ข่าวสด 3 ตุลาคม 2556
สั่งฟ้องแล้ว บ.บุหรี่ยักษ์ใหญ่ "ฟิลลิปมอร์ริส" คดีสำแดงราคานำเข้าเท็จ รัฐเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท อสส.มีคำสั่งฟ้องหลังก่อนหน้านี้อัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง จน ดีเอสไอต้องส่งเรื่องกลับมาให้อสส.พิจารณาอีกครั้ง เผยต้นเรื่องจากกรมศุลกากรแจ้งให้ ดีเอสไอสอบสวนหลังพบแจ้งราคานำเข้าบุหรี่มาร์ลโบโร่แค่ซองละ 7 บาทเศษๆ แต่ขายปลีกซองละ 75-80 บาท "อรรถพล ใหญ่สว่าง" อสส.คนปัจจุบันระบุ "จุลสิงห์ วสันตสิงห์" อดีตอสส.ที่เพิ่งเกษียณมีคำสั่งฟ้องแล้วรวม 12 ราย สั่งไม่ฟ้อง 2 ราย เพราะรายหนึ่งเสียชีวิตอีกรายหลักฐานไม่เพียงพอ พรรคเพื่อไทยสมัยเป็นฝ่ายค้านช่วงต้นปี 2554 "เฉลิม อยู่บำรุง"นำทีมชำแหละกลางสภา กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่รัฐบาลปชป.โดย "เกียรติ สิทธีอมร" ยืนยันไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้แทรกแซงการทำงานของอัยการ
จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสั่งฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ยูไนเต็ด จำกัด พร้อมพวกรวม 14 คน ในข้อหาร่วมกันแสดงราคานำเข้า บุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่ และแอลแอนด์เอ็ม จากประเทศฟิลิปปินส์ ต่ำกว่าราคาปกติ เป็นเหตุให้รัฐเสียประโยชน์จากการจัดเก็บภาษี 68,881 ล้านบาท ตามที่กรมศุลกากร ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอจึงส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุดพิจารณา นั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดคนใหม่ เปิดเผยว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นชี้ขาดสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวแล้ว แต่สั่งฟ้องผู้ต้องหาเพียง 12 รายเท่านั้น เนื่องจากมีผู้ต้องหา 1 รายเสียชีวิตแล้ว ส่วนอีก 1 รายพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความผิด ส่วนข้อหาที่สั่งฟ้องก็เป็นไปตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 ซึ่งหลังจากนี้ก็ได้ส่งสำนวนกลับไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาลต่อไป
เมื่อถามถึงเหตุผลที่สั่งฟ้อง นายอรรถพลกล่าวว่า ผู้ที่พิจารณาและมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้คือนายจุลสิงห์ และขณะนี้สำนวนคดี ดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ที่ตน จึงไม่ทราบว่าเหตุผลที่สั่งฟ้องเป็นอย่างไร และไม่ทราบว่าผู้ต้องหาที่สั่งไม่ฟ้อง 2 รายคือใครบ้าง
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีอัยการส่งเรื่องฟ้องศาลกล่าวหาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ร่วมกันสำแดงราคา อันเป็นเท็จในการนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่ และแอลแอนด์เอ็ม เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ว่า เรื่องนี้เปิดประเด็นมาตั้งแต่ต้นว่าควรไปจบในชั้นศาล เมื่อครั้งที่อภิปรายในสภาตั้งแต่เดือนมี.ค.54 โดยระบุว่าใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นส.ส.หรือคนในรัฐบาลขณะนั้นก็ให้ไปชี้แจงกันที่ศาล
"เรื่องนี้ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บางคนฟ้องกลับผมที่นำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย แต่ไม่รู้สึกกังวลและพร้อมชี้แจงต่อศาล ในครั้งแรกที่ยังสั่งไม่ฟ้องนั้นผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่เมื่ออัยการพบว่า มีข้อมูลเพิ่มและมีหลักฐานจึงสั่งฟ้อง ถือเป็นเรื่องที่จะไปสู้กันที่ศาล ทั้งนี้ หากศาลเรียกไปให้การก็พร้อมที่จะไปต่อสู้ เพราะเรื่องที่นำมาเปิดเผยเป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้กล่าวหาใคร" นายยุทธพงศ์กล่าวและว่า มั่นใจในข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่และพร้อมจะเป็นพยานในศาลหากมีหมายเรียก เมื่อศาลวินิจฉัยอย่างไรก็ต้องว่าตามคดีอาญา ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตนไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้ถอดถอน จากตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น เป็นเรื่องที่ป.ป.ช. ต้องไปพิจารณา
