วุฒิฯรุมเฉ่ง รายงาน'กสม.' เลือกข้าง สรุปม็อบ ไล่ทำใหม่

ข่าวสด 2 ตุลาคม 2556


วุฒิสภาถล่มรายงานประจำปี'คณะกรรมการสิทธิฯ' ส.ว.ดาหน้าเฉ่งเลือกข้าง ไม่เป็นธรรม ม็อบเหลืองยึดทำเนียบฯ สนามบิน เป็นสิ่งปกติ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ม็อบเสื้อแดงกลับหาว่าก่อความรุนแรง ซ้ำยังไม่มีข้อมูลการออกคำสั่งใช้กำลังทหาร รถถัง เฮลิคอป เตอร์โปรยแก๊สน้ำตา เขตกระสุนจริง หวั่นสร้างความแตกแยก ไล่ไปปรับปรุงรายงานมาใหม่ ด้าน 'นพ.นิรันดร์' กก.สิทธิฯ ยอมรับกลางสภารายงานบกพร่อง ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.โดดป้อง สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ รายงานค้างการพิจารณา

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยรวม 3 ฉบับ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2551-2553 โดยมีส.ว.หลายคนรุมตำหนิการรวบรวมข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าไม่ครบด้าน เลือกที่จะนำเสนอข้อมูลของบางฝ่าย ไม่ให้ความเป็นธรรมกับอีกฝ่าย

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่าเมื่อนำรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อปีพ.ศ.2551 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองปีพ.ศ.2552-2553 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เห็นถึงความแตกต่างกันชัดเจน โดยเมื่อปีพ.ศ.2551 คณะกรรมการสิทธิฯ บอกให้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ทั้งที่การเสียชีวิตดังกล่าวมันคนละสถานการณ์กับการชุมนุม ไม่เชื่อมโยงกัน

ส.ว.สรรหากล่าวต่อว่า แต่การชุมนุมปีพ.ศ.2552-2553 ของกลุ่มนปช. คณะกรรมการสิทธิฯ กลับระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นตัวก่อความรุนแรง แต่ไม่ได้นำข้อมูลการออกคำสั่งใช้กำลังทหาร ใช้รถถัง เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊สน้ำตา ประกาศเขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง และยังมีเหตุลอบยิงพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง

"ผมเป็นคนที่อยู่ในทีมเจรจาของวุฒิสภา 1 ใน 5 ส.ว. ไปที่สี่แยกราชประสงค์ เพื่อเจรจากับผู้ชุมนุมแล้วกลับมารายงานต่อรัฐสภา แต่รัฐบาลกลับไม่ฟัง เช้าวันรุ่งขึ้นสั่งให้เคลื่อนรถถัง วันนี้ศาลสั่งหลายคดีว่าการเสียชีวิตเกิดจากเจ้าหน้าที่ จึงคิดว่ารายงานคณะกรรมการสิทธิฯ ต้องกลับไปปรับปรุงใหม่ อย่างการยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน คณะกรรมการสิทธิฯ ระบุเหมือนมันเป็นสิ่งปกติ คณะกรรมการสิทธิฯ น่าจะเป็นหน่วยงานที่ทำให้สังคมกลับมาสันติสุขได้ แต่หากท่านใช้แว่นคนละอันมองคน 2 กลุ่ม เท่ากับว่าท่านกำลังจะสร้างความแตกแยกเสียเอง จึงไม่เห็นด้วยกับรายงานทั้ง 3 ฉบับ" นายวิชาญกล่าว

ส่วนนายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุงกล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องคลี่คลายปัญหาของประเทศ การทำรายงานต้องมีข้อมูลอย่างครบถ้วน เพราะรายงานฉบับนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ ความจริงคือจริง ความจริงที่ว่าคนถูกปืนยิงหัว แต่ไม่มีอยู่ในรายงาน เจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนในเหตุการณ์ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิมีคณะกรรม การสิทธิฯ ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ต้องให้สิทธิคุ้มครองประชาชน รับไม่ได้กับรายงานฉบับนี้ อยากให้กลับไปทบทวนรายงานอีกครั้งเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ขณะที่นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรี ธรรมราช กล่าวว่าการสั่งสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 มีคนตายกว่า 100 ศพ บาดเจ็บกว่า 1,000 ราย ถือว่าเป็นกรรมหนัก แต่คณะกรรมการสิทธิฯ กลับเขียนรายงานเป็นกรรมเบา แม้ต้องลากตัวกลุ่มชายชุดดำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่การทำร้ายผู้บริสุทธิ์อื่นด้วย ในรายงานฉบับนี้กลับไม่พูดถึงส่วนนี้ ไม่ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ จะเป็นใครก็ต้องถือว่ากรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา

ส.ว.นครศรีธรรมราชกล่าวต่อว่าเป็นห่วงคณะกรรมการสิทธิฯ อยากเห็นอยู่ต่อไป แต่ถ้ากรรมการสิทธิฯ บางท่านยังมีท่าทีทางการเมืองมากเกินไป ไม่พูดข้อมูลจากข้อเท็จจริง หรือไม่ช่วยหยุดความขัดแย้งแล้ว จะนำไปสู่การไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมแบบนี้ แม้คณะกรรมการสิทธิฯ ปัจจุบันจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งหน้าอาจต้องยึดโยงกับประชาชนเสียที จึงอยากให้คณะกรรมการสิทธิฯ กลับไปทบทวนรายงานโดยยึดหลักปฏิญญาสากล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ทางฟากกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายวันชัย สอนศิริ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ต่างให้กำลังใจนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ และกรรมการสิทธิฯ ทุกคน โดยนายสมชายกล่าวว่ารายงานคงทำให้ถูกใจส.ส. และส.ว. ในสภาแห่งนี้ทุกคนไม่ได้ แต่ได้ใจประชาชนและสังคมโดยรวม เห็นว่ารายงานสมบูรณ์แล้ว เพราะเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเห็นชัดเจนว่ามีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในที่ชุมนุม มีการวางระเบิดซีโฟร์เพื่อสกัดกั้นทหารไม่ให้เข้าพื้นที่ จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ

ต่อมานพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ยอมรับข้อบกพร่องในรายงานบางส่วนที่ผิดพลาด และหลังจากใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ทางกลุ่ม 40 ส.ว.พยายามขอให้ที่ประชุมรับทราบรายงาน แต่นายวิชาญแย้งว่าในเมื่อคณะกรรมการสิทธิฯ ยอมรับว่ารายงานมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริงบางส่วนก็ควรให้กลับไปปรับปรุงแล้วนำเสนอมาใหม่ จึงเกิดการโต้เถียงกับกลุ่ม 40 ส.ว.อยู่พักใหญ่ ก่อนที่นายวิชาญจะเสนอนับองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภา ประธานการประชุมจึงสั่งปิดประชุม ทำให้วาระดังกล่าวค้างการพิจารณา