วันที่ 29 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 28 ต.ค. อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. ในข้อหาร่วมกัน ก่อให้ผู้อื่นฆ่า และพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนา จากกรณีมีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่จากกลุ่ม นปช. บริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 พร้อมเห็นว่า การออกคำสั่งหลายครั้งในเวลาต่างกันและหลายพื้นที่ ถือเป็นการออกคำสั่งต่อเนื่อง ถือเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว
โดยวันนี้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวน เพื่อพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรกับสำนวนคดีอื่นๆ หลังอัยการสูงสุด ระบุชัดเจนในคำสั่งฟ้องคดีว่า คดีดังกล่าว เป็นความผิดกรรมเดียว จากการออกคำสั่ง ศอฉ. จึงไม่สามารถฟ้องเพื่อเรียงกระทงลงโทษได้
นายธาริต แถลงว่า สืบเนื่องจาก วันที่ 28 ต.ค. สำนักงานอัยการสูงสุดได้แถลงถึงการพิจารณาสำนวนคดีพิเศษกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีคำสั่งให้กำลังเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธและกระสุนเกินความจำเป็นในการขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(นปช.)เมื่อปี พ.ศ.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ว่า คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว แม้จะออกคำสั่งในเวลาต่างกัน ในพื้นที่ต่างกัน และผลจากการกระทำจะมีผู้เสียชีวิตต่างเวลาและสถานที่กันก็ตามแต่ แต่ถือเป็นเจตนาเดียวกันเพื่อสลายการชุมนุม
นายธาริตกล่าวว่า ในส่วนของคณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอยังคงความเห็นว่า จะเดินหน้าดำเนินคดีนี้โดยแยกเป็นรายคดีๆ ไป เว้นแต่เหตุการณ์ในเวลาและสถานที่เดียวกันจึงจะรวมสำนวนเป็น 1 คดี โดยเฉพาะคดีพยายามฆ่าคนตายมีผู้เสียหายมากถึงประมาณ 1,000 คน ซึ่งจะต้องเคารพในสิทธิของผู้เสียหายหรือได้รับบาดเจ็บ ที่ได้มาร้องทุกข์เป็นรายคดี และหากการไต่ส่วนของศาลในเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้ตายแต่ละรายยังไม่เสร็จสิ้น การสั่งคดีเช่นนี้ก็อาจจะกระทบอำนาจศาลที่อยู่ระหว่างไต่สวนได้
“ดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพคดีที่มีหลักฐานเชื่อว่าเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ ส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุนั้นๆ ทำเรื่องส่งไปให้ตามขั้นตอนต่อไป มี 52 ราย ที่เสียชีวิต ซึ่งใน 52 รายนี้ ศาลมีคำสั่งแล้วถึง 15 ราย” อธิบดีดีเอสไอกล่าว
นายธาริต กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะกระทบกับคดีเหล่านี้หรือไม่ว่า ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ ดีเอสไอยืนยันส่งฟ้องแยกเป็นรายคดี