รัฐสภาผ่านร่างแก้ รธน.วาระ 3 ที่มา ส.ว.แล้ว "ขุนค้อน"เชื่อศาล รธน.ยืนตามคำวินิจฉัยเดิมปม ม.154

มติชน 28 กันยายน 2556


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 กันยายน ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในการลงมติ วาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ว่า กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น กรณีดังกล่าวสมัยที่พรรค ปชป.เป็นรัฐบาลก็ได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนั้นนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ในขณะนั้น ก็ยื่นตามมาตรา 154 (1) ต่อศาลรัฐธรรนูญ ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 154 เป็นการควบคุมตรา พ.ร.บ. เท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการแย้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีนี้ก็คงเช่นเดียวกัน ศาลคงไม่วินิจฉัยที่ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยเดิมของตนเอง ส่วนจะส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนก็จะพิจารณาว่าหากสมควรส่ง ก็จะส่ง หากไม่สมควร ก็จะไม่ส่ง ถึงอย่างไรศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยไว้แล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ว่าอาจเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่าเป็นการทำหน้าที่คนละส่วนกัน เพราะรัฐสภาก็ต้องเดินหน้าลงมติวาระ 3 ตามที่กำหนดไว้แล้ว จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้

เมื่อถามว่า เป็นห่วงบรรยากาศบ้านเมืองในขณะนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็น 2 สัปดาห์ก่อนตนก็คงเป็นห่วง แต่ขณะนี้คงไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว เพราะผู้ชุมนุมชาวสวนยางก็เบาลง ที่สวนลุมก็เบาลง ยิ่งกรณีที่พรรค ปชป.แถลงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็ง 2020 ตนก็หมดห่วงในทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น พร้อมกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง 10 คน อาทิ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม และนายต่วนอับดุลเลาะห์ ดาโอ๊ะมารียอ ส.ว.ยะลา ได้เขามอบกระเช้าผลไม้ให้แก่นายสมศักดิ์ เพื่อเป็นการให้กำลังในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาและขอให้ปฏิบัติหน้าโดยยึดหลักความถูกต้องมากกว่าความถูกใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 ต่อมา นายสมศักดิ์ได้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในวาระ 3 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง  ปรากฎว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ด้วยคะแนน 358 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 30 เสียง ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช้สิทธิลงคะแนน