อ.ธิดา กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "40 ปี 14 ตุลา ถึงเวลา ปฏิรูป ปฏิรูป ปฏิรูป"



ทีมข่าว นปช.
7 กันยายน 2556




วันนี้เวลา 12.30 น. อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรการอภิปรายในงาน "40 ปี 14 ตุลา ถึงเวลา ปฏิรูป ปฏิรูป ปฏิรูป" ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ห้องราชา ถนนราชดำเนิน

โดย อ.ธิดา ได้กล่าวในงานว่าเมื่อปี พ.ศ. 2435 นั้นเป็นปีแห่งการปฏิรูปที่มีพลังมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 นั่นคือการปฏิรูปที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นการปฏิรูปจากพระมหากษัตริย์ และมีการเปลี่ยนแปลงประเทศไปค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นสิ่งที่ตรงตามนิยามของคำว่า "ปฏิรูป"   และอีก 40 ปีต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ 2475 ซึ่งก็ไม่ใช่การปฏิรูป หากแต่เป็นการ "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" อีก 40 ปีต่อมาจึงได้ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา และจาก 14 ตุลามาถึงปัจจุบัน ก็เป็นอีก 40 ปี

นับจาก 14 ตุลามาถึง ปีปัจจุบัน 2556 ได้มีการส่งผ่านไม้แห่งการต่อสู้ คือจากชนชั้นกลางระดับบนและระดับล่างส่วนหนึ่ง ได้ถูกส่งมายังมวลชนพื้นฐานหรือชาวรากหญ้าในปัจจุบัน ใน 40 ปีก่อนนั้นคนชั้นกลางรับไม้แห่งการต่อสู้ซึ่งมากจากปี 2475 แต่ในปัจจุบันกลายเป็นมวลชนพื้นฐานที่มีการตื่นตัวซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนเดิม

หลายคนที่อยู่บนยอดปีระมิดคิดว่าเขาจะสามารถรักษาสถานะเหมือนเมื่อตอน 14 ตุลา หรือเหตุการณ์หลังจากนั้นได้ แต่มันไม่ใช่ เพราะว่าความเป็นจริงนั้นโลกได้เปลี่ยน ประชาชนก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปในทางที่ก้าวหน้าขึ้น

เมื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปว่าถึงเวลาหรือยังนั้น อ.ธิดา ได้กล่าวว่าจะปฏิรูปการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดดเดี่ยวในโลกนี้ ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด เศรษฐกิจก็ส่งผลถึงการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ต้องการการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย และต้องการความคิดในสังคมที่เป็นเสรีนิยม คนคิดต่างกันอยู่กันได้ไม่ต้องฆ่ากัน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด อยู่กันด้วยหลักการและเหตุผลและยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่

การปรับเปลี่ยนการเมืองการปกครองอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเศรษฐกิจและสังคมก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันจะส่งผลถึงกันและกัน

เรื่องการหาทางออกในกับประเทศนั้น อ.ธิดา กล่าวว่าเราไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะจริงใจหรือไม่ แต่ว่าในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็ได้เชิญฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาร่วม นปช.ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ ก็ต้องเข้าไป แต่ว่าเมื่อเข้าก็บอกว่าไม่ค่อยจะเชื่อมั่นซักเท่าไหร่ เพราะว่าเวทีปฏิรูปที่นั่น เป็นการปฏิรูปจากข้างบนลงมาข้างล่าง และเวทีที่นั่นก็เป็นเวทีของชนชั้นนำส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ซึ่ง อ.ธิดา เห็นว่าเป็นเกมของยอดปีระมิด

อ.ธิดา ได้กล่าวถึงจุดยืนของ นปช.ที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง นี่คือเป้าหมายของเรา และเราได้บอกในเวทีนั้นแล้วว่าเราไม่เอาประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เพราะประชาธิปไตยมีแบบเดียว ก็คืออธิปไตยเป็นของประชาชน เพราะคำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" มีตั้งแต่ยุคของ เสนีย์ ปราโมช และก็ได้กลายเป็นวาทะกรรมของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยบอกว่าประเทศนี้ต้องการประชาธิปไตยแบบไทย ๆ อ.ธิดา พูดในวันนั้นเลยบอกไม่เอา แล้วที่ให้ถอยหลังเราก็จะไม่ถอยหลัง เพราะเราจะเดินไปข้างหน้า ประชาชนนั้นถูกกระทำและเราจำเป็นต้องเดินหน้า คนที่เป็นชนชั้นนำนั่นแหละถอยหลัง แต่เราไม่มีวันถอยหลัง เราเดินหน้าอย่างเดียวโดยชูเป้าหมายประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่ที่ควรจะเห็นดีเห็นงามด้วยกันกับเรา

การเมืองการปกครองของเราได้เสนอว่านอกจากมีเป้าหมายชัดเจน เราเสนอว่าเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไร สังคมควรเป็นอย่างไร การเมืองการปกครองยึดหลักอะไร สิทธิเสรีภาพและที่สำคัญคือความเสมอภาค และเราได้บอกเลยว่าในประเทศไทยนี้ทุกคนพูดถึงสิทธิเสรีภาพ แต่สิ่งที่เขาไม่ยอมให้เลยคือความเสมอภาค สังคมไทยไม่เคยยอมให้ความเสมอภาค แม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองของประชาชน และเมื่อไม่มีความเสมอภาค ก็ย่อมจะไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้

หลักการทางเศรษฐกิจนั้น อ.ธิดา กล่าวว่าเราต้องการเศรษฐกิจเสรีแต่มีการวางแผนแก้ปัญหาความยากจนเป็นลำดับที่ 1 และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกเป็นลำดับที่ 2   เราได้นำเสนอในทางด้านสังคมด้วย การที่จะปฏิรูปการเมืองได้นั้นนอกจากเป็นความจริงใจของผู้กุมอำนาจรัฐแล้วมันต้องถูกบีบบังคับและเกิดจากการตรวจสอบของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ตรวจสอบ ไม่บีบบังคับ ไม่นำเสนอ การปฏิรูปการเมืองก็คือการเล่นละคร

อ.ธิดา ได้กล่าวสรุปว่า "ถ้าต้องการให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดี ไม่ลงสู่กับดักหายนะ ไม่มีทางอื่นนอกจากประชาชนต้องมาช่วยกัน มีส่วนร่วม ทั้งในการนำเสนอ ทั้งในการตรวจสอบ และในการที่กดดัน เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศนี้เป็นจริง"