงสร้างสรรค์ แต่มีวิธีคิดแบบจ้องจับผิด

กรณีการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระไม่มีตัวแทนของฝ่ายบริหาร ในแง่ของที่มาจึงเป็นปัญหา ได้คนที่มีแนวคิดเชิงจับผิด ก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็น

ในแง่ของระบบก็เห็นว่าควรจำกัดสิทธิส.ส.และส.ว.ในการร้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ในระยะเวลา 3 ปี ส.ส.และส.ว.แต่ละคนยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 1 ครั้ง

เพราะในอดีตมีการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพร่ำเพรื่อ แต่พอมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 ครั้ง ต่อ 1 สมัยประชุม จึงถือเป็นเรื่องดี ไม่เช่นนั้นฝ่ายบริหารจะไม่มีเวลาทำงาน

เช่นเดียวกับการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ควรกำหนดการใช้สิทธิของส.ส.และส.ว.ขึ้นใหม่ ไม่ใช่เปิดกว้างแบบที่เป็นอยู่ เพราะการเปิดกว้างมากเกินไปย่อมทำให้เกิดเกมการเมืองได้

วิธีนี้ไม่ถือเป็นการจำกัดการตรวจสอบ เพราะส.ส.และส.ว.รวมกันมีหลายร้อยคน ทุกคนมีสิทธิยื่นเรื่องได้ คงไม่ใช่เฉพาะส.ส.หรือส.ว. บางกลุ่มที่รักบ้านเมืองเท่านั้น

ส่วนบทลงโทษคนที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพร่ำเพรื่อนั้น คงไม่จำเป็น แต่ให้ใช้การจำกัดสิทธิ์แทน เพราะหากกำหนดบทลงโทษอาจถูกกล่าวหาว่าละเมิดหลักนิติรัฐและสิทธิการตรวจสอบได้