เมื่อถามว่ามั่นใจกับกระบวนการพิจารณาของศาลหรือไม่ นายยุทธพงศ์กล่าวว่า คดีนี้จะเป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมของไทยว่ามีความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน
นพ.หทัย ชิตานนท์ หัวหน้าคณะวิจัยการควบคุมยาสูบ ในฐานะประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันผ่านมาร่วม 10 ปี นับว่าใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าคดีจะมีความคืบหน้า แต่เมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนับว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทย
นพ.หทัยกล่าวอีกว่า นอกจากฟิลลิป มอร์ริสจะเป็นคู่กรณีของรัฐโดยตรงแล้ว คำถามที่อยากให้สังคมช่วยกันตั้งข้อสังเกตเพิ่มคือ ทำไมกรมสรรพสามิตถึงตั้งราคาบุหรี่ในประเทศหน้าโรงงานประมาณซองละ 25 บาท แต่บุหรี่นอกประเทศกลับตั้งต่ำกว่าเพียงซองละประมาณ 8 บาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องอย่างยิ่ง อันที่จริงรัฐสามารถเรียกเก็บภาษีจากบุหรี่นอกได้มากกว่านี้
สำหรับคดีดังกล่าวต้นเรื่องมาจากกรมศุลกากรมีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด พร้อมนายจรณชัย ศัลยพงษ์ กับพวกรวม 14 คน ในข้อหาร่วมกันสำแดงราคาอันเป็นเท็จในการนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่ และแอลแอนด์เอ็ม เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร เป็นเหตุให้รัฐเสียประโยชน์จากการจัดเก็บภาษี 68,881 ล้านบาท
ดีเอสไอสอบสวนรวบรวมหลักฐานตั้งแต่ ปี 2549 พบว่าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่ ของ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ฟิลิปปินส์) ส่งขายให้กับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ในเมืองไทยสำแดงราคาซองละ 7.76 บาท แต่ส่งไปขายให้กับบริษัทคิง เพาเวอร์ แจ้งราคาซองละ 27.46 บาท เมื่อนำไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ฟิลิปปินส์) ส่งไปขายพบว่าแตกต่างกันอย่างมาก โดยสำแดงราคาขายให้ประเทศสิงคโปร์ ซองละ 20 บาท มาเลเซียซองละ 19.95 บาท ส่วนบุหรี่ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ก็เช่นเดียวกัน โรงงานผลิตที่ประเทศฟิลิปปินส์ส่งมาขายให้บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ซองละ 5.88 บาท แต่ส่งขายให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สำแดงราคาซองละ 16.81 บาท
ดีเอสไอจึงสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ส่งไปยังสำนักงานอัยการฝ่ายพิเศษ ต่อมาช่วงต้นปี 2554 อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษพิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหา และส่งเรื่องกลับมาให้ดีเอสไอพิจารณา ขณะที่ดีเอสไอพิจารณาสำนวนแล้วยืนยันสั่งฟ้องพร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด กระทั่งล่าสุดอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องดังกล่าว
คดีนี้ยังเป็นปมร้อนทางการเมือง เมื่อร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายยุทธพงศ์ ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน(ในขณะนั้น) อภิปรายเรื่องนี้ในสภา อย่างเผ็ดร้อนโดยพรรคฝ่ายค้านพาดพิงนักการเมืองบางคนว่าอยู่เบื้องหลังคดีนี้ ทำให้นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ (ในขณะนั้น) ให้ดูแลกรณีนี้ ออกมาแถลงตอบโต้ว่าไม่เกี่ยวข้อง และไม่ได้ใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของอัยการ