วีระ-ศิษย์เก่า′ปชป.′ เปิดตำนาน′แตก-ร้าว′ !!

มติชน 13 ตุลาคม 2556




รอยร้าวของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลัง "อลงกรณ์ พลบุตร" ส.ส.เพชรบุรี และรองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.กลุ่มปฏิรูปที่ขออาสาอยู่ซ่อมบ้านหลังเก่าให้ไฉไลกว่าเดิม

ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตเกิดความขัดแย้งใน ปชป.ถึงขั้นแตกหัก ยกทีมออกจากพรรคมาแล้วหลายระลอก

วีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้ที่แตกตัวออกจากพรรค เป็นผู้อยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดมาหลายครั้ง

นายวีระกานต์ย้อนอดีตให้ฟังว่า จุดตกต่ำของพรรค ปชป. เริ่มตั้งเเต่การได้เป็นรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2519 เเล้วไม่สามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้ จนโดนทหารยึดอำนาจไปเมื่อ 6 ตุลาฯ 2519 โดยเกิดเหตุนองเลือดที่ธรรมศาสตร์ด้วย ทำให้ ปชป.เสื่อมลงไปมาก

ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ปชป.มองหาผู้นำคนใหม่แทน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่วางมือทางการเมือง

มี "ชวน หลีกภัย" "อุทัย พิมพ์ใจชน" เเละ "พิชัย รัตตกุล" เป็นตัวเต็ง

คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าสถานการณ์ขณะนั้นทั้ง "ชวน" เเละ "อุทัย" อาจไม่สามารถนำพาพรรคเดินหน้าได้ จึงเชิญคนนอก คือ "พ.อ.ถนัด คอมันตร์" อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่อายุมากเเต่มีบารมีเเละประสบการณ์ทางการเมืองมาลงสมัครด้วย

ตอนนั้นพยายามให้นายอุทัยเเละนายชวน ตกลงกันให้ได้ หากใครเป็นหัวหน้าพรรค อีกคนก็เป็นเลขาธิการพรรค เเต่ทั้งสองคนกลับไม่คุยกัน ตกลงกันไม่ได้ตรงนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเเตกเเยก

พ.อ.ถนัดจึงเป็นฝ่ายชนะ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นั่นทำให้นายอุทัยเคืองว่าสู้กันเองจนกระทั่งคนนอกได้เป็นหัวหน้าพรรค ตัดสินใจเดินออกจากพรรคไป

พ.อ.ถนัดดำรงตำเเหน่งอยู่ได้ไม่นานก็ออกไปตามอายุที่มากขึ้น โดยนายพิชัยขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเเทน ขณะที่นายชวนก็สงวนท่าทีเรื่อยมา

การเข้ามาของนายพิชัย ก็เกิดปัญหาในเวลาต่อมา กล่าวคือในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี พ.ศ. 2529

"ในการสรรหาตัวรัฐมนตรีของพรรค ปชป. นายพิชัยไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับลูกพรรคบางกลุ่ม เช่น กลุ่มวาดะห์ จากจังหวัดภาคใต้ ที่สัญญาว่าจะขอเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำเเหน่ง แต่นายพิชัยกลับให้ไม่ได้ ทำให้กลุ่มวาดะห์ไม่พอใจ" นายวีระกานต์ระบุ

ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่พอใจการจัดโผ รมต.ของพรรค รวมตัวกันเป็นกลุ่ม 10 มกราฯ ที่มี นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระกานต์นั่นเองเป็นแกนนำ

นายวีระกานต์เล่าว่า เมื่อถึงวาระการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงหัวหน้าพรรคด้วย เริ่มมีการพูดกันว่าจะไม่เลือกนายพิชัยจะเลือกคนใหม่ คือนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ซึ่งผลออกมานายพิชัยเป็นผู้ชนะ

ต่อมารัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2531 นายพิชัยที่ไม่ชอบใจลูกพรรคบางคนจึงไม่ส่งลงรับสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้กลุ่ม 10 มกรา รวม 40 คนเเยกตัวจากพรรค

จากนั้นนายพิชัยก็ลงจากตำเเหน่งหัวหน้าพรรค สาเหตุด้วยอายุที่มากขึ้น บวกกับเกิดความขัดเเย้งระหว่างร่วมรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2531 ขณะนั้น

นายชวน หลีกภัย ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค และเป็นหัวหน้าพรรคเต็มตัวอย่างไม่มีคู่เเข่งในเวลาต่อมา

วีระกานต์เล่าต่อว่า หลังเกิดเหตุพฤษภาทมิฬปี 35 มีการเลือกตั้งขึ้น ปชป. ชนะการเลือกตั้ง ด้วยนโยบาย "ไม่พาคนไปตายเเละนิยมระบบรัฐสภา" โดยมี นายชวนเป็นนายกรัฐมนตรี เเต่เป็นได้ 2 ปี 7 เดือน ก็มีเหตุสะดุดขาตัวเอง เปลี่ยนอำนาจสู่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เเละ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ

นายวีระกานต์กล่าวว่า ปี 2540 พล.อ.ชวลิตไปไม่รอด นายชวนกลับมาป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้สำคัญเพราะการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบใหม่ ประชาชนไม่ได้เห็นความเเตกต่าง ไม่ได้เห็นฝีไม้ลายมือในการบริหารประเทศ ทำให้พอเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง จึงพ่ายให้กับพรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ก่อนหน้าการพ่ายเเพ้ ก็เกิดความขัดเเย้งครั้งสำคัญเมื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค ผู้เป็นคนเเสดงฝีไม้ลายมือผลักดันนายชวน จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย โดนสอยเรื่องเเจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้บารมีที่มีในพรรคเสื่อมลงไป

โดยมี นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ได้เป็นเลขาฯคนใหม่ และเมื่อ เสธ.หนั่นกลับมามีสิทธิทางการเมืองอีกครั้งจึงลาออกจากพรรคในที่สุด

นายวีระกานต์กล่าวถึงความเเตกร้าวของพรรค ปชป.ในยุคปัจจุบันว่า หลังปฏิวัติรัฐประหารปี 19 ก.ย.49 เห็นปัญหาชัดว่า ปชป. มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เเละ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ควงคู่กันเป็นเเม่ทัพ เเต่เหมือนจุดยืนของ ปชป. เคลื่อนที่ไปมากเเล้ว

ทำให้ภายในพรรคเกิดความขัดเเย้ง

"การเเตกเเยกเป็นธรรมชาติของพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องใหญ่ เเต่ถ้าประชาธิปัตย์ ยังไม่รังเกียจเผด็จการคนอื่นเขาคงจะไม่อยู่ด้วย" วีระกานต์กล่าวทิ้งท้าย

ประวัติศาสตร์ของ ปชป. ยังบันทึกถึงความขัดแย้งที่ทำให้สมาชิกแยกตัวอีกหลายระลอก

รวมถึงการลาออกของ "สมัคร สุนทรเวช" พร้อมสมาชิกกลุ่มหนึ่ง ออกมาตั้งพรรคประชากรไทย เมื่อปี 2521

ส่วนรอบนี้ ถ้าจะเกิดการแตกหักเหมือนในอดีต ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก



(ที่มา:มติชนรายวัน 12 ตุลาคม 2556)