มติชนวิเคราะห์ ...ศึกต่อเนื่อง รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ยังไม่สิ้นเสียง"นกหวีด"

มติชน 2 กันยายน 2556





เดือนสิงหาคมผ่านไปด้วยอุณหภูมิการเมืองร้อนฉ่ามาตลอดทั้งเดือน 

เกมป่วนทั้งในและนอกสภา สร้างความกังวลต่อฝ่ายต่างๆ ว่าสถานการณ์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ 

ฝ่ายทหารนั้นชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ในการเมืองไทยที่ผ่านการออกแบบอันแยบยลของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีอำนาจอื่นอีก ที่สามารถบันดาลความเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่พรรคไทยรักไทยเคยพบเมื่อเดือนกันยายน 2549 อาจไม่เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่พรรคพลังประชาชนเคยเผชิญมาแล้ว เมื่อปลายปี 2551 ไม่แน่ว่าอาจจะเกิดขึ้นอีก

เกมป่วนในและนอกสภาที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีเสียงเตือนจากนักวิชาการว่า อาจนำพาการเมืองไทยสู่สภาวะอนาธิปไตย 

อันเป็นสภาพที่ไร้กฎเกณฑ์ และสับสนวุ่นวาย เพื่อสร้างเงื่อนไขเชื้อเชิญอำนาจอื่นเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง



การต่อสู้ของ 2 ขั้วการเมือง คือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปลี่ยนแนวทางไป ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่รับรู้สัมผัสได้

บทความของ ธอมัส ฟุลเลอร์ ในนิวยอร์กไทม์สเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่า พรรคฝ่ายค้านไทยได้เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ไปแล้ว 

เป็นแนวทางที่เรียกว่่า ยุทธศาสตร์ 2 ขา 

เห็นได้ชัดเจน เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ผลักดันกฎหมายสำคัญได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.เข้าสู่การพิจารณาของสภา และรัฐสภา 

ฝ่ายค้านเปิดเกมแรง ประกาศเล่นทั้งในและนอกสภา 

เกมในสภาคือ เตะถ่วง ประท้วง และอภิปรายลากยาว และเทคนิคในสภา ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านวาระ 1 ไปแบบหืดขึ้นคอ 

ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ เพื่อจะกลับสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2-3 ในสมัยประชุมนี้ 

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เจอการอภิปรายยืดเยื้อ ลากยาว สลับกับการประท้วง จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เสร็จ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 พลอยฟ้าพลอยฝน กลายเป็นสนามรบระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน กว่าจะผ่านวาระ 3 มาได้แบบหวิดชนกับเส้นตาย 105 วัน อันเป็นกำหนดเวลาที่สภาผู้แทนฯต้องพิจารณาให้เสร็จ 



อีก 1 ขาของยุทธศาสตร์นี้ คือเกมนอกสภา ที่ฝ่ายค้านโหมกระแสมาตลอดห้วงปิดสมัยประชุม ผ่านเวทีผ่านความจริง 

ทันทีที่เปิดสภา ฝ่ายค้านประกาศระดมม็อบมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะมีม็อบจากกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ เข้ามาสมทบ 

แต่ก็ติดที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 3 เขต กทม. เพื่อมิให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองใกล้กับรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล

ทำให้การชุมนุมของฝ่ายค้านลดความคึกคักลงไป สุดท้ายต้องประกาศให้ประชาชนสลายตัวกลับบ้าน ขณะที่กองทัพประชาชนก็ประกาศเปลี่ยนความตั้งใจ ที่จะนำม็อบมาสมทบ

ส่งผลต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นเรื่องของสภาไป 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังไม่ละทิ้งแนวทางนอกสภา

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่า จะระดมประชาชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกรอบ 

เพื่อเตะสกัดกฎหมายนี้ให้ได้ 

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ได้เตรียมที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นช่องทางที่ฝ่ายค้านใช้ประจำ 

ประเด็นสำคัญที่น่าคิดก็คือ การระดมพลรอบนี้ จะซ้่ำรอยเดิมเมื่อต้นเดือนสิงหาคมหรือไม่ 

หรือสถานการณ์จะเปลี่ยน ประชาชนจะออกหลั่งไหลมาชุมนุมในท้องถนน ตามเสียงนกหวีดของพรรคประชาธิปัตย์ 

เป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับพรรคประชาธิปัตย์



เมื่อเป็นเช่นนี้ ศึกสภาในเดือนสิงหาคม ยังเป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้่น 

เดือนกันยายน ยังเป็นเวทีที่อาจดุเดือดยิ่งกว่า

โจทย์คือท่าทีแข็งกร้าวของฝ่ายค้าน ที่จะไม่ยอมรามือให้กับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. 

ขณะเดียวกัน ในต้นเดือนกันยายนยังจะมีกฎหมายสำคัญได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบราง

เป็นกฎหมายอีกฉบับที่ไม่เพียงจะพลิกโฉมหน้าประเทศไทย แต่จะสร้างความแตกต่างทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

แน่นอนว่า เป็นเป้าหมายสำคัญของฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน 

กุญแจสำคัญอยู่ที่ว่า ประเด็นเหล่านี้จะเรียกม็อบได้มากน้อยแค่ไหน และทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ?จุดติด? ได้หรือไม่ 

โดยเฉพาะ ในเมื่อแนวร่วมสำคัญของฝ่ายค้าน คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศยุติบทบาทของตนเองไป 

ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วมวลชนของพันธมิตรจะไหลไปที่ใด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศต้อนรับ และสานต่อเจตนารมณ์ของพันธมิตรอย่างเต็มที่ 

ขณะที่รัฐบาล ก็เปิดเวทีสภาปฏิรูปขึ้นอย่างคึกคัก ทำให้เห็นว่า ภายนอกสภายังมีรูปแบบของการหาข้อยุติในลักษณะของการหันหน้าเข้าหากัน 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลเองก็พลาด ที่ไม่ได้ดูแลปัญหาราคายางที่วูบวาบอย่างใกล้ชิดเท่าที่ควร

กลายเป็นปัญหาในการบริหารงาน และเป็นเงื่อนไขทำให้ผู้เดือดร้อนจากปัญหานี้จัดการชุมนุมประท้วง 

เรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายาง 

ความเข้มข้นไปอยู่ที่ภาคใต้ ที่มีการปิดถนน ปิดทางรถไฟของชาวสวนยาง มีการเจรจาหลายรอบแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ 

ที่่น่าจับตาได้แก่ มติของเครือข่ายสวนยาง 4 ภาค ที่จะชุมนุมปิดประเทศของชาวสวนยางทั่วประเทศ ปิดถนนและเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 กันยายน 

นับเป็นสถานการณ์อันซับซ้อน ที่เชื่อมโยงระหว่างเกมในและนอกสภา อันมีเป้าหมายอยู่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ดังที่นิวยอร์กไทมส์วิเคราะห์ว่าเป็นพายุใหญ่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

เป็นอีกบททดสอบของรัฐบาลเพื่อไทยและฝ่ายค้าน ในต้นเดือนกันยายนนี้ ท่ามกลางเสียงนกหวีดดังระงม