นายกรัฐมนตรีต้องทำตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ โดย นพ.เหวง โตจิราการ

1 ตุลาคม 2556

 ผมโต้แย้งพวกปชป.สว.ลากตั้งเรื่องนรมต้องทูลเกล้าตาม 291 (7)และผมขอให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้ายกเลิก มาตรา 309 ครับ ข้อความยาวมาก ขอโทษที่เพื่อนๆต้องลำบากอ่านนะครับ

นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ตามที่มีกลุ่มคน อันประกอบ ด้วย
1.กลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์และยื่นต่อราชเลขาธิการเพื่อขอให้ระงับการทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเรื่องที่มาสว.จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

2.กลุ่มน.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ นายสายกังกเวคินยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขที่มาของสว.ให้เป็นโมฆะและขอให้ประธานรัฐสภาชะลอเรื่องที่จะส่งไปให้นายกรัฐมนตรี

3.กลุ่มสส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มสว. จำนวนหนึ่งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสว.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้นายกรัฐมนตรีชะลอการทูลเกล้าฯเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
4.กลุ่มประชาธิปัตย์และสว.จำนวหนึ่ง อาศัยมาตรา154(1)เพื่อบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดการทูลเกล้าฯเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อนนั้น

ผมเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญมีหมวดเฉพาะในเรื่องการ “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”เป็นการเฉพาะ เอาไว้เป็น หมวดใหญ่ หมวดหนึ่งต่างหากโดดเด่นออกมา ย่อมบ่งชัดว่า รัฐธรรมนูญ2550นั้น ”แก้ไขเพิ่มเติมได้ “ และได้กำหนดให้ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในหมวดนี้
ในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้บ่งบอกไว้ชัดเจนว่า

(7)เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว “ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาบังคับใช้โดย อนุโลม

"คำว่าอนุโลม" นั้นย่อมบ่งชี้ว่า ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ใกล้เคียงกัน และอนุญาตให้นำมาใช้ “ในเรื่องกระบวนการ” เท่านั้น “ในเรื่องวิธีการ”เท่านั้น ไม่ใช่ ในเรื่อง “สถานะของกฎหมาย” หรือ “เนื้อหา หลักการ”ของกฎหมาย
ดังนั้น การใช้มาตรา150 จึงเป็นการใช้โดย “นำเอาเรื่องกระบวนการ” หรือ “ในเรื่องวิธีการ”มาใช้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่สามารถบัญญัติเอาไว้โดยละเอียดได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเยิ่นเย้อและยาวเกินความจำเป็น
สิ่งที่มาตรา 150 กำหนดไว้ คือ “ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับ” ซึ่งในที่นี้หมายถึง รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของสว.นั่นเอง และคำว่าอนุโลม ก็บ่งบอกชัดเจนว่า สภาพ สถานะของกฎหมาย นั้นเป็นคนละเรื่องคนละอันกัน ในกรณีนี้มาตรา291(7) หมายเจาะจงถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นคือ “ตัวรัฐธรรมนูญ” นั่นเอง ไม่ได้หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติ แต่อย่างใด

หากพิจาณาประกอบกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด”
ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้ นอกจากการ “นำรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่มาสว.ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับ”เท่านั้น หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการตามนี้ ก็ย่อมเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีดำเนินการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทำผิดรัฐธรรมนูญ”อันนี้จะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งอาจจะ ถึงขั้นมีบางคนอาจจะกล่าวโทษนายกรัฐมนตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือต่อศาลอื่นว่า “กระทำการผิดรัฐธรรมนูญ”ซึ่งหมายถึงอาจจะต้องพ้นตำแหน่งอันจะทำให้รัฐบาลพ้นไปด้วย หรืออาจจะถูกกล่าวหารุนแรงจนถึงขั้นกบฎหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้
การเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีชะลอการทูลเกล้าฯไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัย จึงไม่มีกฎหมายใดๆรองรับ ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหนมารองรับ รวมไปถึง ศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่สามารถที่จะออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามได้ เพราะ “รัฐธรรมนูญ” ย่อมอยู่เหนือกว่า สูงกว่า คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้แต่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตาม คำวินิจฉัย เลขที่18-22/2555 นั้นก็มีความเห็นทางกฏหมายโต้แย้งอย่างมากมาย แม้ว่าจะเป็นเด็ดขาด และผูกพัน รัฐบาล รัฐสภา และศาล ก็ตาม ว่าน่าจะเป็นการ ขยายขอบเขตของอำนาจของตนมากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

ดังนั้นผมเห็นว่า นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามมาตรา 291(7) ประกอบกับมาตรา150 เท่านั้น
ในกรณีนี้มีหลายกลุ่มมีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามมาตรา154ของรัฐธรรมนูญนั้น ในเรื่องนี้ มาตรา154 ระบุชัดเจนว่า “ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา150...............”
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ ใช้คำว่า “ร่างพระราชบัญญัติ” อย่างจงใจ ร่างพระราชบัญญติ ย่อมไม่ใช่ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอย่างแน่นอน ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคำวินิจฉัยเลขที่4/2554 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ในครั้งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แก้เขตเดียวเบอร์เดียวและจากสส.สัดส่วนมาเป็นสส.บัญชีรายชื่อเดียว
ดังนั้นการอ้างมาตรา154 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชะลอ หรือการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขัดขวาง นายกรัฐมนตรีเพื่อให้ชะลอเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผิดรัฐธรรมนูญซึ่ง นายกรัฐมนตรีไม่สามารถกระทำการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือผิดรัฐธรรมนูญเป็นอันขาด
                          นพ.เหวง โตจิราการ 1 ตุลาคม 2556