(เบื้องต้น)
updated: 28 ต.ค. 2556 เวลา 14:19:21 น.
มติชนออนไลน์
อสส.สั่งฟ้อง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" คดีสั่งสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ชี้เจตนาเล็งเห็นผลว่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิต
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นายนันทศักดิ์ พูลสุข โฆษกประจำสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลการพิจารณาคดีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนการสอบสวนคดีนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิทปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในความผิดร่วมกันออกคำสั่งให้ ศอฉ.ปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เมื่อช่วงปี 2553 จนเป็นเหตุให้ผู้ร่วมชุมนุมเสียชีวิต อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เเละนายสุเทพ ในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค.2553
อัยการสูงสุด ชี้ว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองนั้นมีพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล เอกสาร ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอฉ.ปิดล้อมสกัดกั้นการเข้าร่วมชุมนุม ขอคืนพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินจำเป็น
โฆษกประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คดีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มากกว่าการตรวจสอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากคดีนี้มีการกระทำความผิดอย่างชัดเจนในการออกคำสั่งจนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจริง จากการออกคำสั่งของผู้ต้องหาทั้งสองต่อ ศอฉ. ดังนั้น จึงเห็นควรว่าอำนาจการสอบสวนทำคดีดังกล่าวเป็นของดีเอสไอนั้นถูกต้องแล้วไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงของ ป.ป.ช.เนื่องจากไม่ใช่ความผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการ อีกทั้งแม้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะออกคำสั่งต่างวาระ ต่างเวลากัน แต่ก็พบว่ามีการออกคำสั่งต่อ ศอฉ.ให้ปฏิบัติหน้าที่มาหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ต่างกรรม ต่างวาระ กัน แต่ให้นับเป็นกรรมเดียวกัน
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:12:46 น.