เปิดคำสั่งศาลศพ13-14 ปืนฝั่งจนท.-เด็ดชีพ จาก"จรูญ"ถึง"สยาม" เหยื่อกระสุน10เม.ษา

ข่าวสด 6 ตุลาคม 2556



คอลัมน์ แฟ้มคดี

"ถ้าญาติเขา หรือพ่อแม่เขาเจอแบบเรา เขาคงจะรู้สึกได้ว่าความเจ็บปวดเป็นอย่างไร เพราะวันนั้นถือเป็นการกระทำที่คนไทย ด้วยกันไม่น่าจะทำกันแบบนี้"

"อยากขอให้ผู้กระทำมีความสำนึกของความเป็นคนบ้าง อยากให้รู้ว่าคนที่สูญเสีย มีชีวิตเป็นอย่างไร เราสูญเสียผู้นำครอบครัว แล้วก็รู้สึกเสียใจมากเวลามีคนว่าเรื่องได้รับเงินเยียวยา ขอบอกว่าเงินตรงนั้นเราไม่อยากได้ เราอยากได้ชีวิตสามีเรากลับมาเพราะเรายังหากินด้วยกันได้ตลอดชีวิต"

คำพูดจากใจของญาติ ?นายจรูญ ฉายแม้น? อายุ 46 ปี คนขับรถแท็กซี่ และ ?นายสยาม วัฒนนุกูล? อายุ 52 ปี ช่างซ่อมรถทัวร์เหยื่อกระสุน 2 รายล่าสุดที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

ระบุว่า "เสียชีวิตจากกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่"

นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 13 และ 14 ที่ศาลมีคำสั่งชัดเจน ซึ่งขั้นตอนต่อไปไม่ต่างจาก 12 รายก่อนหน้านี้ที่สำนวนจะกลับคืนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อแจ้งข้อหากับผู้เกี่ยวข้อง

ในที่นี้คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดในการปราบม็อบ นปช.

ศาลอ่านคำสั่งศพที่ 13-14

วันที่ 30 กันยายน ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.13/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม วัฒนนุกูล ผู้ตายที่ 2

ทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่น่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

เหตุดังกล่าวเป็นวันแรกที่เกิดการปะทะหลังจาก ศอฉ.โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯและผอ.ศอฉ.(ในขณะนั้น) จากการแต่งตั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ(ในขณะนั้น) ส่งทหารพร้อมอาวุธหนักเข้าปราบผู้ชุมนุมโดยประดิษฐ์ถ้อยคำว่า

"ขอคืนพื้นที่"

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 7 เม.ย. รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ

ศาลอ่านคำสั่งต่อว่า ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้น ศอฉ.ได้ออกข้อกำหนดห้ามการกระทำต่างๆ เพื่อให้ เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้

โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำกาย คือ ปืนเล็กยาว เอ็ม-16 เอชเค 33 ทาโวร์ และปืนลูกซองยาว ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ปฏิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มนปช. บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อเปิดเส้นทางการจราจรจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงสี่แยกคอกวัว

ประจักษ์พยานชัดเจน

ขณะที่เจ้าพนักงานเคลื่อนกำลังพลขอคืนพื้นที่ชุมนุมภายใน วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ตั้งแนวป้องกันบนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานยึดพื้นที่การชุมนุมคืน จนเกิดการปะทะผลักดันกันไปมาตั้งแต่เวลา 16.30-19.30 น. โดยระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังเป็นระยะ

กระทั่งเวลา 20.30 น. มีบุคคลขว้างระเบิดเข้าไปยังแนวป้องกันของเจ้าพนักงานบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นเหตุให้ เจ้าพนักงานถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บหลายนาย

ผู้ชุมนุมบางส่วนรวมถึงนายจรูญ ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม ผู้ตายที่ 2 ติดตามเจ้าพนักงานที่ถอยร่นเข้าไปด้วย ระหว่างนั้นเจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป มีผู้เห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และมีอาสาสมัครกู้ภัยนำผู้ตายทั้งสองส่ง ร.พ.กลาง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปาก อยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่าเห็นประกายไฟจากปากกระบอกปืน และได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าพนักงาน

ประจักษ์พยานสองปากเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

ส่วนประจักษ์พยานอีกสองซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวและอาสาสมัครกู้ภัย ต่างได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ขณะที่อยู่บริเวณเดียวกันกับผู้ตายทั้งสอง ทั้งสองปากเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับผู้ใด จึงเชื่อว่าพยานทั้งสี่เบิกความตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา

ประกอบกับได้ความจากแพทย์นิติเวชที่ร่วมกันชันสูตรศพของผู้ตายทั้งสอง และความจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ยืนยันว่าเศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 มีขนาด .223 (5.56 ม.ม.) สามารถใช้ยิงได้กับอาวุธปืนเล็กยาว เอ็ม-16 เอชเค 33 และทาโวร์ เป็นอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ใน วันเกิดเหตุ




ถูกกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ

จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจาก ฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา แต่พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมานั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายที่ 1 คือ นายจรูญ ฉายแม้น ถึงแก่ความตายที่ร.พ.กลาง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เวลาประมาณ 22.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่ทรวงอก ทำลายปอดและตับ

ส่วนผู้ตายที่ 2 คือ นายสยาม วัฒนนุกูล ถึงแก่ความตายขณะนำส่งร.พ. จากบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถึงร.พ.กลาง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สถานที่ใดไม่ปรากฏชัด ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. 2553 เวลา 20.30 น. ถึง วันที่ 11 เม.ย. 2553 เวลา 00.46 น. วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด

"เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ด้านหลังทะลุทรวงอก ทำลายหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องอก และเสียโลหิตปริมาณมาก ซึ่งกระสุนปืนยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็น ผู้ลงมือกระทำ"

ญาติดีใจได้คืนยุติธรรม

ในการอ่านคำสั่งครั้งนี้มีญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายคือนางบุญนำ ตาเวียง พี่สาวนายสยาม, นางนวล ฉายแม้น และน.ส.นงลักษณ์ ฉายแม้น ภรรยาและลูกสาวนายจรูญ รวมถึงญาติกว่า 10 คน เดินทางมาฟังคำสั่งด้วย แต่ละคนมีท่าทางไม่ต่างกันเพราะถือว่าได้คืนความยุติธรรมมาในชั้นต้นแล้ว

"ดีใจมากที่ได้รับความยุติธรรม เมื่อได้ยินคำสั่งก็แทบเก็บอาการไม่อยู่ ก่อนมายังยกมือบอกกับน้องชายว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งออกมาในรูปแบบนี้ เพราะดิฉันอยู่ในเหตุการณ์เห็นเจ้าหน้าที่ออกมาและมีอาวุธปืนด้วย แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ น้องชายถือแต่ขวดน้ำเปล่า"

นางบุญนำกล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้าและว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด แม้เราจะได้รับเงินเยียวยามาแต่มันเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะชีวิตคนเราไม่ได้อยู่แค่เงิน 7 ล้านบาท ต่อให้ร้อยล้าน หรือพันล้าน มันก็เทียบกันไม่ได้กับชีวิตของน้องชาย

ส่วน นางนวล ภรรยานายจรูญ กล่าวว่า ดีใจมากที่ความยุติธรรมในเมืองไทยยังมีอยู่ ส่วนคำสั่งก็ตรงกับที่คิดไว้ว่ากระสุนมาจากทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมั่นใจมาก เนื่องจากตอนไปชุมนุมก็เห็น เจ้าหน้าที่อยู่รอบๆ และมีอาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธอะไร อยากให้คนที่สั่งการและคนที่กระทำได้รับโทษที่ทำกับประชาชนแบบนี้

นี่เป็นความรู้สึกของ 2 ครอบครัวที่ไม่แตกต่างจากญาติของ ผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่นับผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน

ที่สำคัญผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ทั้งๆ ที่ผู้ชุมนุมถูกกระทำอย่างรุนแรงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน-18 พฤษภาคม 2553 ก่อนที่จะเกิดเหตุวุ่นวายถึงขั้นเผาสถานที่ต่างๆ จะเริ่มในช่วงบ่าย "วันที่ 19 พฤษภาคม" หลังจากแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว

ตลอดเวลา 1 เดือนเศษๆ ที่ถูกฆ่าเป็นใบไม้ร่วงก่อนที่ไฟจุดแรกจะถูกเผา ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นฝีมือของใคร แต่เพราะลีลาการพูด การชวนเชื่อ หาความชอบธรรมในการใช้อาวุธว่าเพราะต้องปราบพวกเผาบ้านเผาเมือง

ตอนนี้อย่างน้อยมีแล้ว 14 ศพผู้ชุมนุม ที่ศาลมีคำสั่งว่าเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ

จึงเป็นคำตอบในคำถามของนายอภิสิทธิ์ ที่มักจะพูดให้รัฐบาลช่วยปรามคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ที่นายอภิสิทธิ์ เดินทางไปปรากฏตัว ว่าเหตุใดคนเสื้อแดงจึงแสดงออกใน ด้านลบขนาดนั้น

และคงไม่มีใครจะห้ามปรามได้แน่นอน!??